วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่อง ละครไทย

เรื่อง ละครไทย

......................................................
 


                ละคร หมายถึง  การแสดงประเภทหนึ่งซึ่งแสดงเรื่องราวความเป็นไปของชีวิตที่ปรากฏในวรรณกรรม  มีศิลปะการแสดงและดนตรีเป็นสื่อสำคัญ

                ละคร  ตามความหมายนี้หมายถึงละครรำ เพราะว่าเป็นการแสดงออกทางความคิดโดยมุ่งเน้นถึงลักษณะท่าทางอิริยาบถในขณะเคลื่อนไหวตัวในระหว่างการรำ 

          ละครไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น  4  ประเภท ดังนี้

1. ละครรำ คือละครที่ใช้ศิลปะการร่ายรำในการดำเนินเรื่อง  แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

                1.1  ละครรำแบบมาตรฐานดั้งเดิม มี 3 ชนิด คือ

                                -  ละครชาตรี

                                -  ละครนอก

                                -  ละครใน

                1.2  ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ มี 3 ชนิด คือ

                                -  ละครดึกดำบรรพ์

                                -  ละครพันทาง

                                -  ละครเสภา

2. ละครร้อง  คือละครที่ใช้ศิลปะการร้องดำเนินเรื่อง เป็นละครแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก  แบ่งได้เป็น  2  ประเภท คือ

          2.1  ละครร้องล้วน ๆ

                2.2  ละครร้องสลับพูด

3. ละครพูด  คือละครที่ใช้ศิลปะการพูดในการดำเนินเรื่อง  เป็นละครแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  แบ่งได้เป็น 2  ประเภท คือ

                3.1  ละครพูดล้วน ๆ

                3.2  ละครพูดสลับรำ

4. ละครสังคีต  เป็นละครที่ใช้ศิลปะการพูดและการร้องดำเนินเรื่องเสมอกัน

 

                นอกจากนั้นยังมีการแสดงที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัย รัชกาลที่ 5 อีก 2 อย่างคือ ลิเก และหุ่น ( หุ่นเล็ก , หุ่นกระบอก , หุ่นละครเล็ก)

 

                ละครชาตรี

          ละครชาตรี  เป็นรูปแบบละครรำที่เก่าแก่ของไทยที่ได้รับการฟื้นฟูจนถึงทุกวันนี้  เรื่องของละครชาตรีมีกำเนิดมาจากเรื่องมโนราห์

                การแสดงโนราเป็นที่นิยมอยู่ทางภาคใต้  ส่วนละครชาตรีมีความนิยมทางภาคกลาง  ซึ่งมักหาดูได้ในงานแก้บน

                แบบแผนการแสดงโนราชาตรีคล้ายคลึงกับละครของทางมลายูที่เรียกกันว่า มะโย่ง แต่ต่างกันที่ภาษาและทำนองดนตรี

          ละครโนราชาตรีอาจจะมีผู้นำมาแสดงในภาคกลางตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ที่มีหลักฐานแน่ชัด คือในสมัยที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบก๊กเจ้านครครั้งหนึ่ง และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  อีก 2 ครั้ง  ในครั้งหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ชาวภาคใต้ที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพ  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลสนามกระบือ   ได้จัดตั้งคณะละครแสดงกันแพร่หลาย

          ละครชาตรี  แต่เดิมผู้แสดงเป็นชายล้วนมีเพียง 3 คนเท่านั้น  ได้แก่  นายโรง  ซึ่งแสดงเป็นตัวพระ อีก2 คน คือ ตัวนาง และตัวจำอวด  ซึ่งแสดงตลก และเป็นตัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น ฤาษี  พราน  สัตว์   แต่เดิมนิยมแสดงเพียงไม่กี่เรื่อง  เช่น เรื่องมโนราห์  นายโรงจะแสดงเป็นตัวพระสุธน  ตัวนางเป็นมโนราห์  และตัวจำอวดเป็นพรานบุญ  และอีกเรื่องหนึ่งที่นิยมแสดงไม่แพ้กัน คือ เรื่องพระรถเสน  นายโรงเป็นตัวพระรถ  ตัวนางเป็น เมรี  และตัวจำอวดเป็น ม้าพระรถเสน

          ในสมัยหลังละครชาตรี เพิ่มผู้แสดงให้มากขึ้นและใช้ผู้หญิงร่วมแสดงด้วย

 

