วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

งามแสงเดือน

งามแสงเดือน

 
 
ท่ารำสอดสร้อยมาลา
 
 
 

ตัวอย่างการรำเพลงงามแสงเดือน

 
 


เนื้อเพลงงามแสงเดือน

                                                                                                   เนื้อร้อง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์)

                                                                                                                        ทำนอง อ. มนตรี ตราโมท

                                                                                                                        ท่ารำ สอดสร้อยมาลา – เดินย่ำเท้า



                                                        งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า     งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (2 เที่ยว)

                                            เราเล่นเพื่อสนุก                                         เปลื้องทุกข์วายระกำ

                                            ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                       เพื่อสามัคคีเอย

 

 

 

ความหมายเพลง

                งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า       - ท้องฟ้าจะงดงามเมื่อพระจันทร์ส่องแสง

                งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ           - ผู้หญิงก็งดงามหากได้รำอยู่ในวงรำ

                เราเล่นเพื่อสนุก                  - พวกเราละเล่นรำวงอย่างสนุกสนานไม่มีทุกข์

                เปลื้องทุกข์วายระกำ             - ละทิ้งความทุกข์ความไม่สบายใจออกไป

                ขอให้เล่นฟ้อนรำเพื่อสามัคคีเอย     - การรำวงนี้ก็เพื่อให้เกิดความสามัคคี

 

การฝึกหัดให้จังหวะในการเดินเข้ากับจังหวะเพลง


                เริ่มต้นด้วย หญิง-ชาย จับคู่กันยืนเป็นวงกลมหันด้านซ้ายเข้าในวง หญิงยืนห่างจากชายประมาณ 1 ช่วงแขนแต่ละคู่ห่างกันประมาณ 2 ช่วงแขน ส่วนจังหวะเท้าให้ย่ำเท้าซ้าย – ขวา สลับกัน ค่อย ๆ ย่ำเท้าเคลื่อนไปตามวง การรำเท้าแรกนั้นให้กำหนดตามมือด้านที่จีบของท่ารำ เพื่อให้จำได้แม่นยำ เช่น ท่าสอดสร้อยมาลา

                จากแม่ท่านั้น จะต้องจีบหงายที่ชายพกด้วยมือซ้าย ก้าวเท้าซ้ายเอียงศีรษะทางซ้าย ส่วนมือขวาตั้งวงบน ดังนั้น ก้าวแรกของท่ารำวงเพลงนี้ จึงควรก้าวเท้าซ้ายเป็นจังหวะแรก เพราะเริ่มต้นด้วยการจีบมือซ้าย


การฝึกจังหวะเท้า

ฉิ่ง - ก้าวเท้าซ้ายตรงกับคำว่า “งาม”

ฉับ - ก้าวเท้าขวาตรงกับคำว่า “เดือน”


                ดนตรีจะนำเพลงงามแสงเดือนไป 1 วรรค   ให้ฝ่ายหญิงหันศีรษะมาทางด้านซ้าย   เข้าหาฝ่ายชายแล้วทำความเคารพด้วย การไหว้ จะเป็นไหว้ทั้งชายและหญิง หรือจะให้ฝ่ายหญิงไหว้ ฝ่ายชายโค้งก็ได้ เมื่อทำความเคารพแล้วตั้งท่านิ่งไว้ คือ มือซ้ายจีบหงายที่บริเวณชายพก มือขวาตั้งวงศีรษะเอียงไปทางด้านจีบ ส่วนจังหวะเท้านั้นเพียงแค่ย่ำเท้าซ้าย – ขวาสลับกัน ก้าวแรกของท่ารำเพลงนี้ควรเป็นก้าวซ้ายก่อนในจังหวะแรก เพราะเราเริ่มด้วยการจีบมือ

 


