วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

.....ประเพณีแห่พระแข่งเรือเมืองหลังสวน.....

.....ประเพณีแห่พระแข่งเรือเมืองหลังสวน.....








                   การดำเนินชีวิตของคนไทย  มีความถูกพันกับแม่น้ำมาเนิ่นนาน  การปลูกสร้างบ้านเรือนหรือสร้างชุมชน  ตั้งแต่สมัยโบราณกาลของคนไทย  จะเลือกทำเลที่ติดแม่น้ำลำคลองเป็นสำคัญเพื่อที่จะได้อาศัยในการเพาะปลูก  ดื่มกิน  เมืองหลังสวนมีแม่น้ำไหลผ่าน  เปรียบเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงเมือง   สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของแม่น้ำ  คือ  การใช้สัญจรไปมาและการค้าขายพาหนะที่ใช้ติดต่อระหว่างกัน ก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา  นั่นคือ เรือ ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่   การคมนาคมขนส่ง ขนบธรรมเนียมประเพณี   และความสนุกสนานแก่คนไทยเป็นอย่างมาก

                   ในสมัยก่อน   เมื่อถึงฤดูน้ำหลากว่างเว้นจากการเพาะปลูกปักดำทำนาราวเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม  โดยเฉพาะช่วงเทศกาลทอดกฐิน   คนหนุ่มสาว  คนเฒ่าคนแก่ตามหมู่บ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน  ตกแต่งเรือตั้งองค์กฐินไปทอดตามวัดอารามต่าง ๆ ที่ตนศรัทธา  ซึ่งวัดส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทั่วไป

                   ขบวนเรือทอดกฐินจะมีเรือลำใหญ่  ส่วนใหญ่เป็นเรือมาด  ที่ตกแต่งมีธงทิวอย่างสวยงามเป็นเรือที่ตั้งองค์กฐิน  นอกจากนั้นจะมีเรือขนาดรองลงมา  พายนำและพายติดตาม  แห่แหนองค์กฐินไปตามคุ้งน้ำ  มีพิณพาทย์ลาดตะโพนในเรือองค์กฐิน  บรรเลงอย่างสนุกสนาน  เสียงดังลั่นไปทั่วคุ้งน้ำ

                   เมื่อทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็จะมีการเล่นเรือเพลงและลงท้ายด้วยการพายเรือแข่งกันและการแข่งเรือยาว  เริ่มจากท้องถิ่นมาเนิ่นนาน  ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด  แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  มีการแข่งขันเรือกันในเดือน 11  และถือเป็นพระราชพิธีประจำเดือน  เพราะในช่วงเดือน 11  เป็นช่วงที่มีน้ำนองเปี่ยมสองฝั่งเหมาะแก่การแข่งขันเรือเป็นอย่างยิ่ง  ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้มีการแข่งขันเรือของทหาร  เพื่อต้องการฝึกซ้อมฝีพาย  เมื่อเรือลำใดเข้าเส้นชัยก่อน  ก็จะพระราชทานรางวัลให้เป็นกำลังใจ  เรือยาวที่ใช้แข่งขันในปัจจุบัน  ก็เป็นเรือที่ได้พัฒนามาจากเรือที่ใช้ทำสงครามในสมัยก่อนนั่นเอง

                   ทุกวันนี้  ประเพณีการแข่งเรือจะมีเกือบทุกภาคของประเทศไทย  โดยเฉพาะเรือที่ใช้แข่งขันจะเป็นเรือขาวเกือบทั้งหมด  สนามแข่งขันที่มีชื่อเสียง  ทางภาคเหนือ ได้แก่  น่าน  พิจิตร  พิษณุโลก  นครสวรรค์   ทางภาคกลางได้แก่  ชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  สระบุรี  พระนครศรีอยุธยา  กรุงเทพฯ  นครปฐม  ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่  บุรีรัมย์  อุบลราชธานี   ทางภาคใต้ได้แก่  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี   นราธิวาส   ทางภาคตะวันออกได้แก่  ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา

                   มีผู้สันทัดกรณีบางท่านได้สันนิษฐานว่า   การแข่งเรือยาวของเมืองหลังสวน  คงจะเกิดขึ้นราว  พ.ศ. 2387    ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในช่วงนั้น เมืองหลังสวนมีวัดเกิดขึ้นหลายวัด การแห่พระหรือลากพระ ก็คงเกิดขึ้น และมีการแข่งขันเรือยาวกันแล้ว

                   ประเพณีการแข่งเรือยาวของหลังสวน  เริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี   เพราะในวันออกพรรษานี้  ชาวพุทธจะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดจากความเชื่อที่ว่า  ในวันอันสมมตินี้  เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เสด็จลงมาจากดาวดึงส์เพื่อโปรดสัตว์โลก  ซึ่งในสมัยนั้นก็คงใช้เรือเป็นพาหนะ  เสด็จจากการตักบาตรแล้ว  ก็สนุกสนานด้วยการพายเรือแข่งขันกัน

                   อย่างไรก็ตาม  ก็พอจะหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้ว่า   การแข่งขันเรือยาวของหลังสวน  ได้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและสืบเนื่องมาเป็นเวลาร้อยปีเศษ  กล่าวคือเมื่อครั้ง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เสด็จประพาสทางชลมารคถึงเมืองหลังสวน   ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 9  สิงหาคม  ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2432)   พระยาจรูญราชโภรากร  (คอซิมเต็ก    ระนอง)   เจ้าเมืองหลังสวนในขณะนั้น  ได้จัดขบวนเรือรับเสด็จจากปากอ่าวไทย  เพื่อนำเรือกลไฟพระที่นั่งทอนิครอฟต์  มาตามลำน้ำหลังสวน  และเสด็จประทับที่ตำบลบางขันเงิน   หนึ่งในขบวนเรือที่รับเสด็จในคราวนั้น คือ  เรือมะเขือยำ  สังกัดวัดดอนชัย   ซึ่งเป็นเรือยาวที่ใช้แข่งขัน   และครองความเป็นเลิศอยู่เสมอ ๆ  ในสมัยนั้น  (ปัจจุบันเรือลำนี้ยังอยู่ในสภาพดี  เก็บรักษาอย่างดี  ไม่ได้ส่งเข้าแข่งขันแล้ว  แต่ใช้เป็นเรือเกียรติยศ นำขบวนในพิธีเปิดการแข่งขันประจำปีทุกปี)

1 ความคิดเห็น:

  1. “หลังสวน เมืองผลไม้ พายเรือแข่ง แหล่งทุเรียน สวนสมเด็จ” คำขวัญอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร “หลังสวน” เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง ประวัติตั้งเมือง สมัยเริ่มแรกไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า บริเวณที่ตั้งเมืองหลังสวนเดิมนั้น มีที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผล จึงมีประชาชนมาอาศัยอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชน และขยายเป็นเมือง หลังสวนมีแม่น้ำไหลผ่านเปรียบเหมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงเมือง และใช้เป็นเส้นทางสัญจรในอดีต โดยมีเรือ ที่เป็นพาหนะที่เกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ของมนุษย์ ซึ่งนับว่า เรือ มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ขนบธรรมเนียมประเพณี และความสนุกสนานแก่คนไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของคำหนึ่งในคำขวัญของอำเภอหลังสวน คือ “พายเรือแข่ง” แต่ไม่ใช้แข่งเรือพายธรรมดา ที่หลังสวน มีประเพณี “ขึ้นโขนชิงธง” หนึ่งเดียวในโลก ที่สืบทอดกันมา 170 ปีแล้ว โดยมีโล่ และถ้วยพระราชทานเป็นรางวัล และเป็นเกียรติแก่ผู้มีชัย

    ตอบลบ