                ละครนอก

                ละครนอก  มีการดำเนินท้องเรื่องที่รวดเร็ว  กระชับ  สนุก   การแสดงมีชีวิตชีวา  ส่วนมากใช้ผู้ชายแสดง  และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  เข้าใจว่าละครนอกมีวิวัฒนาการมาจากละครชาตรี เพราะมุ่งที่จะให้คนดูเกิดความขบขัน  ผู้แสดงละครนอกแต่เดิมมีผู้แสดงอยู่เพียง 2-3 คน  เช่นเดียวกับละครชาตรี  ละครนอกไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับยศศักดิ์และฐานะของตัวละครแต่อย่างใด  ตัวละครที่เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ก็สามารถโต้ตอบตลกกับเสนากำนัลหรือไพร่พลได้  ละครนอกที่นิยมเล่นได้แก่เรื่อง สังข์ทอง  ไกรทอง  สุวรรณหงส์  พระอภัยมณี  เป็นต้น

 

                ละครใน

                จากรูปแบบของละครนอกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวละครในวัง  ผู้แสดงหญิงล้วน  แบบอย่างละครในนี้ได้สงวนไว้เฉพาะในวังหลวงเท่านั้น  เพราะว่าผู้ชายนั้นจะถูกห้ามให้เข้าไปในพระราชฐานชั้นใน  บริเวณตำหนักของพระมหากษัตริย์  ซึ่งจะประกอบไปด้วยดนตรีที่มีเสียงไพเราะอ่อนหวาน  ใช้บทร้อยกรองได้อย่างวิจิตรบรรจง  ทั้งดนตรีที่นำมาผสมผสานอย่างไพเราะ  รวมทั้งจะมีท่าทางสง่างาม  ไม่มีการสอดแทรกหยาบโลนหรือตลก  และอนุรักษ์วัฒนธรรมและคุณลักษณะที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมา

                เรื่องที่ใช้แสดงละครในนั้นมีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่  รามเกียรติ์  อุณรุท  อิเหนา  และดาหลัง  เข้าใจกันว่าละครในสมัยเริ่มแรกเล่นกันแต่เรื่องรามเกียรติ์ และอุณรุทเท่านั้น  เพราะถือว่าเป็นเรื่องเกียวกับนารายณ์อวตาร  ใช้สำหรับเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์  ผู้อื่นจึงไม่สามารถนำไปเล่นได้  ต่อมาละครในไม่ค่อยได้เล่น 2 เรื่องนี้  เหลือแต่โขนและหนังใหญ่ที่เล่นเรื่องรามเกียรติ์  ส่วนเรื่องดาหลังไม่ค่อยนิยมแสดงนัก  เพราะชื่อตัวละครเรียกยาก  จำยาก  เนื้อเรื่องก็สับสนไม่สนุกสนานเท่าเรื่องอิเหนา  ต่อมาพวกละครนอกและลิเกจึงนำไปแสดงบ้าง  ดังนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์  นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นใหม่  ละครในจึงนิยมแสดงอยู่เพียงเรื่องเดียวนาน ๆ จึงจะมีผู้จัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุทสักครั้งหนึ่ง

                บทละครในเป็นกลอนบทละครที่ผู้แต่งใช้ความประณีตบรรจงในการเลือกเฟ้นถ้อยคำมาร้อยกรองอย่างไพเราะและมีความหมายดี  เพื่ออวดฝีมือในการแต่งแต่งด้วย  ทั้งนี้เนื่องจากละครในเล่นกันอยู่ไม่กี่ตอน  คนดูมักรู้เรื่องดีอยู่แล้ว  ผู้แต่งจึงมุ่งพรรณนาเนื้อความในรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน  ดังจะเห็นได้จากบทชมธรรมชาติ  ชมพาหนะ  ชมเครื่องแต่งตัว  บทพรรณนาความรู้สึก  ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง  บทละครในที่แต่งได้ดีเยี่ยมได้แก่เรื่องนามเกียรติ์และอิเหนา  ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                การแสดงละครในมุ่งที่ความประณีตสวยงามเป็นหลัก  ทั้งศิลปะการรำที่มีลีลาท่าทางงดงาม  นุ่มนวล  เครื่องแต่งกายสวยประณีต  ดนตรีและเพลงที่ไพเราะ  ผู้ชมละครในไม่มุ่งความสนุกสนานตื่นเต้นเหมือนดูละครนอก  แต่จะมุ่งดูศิลปะการร่ายรำ  ลีลาท่าทางที่ประณีตงดงามและเพลงที่ไพเราะมากกว่าละครในที่นิยมกันมากที่สุด คือ อิเหนา

 

                ละครดึกดำบรรพ์

                ละครดึกดำบรรพ์ เป็นการแสดงละครแบบหนึ่งในประเภทละครรำเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5เนื่องมาจากในสมัยรัชกาลที่ 5  มีเจ้านายชาวต่างชาติเข้าเข้าเฝ้าอยู่หลายครั้ง จึงโปรดให้มีการละเล่นให้แขกบ้านแขกเมืองได้รับชม  โดยเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร) ได้คิดการแสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตโดยเนื้อเรื่องตัดตอนมาจากวรรณคดีไทย  โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงเลือกเพลงและอำนวยการซ้อม  จึงถือว่าการแสดงในครั้งนั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของละครดึกดำบรรพ์   ต่อมาภายหลังเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ได้มีโอกาสชมละครโอเปร่า จึงเกิดความชอบใจและนำปรับปรุงให้เข้ากับละครดึกดำบรรพ์ของไทย  ละครดึกดำบรรพ์ที่นิยมเล่นได้แก่เรื่อง สังข์ทอง  คาวี ฯลฯ

