วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบำดาวดึงส์

ชื่อ  ระบำดาวดึงส์

ประเภทการแสดง ระบำ (ประเภทระบำมาตรฐาน)

ประวัติที่มา

ระบำดาวดึงส์ เป็นการแสดงมาตรฐานที่เป็นฉบับไทยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้ทรงนิพนธ์บทร้องขี้ประกอบการแสดงในบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ทอง ตอนที่ ๒ ตอนตีคลี ฉากดาวดึงส์ ในฉากนี้มีพระอินทร์กับพระมเหสีประทับอยู่บนแท่น พระวิศนุกรรม และพระมาตุลี นั่งอยู่ชั้นลดสองข้าง พวกคนธรรพ์ประจำเครื่องดนตรีอยู่ด้านหน้า เหล่าเทวดานางฟ้าเข้านั่งเฝ้าสองข้าง เริ่มเปิดฉากเหล่าเทวดานางฟ้าก็จับระบำถวาย

การแสดงเรื่องนี้จัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ ริมถนนอัษฎางค์ (วังบ้านหม้อ) ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อร้องของระบำพรรณนาถึงความงดงามความโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และความมโหฬารตระการตาในทิพย์สมบัติของพระอินทร์ ตลอดจนความงดงามของเหล่าเทวดานางฟ้าในสรวงสวรรค์ หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา (หม่อมเจ้าในพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์)เป็นผู้คุม ฝึกหัดคิดท่ารำ

ต่อมาการแสดงชุดนี้ได้นำมาจัดเป็นชุดเอกเทศ จึงนำออกด้วยเพลงเหาะ และรำตามเนื้อร้องในเพลงตะเขิ่ง, เจ้าเซ็น แล้วจบท้ายด้วยเพลงรัว นับเป็นระบำชุดหนึ่งที่ได้ปรับปรุงทางดนตรี และทางรำให้ได้กะทัดรัด จนเป็นนาฏศิลป์ไทยชุดหนึ่งที่ได้ยึดถือเป็นแบบระบำแสดงความรื่นเริงบันเทิงใจ ซึ่งได้อนุรักษ์ไว้เป็นแบบแผนสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

รูปแบบ และลักษณะการแสดง

เป็นการรำของเหล่าเทวดานางฟ้า ลักษณะท่ารำที่สำคัญ คือท่ารำจะไม่มีความหมายตรงกับเนื้อร้อง แต่จะเป็นท่ารำที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกันตลอดทั้งเพลง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ท่ารำบางท่าได้ปรับปรุงเลียนแบบท่าเต้นในพิธีแขกเจ้าเซ็น ได้แก่ การใช้ท่ารำยกมือขึ้นประสานไขว้กันไว้ที่อก และขยับฝ่ามือตบอกเบา ๆ ตามจังหวะพร้อมการเคลื่อนเท้าไปด้วย กล่าวกันมาว่าท่ารำแบบนี้ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงประดิษฐ์ขึ้น     เมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยทรงเลียนแบบมาจากการเต้นทุบอกในพิธีเต้นเซ็นของชนนับถือลัทธิศาสนาอิสลาม นิกายเจ้าเซนซึ่งฝรั่งเรียกว่า Shiites โดยทรงปรับท่าทางให้ดูนุ่มนวลอ่อนช้อยไปตามหลักนาฏศิลป์ไทย 

แบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑

 รำออกในเพลงเหาะ (เป็นท่ารำที่แสดงการเดินทางเป็นรูปขบวนของเหล่าเทวดานางฟ้า กระบวนท่ารำเป็นมาตรฐานที่ใช้สืบต่อกันมา )

ขั้นตอนที่ ๒

 รำตามบทร้องในเพลงตะเขิ่ง (เนื้อร้องกล่าวถึงความงามทั่วสรรพางค์กายของเทวดานางฟ้า) เพลงเจ้าเซ็น (เนื้อร้องแสดงถึงความงดงามอลังการในวิมานที่ประทับของพระอินทร์)