อธิบายท่ารำ

    งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า

            เริ่มต้นด้วยมือซ้ายจีบหงายที่ชายพก มือขวาตั้งวงศีรษะเอียงทางซ้าย ค่อย ๆ สอดมือซ้ายออกไปแบหงายงอด้านข้าง มือขวาเดินลงมาอยู่ระดับวงกลาง  เมื่อมาถึงคำว่า “หล้า” ให้ปล่อยจีบซ้าย (อย่าเพิ่งปล่อยจีบก่อน)

 

    งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ

                            ตรงคือว่า “งาม” ให้มือขวาที่ตั้งวงกลางอยู่นั้นเปลี่ยนเป็นจีบคว่ำทันที แล้วสอดมือซ้ายยกขึ้นค่อยๆ พลิกเป็นตั้งวง

ให้พร้อมกับมือของจีบหงาย ศีรษะเอียงทางขวาตรงคำว่า “วงรำ”


         เราเล่นเพื่อสนุก

                            เมื่อถึงคำว่า “เราเล่น” ให้รีบเดินมือผลัดจีบ เปลี่ยนเป็นจีบคว่ำมือขวา มือซ้ายแบหงายปลายนิ้วตกไว้ เมื่อถึงคำว่า         “เพื่อสนุก” ก็สอดมือขวามาจีบหงายที่ชายพก มือซ้ายยกขึ้นเป็นวง ศีรษะเอียงทางขวา เท้าย่ำตามจังหวะฉิ่ง



    เปลื้องทุกข์วายระกำ

                            ย่ำเท้าโดยไม่เปลี่ยนท่า


        ขอให้เล่นฟ้อนรำ

                            เมื่อถึงคำว่า “ขอให้” ก็รีบเดินมือ ผลัดจีบ เปลี่ยนเป็นจีบคว่ำมือซ้าย มือขวาแบหงายปลายนิ้วตก และเมื่อถึงคำว่า      “เล่นฟ้อนรำ” ก็สอดมือซ้ายมาจีบหงายไว้ที่ชายพก มือขวายกขึ้นเป็นวง ศีรษะเอียงทางขวา เท้าย่ำตามจังหวะ


        เพื่อสามัคคีเอย

                            ย่ำเท้าโดยไม่เปลี่ยนท่า


           เมื่อปฏิบัติมือและเท้าสัมพันธ์กันดีแล้ว ก็จะเปลี่ยนลีลาการรำให้สวยงามยิ่งขึ้น ดังนี้ ตรงคำว่า “ เราเล่นเพื่อสนุก”

ให้ฝ่ายหญิงหมุนตัวด้านซ้าย แล้วถอยห่างจากชายออกไปนอกวง (จะมองเห็นเป็น 2 วงซ้อน โดยชายอยู่วงใน หญิงอยู่วงนอก)

ทั้งคู่เปลี่ยนมือจีบมาเป็นจีบทางขวา ตั้งวงซ้าย ต่างคนต่างเดินไปแทนที่กัน โดยฝ่ายหญิงจะเดินเข้าสู่วงใน ฝ่ายชายจะเดินออกสู่

วงนอก เมื่อเดินถึงที่  จะพอดีกับเพลงที่ว่า  “เปลื้องทุกข์วายระกำ ขอให้เล่นฟ้อนรำ” ให้ทั้งคู่กลับหลังหันทางด้านขวาของตนเอง

จึงค่อยผลัดจีบเป็นจีบมือซ้ายที่ชายพก มือขวา ตั้งวง แล้วทั้งคู่จึงเดินควงกันกลับเข้าที่เดิม




ข้อควรจำ

            แม้จะเปลี่ยนมือจากช้าไปเร็ว หรือจะรำควงกันจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็ตาม จังหวะเท้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

คงย่ำเท้าตามจังหวะฉิ่งไปตลอด จะหยุดย่ำเท้าเพื่อเปลี่ยนท่าไม่ได้ ถ้าผู้รำปฏิบัติท่ารำได้อย่างถูกต้องแล้ว จะเกิดความชำนาญ

จะทำให้การรำงามพร้อมทั้งลีลาการรำถูกต้องตามจังหวะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น