                การแสดงละครดึกดำบรรพ์แสดงในโรงปิดขนาดเล็ก  ดนตรี ประกอบการแสดง   ใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ดัดแปลงมาจากวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่  ประกอบด้วย  ระนาดเอกไม้นวม  ระนาดทุ้ม(ไม้)  ระนาดเหล็กทุ้ม   ฆ้องวงใหญ่  ฆ้องหุ่ย  ขลุ่ยเพียงออ  ขลุ่ยอู้  ซออู้  ตะโพน  กลองตะโพน  กลองแขก  และฉิ่ง

 

          ละครพันทาง

                ละครพันทาง หมายถึงละครแบบผสม  คือ  การนำเอาลีลาท่าทีของชนต่างชาติเข้ามาปรับปรุงกับท่ารำแบบไทย ๆ  การแสดงละครชนิดนี้แต่เดิมเป็นการริเริ่มของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  เป็นผู้คิดค้นนำเอาเรื่องของพงศาวดารของชาติต่าง ๆ มาแต่งเป็นบทละครสำหรับแสดง

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  ได้กำหนดชื่อนี้และทรงปรับปรุงให้มีฉากประกอบการแสดงเพื่อให้แลเห็นสมจริงสมเนื้อร้องซึ่งยังปรับปรุงลีลาท่ารำของชนชาติกับท่าทางอิริยาบถของสามัญชนเข้ามาผสมกัน  เพลงร้องประกอบการแสดงนั้นส่วนมากต้นเสียงกับลูกคู่เป็นผู้ร้อง  แต่ก็มีบ้างที่กำหนดให้ตัวละครเป็นผู้ร้อง  ปี่พาทย์ประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม  บทที่ใช้มักเป็นบทที่กล่าวถึงตัวละครที่มีเชื้อชาติต่าง ๆ  เช่น พม่า มอญ  จีน  ลาว  บทที่นิยมนำมาเล่นในปัจจุบันมีเรื่องพระลอและราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา

                ลักษณะการแต่งตัวของละครพันทางจะแต่งตามเชื้อชาติ   และความเป็นจริงของตัวละครในบทนั้น ๆ

 

                ละครเสภา

                ละครเสภา คือละครที่มีลักษณะการแสดงคล้ายละครนอก  รวมทั้งเพลงร้องนำ  ทำนองดนตรี  และการแต่งกายของตัวละคร  แต่มีข้อบังคับอยู่อย่างหนึ่งคือต้องมีขับเสภาแทรกอยู่ด้วยจึงจะเป็นละครเสภา

                ก่อนที่จะเกิดละครเสภาขึ้นนั้น  เข้าใจว่าจะมีการขับเสภาเป็นเรื่องราวก่อน  เรื่องที่นาขับเสภาและนิยมกันอย่างแพร่หลายคือ  เรื่องขุนช้างขุนแผน  การขับเสภาตั้งแต่โบราณนั้นไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใดประกอบ  นอกจากกรับที่ผู้ขับขยับประกอบแทรกในทำนองขับของตนเท่านั้น  ครั้นเวลาต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งทรงโปรดสดับการขับเสภาได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดวงปี่พาทย์เข้าประกอบเป็นอุปกรณ์ขับเสภา  โดยให้แทรกเพลงร้องส่งให้ปี่พาทย์รับและบรรเลงเพลงหน้าพาทย์เหมือนอย่างการแสดงละครนอก  ตอนใดดำเนินเรื่องก็ขับเสภา  ตอนใดเป็นถ้อยคำรำพันหรือข้อความอื่นที่ควรแก่การร้องส่งก็ร้อง  จะเป็นเพลงช้าปี่หรือโอ้ปี่อย่างละครนอกก็ได้  ตอนใดเป็นบทไปมาหรือรบกัน  ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงเชิดประกอบ  ต่อมาได้วิวัฒนาการให้มีผู้แสดงออกมาแสดงตามบทเสภาและบทร้อง  ครั้งแรกก็อาจจะเป็นเพียงตอนใดตอนหนึ่ง  ครั้นต่อมาก็เลยปรับปรุงให้เป็นการแสดงทั้งหมด  และเรียกการแสดงนี้ว่า เสภา

                ละครเสภาที่นิยมเล่นกันมาก คือ ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก ,พระวัยแตกทัพ ,ขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น