วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบำ

ระบำ

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า การฟ้อนรำเป็นชุด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การฟ้อนรำมุ่งหมายเพียงเพื่อความงดงามของศิลปะการรำ และการรื่นเริงบันเทิงใจไม่แสดงเป็นเรื่องราว ประกอบด้วยผู้แสดงจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงาม ความพร้อมเพรียง การแปรแถวในขณะแสดง ประกอบกับการแต่งกายที่สวยงาม และเพลงดนตรีที่ไพเราะน่าฟัง

ระบำ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ ระบำมาตรฐาน และ ระบำเบ็ดเตล็ด

1) ระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่มีลักษณะการแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง ตลอดจนท่ารำเพลงร้องและดนตรีได้กำหนดไว้เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะตัว ตามแบบของนาฏศิลป์ไทย ซึ่งบรมครูทางนาฏศิลป์ได้กำหนดแบบแผนกระบวนการรำ เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานแล้ว ไม่ควรแก้ไขดัดแปลงไปจากเดิม เช่น ระบำสี่บท ต่อมาได้มีผู้ประดิษฐ์ระบำเลียนแบบระบำสี่บทขึ้นอีกหลายชุด ได้แก่ ระบำย่องหงิด ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำพรหมมาสตร์ และระบำเทพบันเทิง เป็นต้น

2) ระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์คิดค้นหรือปรับปรุงขึ้นใหม่ตามความประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม ตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ หรือเป็นระบำที่ใช้ประกอบการแสดงละคร การแต่งกายจะแต่งตามรูปแบบลักษณะของการแสดงนั้นๆ เช่น ระบำนพรัตน์ ระบำกราวอาสา ระบำชุมนุมเผ่าไทย ระบำเริงอรุณ ระบำวิชนี ระบำไกรลาสสำเริง ระบำฉิ่ง ระบำโบราณคดี รำสีนวล รำโคม เป็นต้น

ระบำกฤดาภินิหาร



ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่อง เกียรติศักดิ์ไทย ในสมัยพระอนุมานราชธนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร (หลังยุคละครหลวงวิจิตรวาทการ) ประดิษฐ์ท่ารำโดยหม่อมต่วน ภัทรนาวิก และนางลมุล ยมะคุปต์ ประพันธ์บทโดย สุดา บุษปฤกษ์ ในครั้งแรกนั้นใช้วงดนตรีสากลของกรมศิลปากรบรรเลงประกอบการแสดง ภายหลังจึงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม และแยกออกเป็นชุดระบำเบ็ดเตล็ดที่นิยมใช้ในการอวยพรในงานมงคลต่างๆ เพลงที่ใช้ประกอบคือเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ครวญหา จีนถอนและจีนรัว เนื้อเพลงกล่าวยอพระเกียรติสมเด็จพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชกฤดาภินิหารอันยิ่งใหญ่ของไทย ที่พระเกียรติลือกระฉ่อนถึงเทวดาชั้นฟ้า

การแต่งกายของผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องตัวพระและตัวนาง ตัวพระสวมศิราภรณ์ชฏา ตัวนางสวมศิราภรณ์มงกุฎกษัตริย์ มีลักษณะท่ารำเป็นระบำหมู่คู่พระ-นาง ออกรำในเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ตีบทตามคำร้องเพลงครวญหา แล้วรำท่าจีนรัว โปรยดอกไม้ สามารถแสดงได้สองรูปแบบ คือ รำตามบท ร้องสี่คำกลอน
แล้วตัดไปโปรยดอกไม้ในเพลงจีนรัว ซึ่งใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาที และอีกแบบหนึ่งรำเต็มบทร้องหกคำกลอน โปรยดอกไม้ตามบทร้องและในเพลงจีนรัว ซึ่งใช้เวลาแสดงประมาณ ๖ นาที
การแสดง ใช้ผู้แสดง ๑-๒ คู่
โอกาสที่ใช้ในการแสดง ในงานพิธีมงคลและงานเบ็ดเตล็ด

บทร้อง
ปราโมทย์แสนองค์อัปสรอมรแมนแดนสวรรค์
ยินกฤดาภินิหารมหัศจรรย์เกียรติไทยลั่นลือเลื่องเรืองรูจี
ต่างเต็มตื้นชื่นชมโสมนัสโอษฐ์เอื้อนอรรถอวยพรสุนทรศรี
แจ้วจำเรียงเสียงเพลงสดุดีดนตรีรี่เรื่อยประโคมประโลมลาน
แล้วลีลาศเริงรำระบำร่ายกรกรีดกรายโปรยมาลีสีประสาน
พรมน้ำทิพย์ปรุงปนสุคนธารจักรวาลฉ่ำชื่นรื่นรมย์ครัน





ระบำดาวดึงส์



ระบำดาวดึงส์เป็นระบำมาตรฐานที่สร้างสรรค์รูปแบบท่ารำใหม่ แตกต่างจากระบำมาตรฐานแบบดั้งเดิม เช่น ระบำสี่บทที่ท่ารำตีบทความหมายของคำร้องระบำดาวดึงส์เป็นระบำประกอบในการแสดงละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี ซึ่งจัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ วังบ้านหม้อ ปลายสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พรรณนาถึงความงดงามโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และทิพยสมบัติของพระอินทร์ หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ได้ปรับปรุงท่ารำเลียนแบบท่าเต้นในพิธีแขกเจ้าเซ็น ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงประดิษฐ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงชุดนี้ ใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงปรับปรุงแตกต่างจากวงปี่พาทย์เครื่องคู่และเครื่องใหญ่ คือ ลดเครื่องดนตรีบางชิ้นให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่แกร่งกร้าวเสียงแหลมสูง เครื่องบรรเลง ได้แก่ ระนาดเอกตีด้วยไม้นวม ระนามทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ตะโพน กลองตะโพนคู่ (ถอดเท้าตั้งขึ้นตีแทนกลองทัด) ฉิ่ง ฆ้องหุ่ยเจ็ดลูก (๗ เสียงเรียงลำดับ) กลองแขก ทำนองเพลงประกอบลีลาท่ารำ คือ เพลงเหาะ เพลงตะเขิ่ง เพลงเจ้าเซ็น เพลงรัว