ขั้นตอนที่ ๓

 รำเข้าตามทำนองเพลงรัว

ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง

ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ได้แก่เพลงเหาะ เพลงรัว เพลงตะเขิ่ง เพลงแขกเจ้าเซ็น และเพลงรัว




เครื่องแต่งกาย

ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่อง ละคร

ฝ่ายพระสวมเสื้อแขนสั้น ศิราภรณ์ชฎายอดชัย

ฝ่ายนางศิราภรณ์มงกุฏกษัตรีย์

      
   บทร้องระบำดาวดึงส์ 

- ปี่พาทย์ทำเพลงเหาะ - รัว -
-
ร้องเพลงตะเขิ่ง - 

ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร
สารพัดงามจริงทุกสิ่งอัน
เทพบุตรผุดพรรณโฉมยง
นางอัปสรงอนสงวนนวลละออง 
เป็นอยู่ที่สำราญฤทัยหรรษ์
สารพันอุดมสมใจปอง
งามทรงองค์อาภรณ์ไม่มีหมอง
งามทรงเครื่องทองและเพชรนิล
- ร้องเพลงแขกเจ้าเซ็น - 

สมเด็จพระอมรินทร์ปิ่นมงกุฎ
รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ
อันอินทรปราสามทั้งสาม
สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา
ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยเฉื่อยชด
มุขเด็จทองดาดกนกพัน
ราชยานเวชยันต์รถแก้ว
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด
รายรูปสิงอัดหยัดยัน
ดุมพราววาววับประดับพลอย
เทียมด้วยสินธพเทพบุตร
มาตลีอาจขี่ขับประดัง 
ทรงวชิราวุธธนูศิลป์
อสุรินทร์อรีไม่บีฑา
ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา
ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน
บราลีที่ลดมุขกระสัน
บุษบกสุวรรณชามพูนท
เพริศแพร้วกำกงอลงกต
เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย
แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
ทั้งสี่บริสุทธิ์ดังสีสังข์
ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา
- ปี่พาทย์ทำเพลงรัว - 

 

 หมายเหตุ

ดนตรีใช้ประการแสดงชุดนี้ ในชั้นต้นใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงปรับปรุงจากวงปี่พาทย์เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ คือ ปรับเครื่องดนตรีให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่แกร่งกร้าวเสียงสูงแหลม เครื่องบรรเลง ได้แก่ ระนาดเอกตีด้วยไม้นวม ระนาดทุ้ม ระยาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ตะโพน กลองตะโพนคู่ (ถอดเท้าตั้งขึ้น ตีแทนกลองทัด) ฉิ่ง ฆ้องหุ่ยเจ็ดลูก (๗ เสียงเรียงลำดับ) กลองแขก ต่อมาจัดแสดงเป็นชุดเอกเทศ จึงได้ใช้วงปี่พาทย์ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ให้ทำนองเสียงทุ้มนุ่มนวลเช่นเดิม ส่วนสำเนียงเสียงเพลงดนตรี และเพลงขับร้องบางตอน ก็มีสำเนียงแขกผสมผสานอยู่ด้วย จึงเรียกเพลงทำนองนี้ว่า " แขกเจ้าเซ็น " ทำนองเพลงที่ใช้ประกอบลีลาท่ารำ คือ เพลงเหาะ เพลงตะเขิ่ง เพลงเจ้าเซ้น และเพลงรัว


โอกาสที่ใช้แสดง

เริ่มต้นที่ใช้แสดงประกอบละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี ต่อมาได้จัดเป็นชุดระบำเอกเทศ จึงสามารถใช้แสดงในงานต่าง ๆ ทั่วไปได้



ข้อมูลโดย             นางปิยเนตร  เสนะเวส

                        ครูชำนาญการ โรงเรียนสนามชัยเขต

                        ค.บ.นาฏศิลป์ (เกียรตินิยมอันดับ๒)


ภาพประกอบ         ศิลปิน และพัสตราภรณ์

คณะบุคคล คณะนาฏศิลป”นาฏปิยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา
 
การรำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น