ในส่วนของการแต่งกาย ตัวพระเทพบุตร แต่งกายยืนเครื่องเต็มตัว นุ่งผ้ายกตีปีกจีบโจงไว้หางหงส์ทับบนสนับเพลาเชิงงอน สวมเสื้อรัดรูปปักดิ้น
เลื่อมลายกนกแขนสั้นเหนือศอก ติดกนกปลายแขน สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิราภรณ์ชฎายอดชัย ตัวนางอัปสร แต่งกายยืนเครื่องนางเต็มตัว นุ่งผ้ายกจีบหน้านางทิ้งชายพก สวมเสื้อในนางรัดรูป ห่มผ้าห่มนางเต็มผืนปักดิ้นเลื่อมลายกนก สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิราภรณ์มงกุฎกษัตริย์ ลีลาท่ารำจะผสมผสานนาฏศิลป์ไทยกับท่าเต้นทุบอกในพิธีแขกเจ้าเซ็น ท่ารำเข้าคู่พระ-นาง ในรูปแบบรำหมู่ เพลงเหาะ รัว ใช้ แม่ท่านาฏศิลป์ไทย ต่อจากนั้นเป็นการผสมผสานท่ารำไทยกับท่าเต้นในพิธีเจ้าเซ็น ซึ่งดูสง่างาม
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที

บทร้อง
ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร เป็นที่อยู่สำราญฤทัยหรรษ์
สารพัดงามจริงทุกสิ่งอัน สารพันอุดมสมใจปอง
เทพบุตรผุดพรรณโฉมยง งามทรงอาภรณ์ไม่มีหมอง
นางอัปสรงอนสงวนนวลละออง งามทรงเครื่องทองและเพชรนิล
สมเด็จพระอัมรินทร์ปิ่นมงกุฎ ทรงวชิราวุธธนูศิลป์
รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ อสุรินทร์อรีไม่บีฑา (ซ้ำ)
อันอินทรปราสาททั้งสาม (ซ้ำ) ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา
สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน
ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยเฉื่อยชด (ซ้ำ) บราลีที่ลดมุขกระสัน (ซ้ำ)
มุขเด็ดทองคาดกนกพัน บุษบกสุวรรณชามพูนุท (ซ้ำ)
ราชยานเวชยันตร์รถแก้ว (ซ้ำ) เพริศแพร้วกำกงอลงกต (ซ้ำ)
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด (ซ้ำ) เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย (ซ้ำ)
ดุมพราววาววับประดับพลอย แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสิงธพเทพบุตร ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
มาตลีอาจขี่ขับประดัง ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา





ระบำเทพบันเทิง



ระบำเทพบันเทิงเป็นระบำที่นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ แต่งบทร้องและบรรจุทำนองเพลงประกอบการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ตอนลมหอบ กล่าวถึงเทพบุตรนางฟ้าฟ้อนรำบำเรอองค์ปะตาระกาหลา กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำ คือ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร นางมัลลิ คงประภัศร์ และ นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (หม่อมครูต่วน) โดยเป็นการรำเข้าคู่พระ-นาง ตีบทตามคำร้อง แปรแถวโดยผู้แสดงแต่งยืนเครื่องเทพบุตร-นางฟ้า
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๙ นาที

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้าหรือเครื่องคูหรือเครื่องใหญ่ ทำนองเพลงแขกเชิญเจ้า เพลงยะวาเร็ว เข้าปี่พาทย์

คําร้อง
เหล่าข้าพระบาท ขอวโรกาส เทวฤทธิ์อดิศร
ขอฟ้อนกรายรำร่ายถวายกร บำเรอปิ่นอมรปะตาระกาหลา
ผู้ทรงพระคุณยิ่งบุญบารมี เพื่อเทวบดี สุขสมรมยา
เถลิงเทพพระสิมา พิมานสำราญฤทัย
สุรศักดิ์ประสิทธิ์ สุรฤทธิ์กำจาย
ทรงสราญพระกาย ทรงสบายพระทัย
ถวายอินทรีย์ต่างมาลีบูชา ถวายดวงตาต่างปทีปจำรัสไข
ถ้อยคำอำไพต่างธูปหอมจุณจันทน์ ถวายดวงจิตอัญชลิตวรคุณ
ที่ทรงการุณย์ผองข้ามาแต่บรรพ์ ถวายชีวันรองบาทจนบรรลัย
สุรศักดิ์ประสิทธิ์ สุรฤทธิ์กำจาย
ทรงสราญพระกาย ทรงสบายพระทัย
ร่วมกันร้องทำนองลำนำ มาฟ้อนมารำให้รื่นเริงใจ (ซ้ำ)
ให้พร้อมให้เพรียงเรียงประดับ เปลี่ยนสับท่วงทีหนีไล่
เวียนไปได้จังหวะกัน อัปสรฟ้อนส่ายกรีดกรายออกมา
ฝ่ายฝูงเทวาทำท่ากางกั้น (ซ้ำ) เข้าทอดสนิทไม่บิดไม่ผัน (ซ้ำ)
ผูกพัน ผูกพันสุขเกษม ปลื้มเปรมปลื้มเปรมปรีดา




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น