วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบำศรีวิชัย

ระบำศรีวิชัย

  
 
 
 
 

ระบำศรีวิชัยเป็นระบำโบราณคดี เกิดขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยได้รับแจ้งจากคุณประสงค์ บุญเจิม เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าท่านตนกู อับดุลราห์มาน นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ต้องการจะได้นาฏศิลป์จากประเทศไทยไปถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Raja Bersiyong ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ท่านตนกูแต่งขึ้น จึงขอให้กรมศิลปากรจัดระบำให้ ๒ ชุด คือ รำซัดชาตรี และระบำศรีวิชัย สำหรับระบำศรีวิชัยเป็นการศึกษาค้นคว้าขึ้นใหม่   โดยความคิดริเริ่มของนายธนิต   อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

     เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ มีนางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวนิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ โดยอาศัยท่าทางของนาฏศิลป์ชวามาผสมผสานเข้าด้วยกัน และมีนายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง

โดยหาแบบอย่างเครื่องดนตรี เช่น เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า จากภาพจำหลักที่พระสถูปบุโรพุทโธ ในเกาะชวา และ เลือกเครื่องดนตรีของไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกันบ้าง นำมาผสมปรับปรุงเล่นเพลงประกอบจังหวะระบำขึ้น  มีนายสนิท ดิษฐ์พันธ์ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ตามหลักฐานศิลปกรรมภาพจำหลักที่พระสถูปบุโรพุทโธ ในเกาะชวา


     ท่ารำระบำศรีวิชัยประดิษฐ์ขึ้นจากภาพจำหลักและภาพปูนปั้นสมัยศรีวิชัย ประสมกับท่ารำชวาและบาหลี สอดแทรกลีลาทางนาฏศิลป์ ลักษณะรำบางท่าคล้ายท่ารำของชวา และบาหลี เช่น การตั้งวงกันศอก ออกเป็นวงโค้ง การทำมือ การใช้คอยักคอเหมือนนาฏศิลป์ชวาและบาหลี การตั้งท่านิ่ง ท่าบิดสะโพกคล้ายท่ารำของบาหลี    

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำศรีวิชัย๑. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่ คือ พิณ ๔ สายชนิดหนึ่ง  

๒. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี  ได้แก่  ซอสามสาย 

๓. เครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ ตะโพน กลองแขก ฆ้อง ๓ ลูก ฉิ่ง กรับ ฉาบ

๔. เครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ ขลุ่ย 



เครื่องแต่งกาย
- เสื้อในนาง ตัวเสื้อใช้ผ้าต่วนเนื้อหนาสีเนื้อ เป็นเสื้อเข้ารูปไม่มีแขน ดันทรง เปิดช่วงไหล่และหลัง
- ผ้านุ่ง เป็นผ้าโสร่งบาติค เย็บเป็นจีบหน้านางเล็กๆ อยู่ตรงกลางด้านหน้า ไม่มีชายพก
- ผ้าคาดรอบสะโพก ใช้ผ้าแพรเนื้อบาง มี ๒ สี คือ สีเขียว และสีแดง
- เข็มขัด ทำด้วยโลหะชุบทอง ลายโปร่งเป็นข้อๆ ต่อกัน หัวเข็มขัดทำด้วยหนังลงรักปิดทอง ประดับพลอยสี
- ต่างหู เป็นต่างหูแบบห้อย ตรงส่วนแป้นหูทำด้วยหนังลงรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี
- สร้อยคอ เป็นห่วงๆ ต่อกัน ประดับด้วยพลอยสีแดงและสีเขียว
- สร้อยสะโพก เป็นห่วงๆ ต่อกัน ทำด้วยหนังลงรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสีเขียวหรือสีแดง
- กำไลต้นแขน มีลักษณะโปร่งตรงกลาง ด้านหน้าของกำไลเป็นรูปกลมเรียงสูงขึ้นไป ๓ ชั้น
- กำไลมือ มีลักษณะกลม ประดับด้วยพลอยสีขาว
- กำไลข้อเท้า ลักษณะกลมแต่ด้านในทึบ ตัวกำไลสลับลวดลายทำด้วยหนังลงรักปิดทอง ประดับพลอย
- โบ โบเส้นเล็กๆ สำหรับสอดใต้เข็มขัด
- ผ้าสไบ มีแผ่นโค้งเหนือไหล่ตอดสร้อยตัว ๒ เส้น ประกอบด้วยผ้าแพรบาง ความยาวเท่ากับสร้อย
ชาย ผ้าและสร้อยตัวทั้งสองข้างติดอยู่กับเครื่องประดับสีทอง ที่ใช้คล้องไว้บนไหล่เครื่องประดับนี้ ทำด้วยหนังลงรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสีเขียว สีแดง ส่วนสร้อยตัวเป็นโซ่ห่วงทองเล็กๆ ต่อให้ติดกัน ทำด้วยโลหะชุบทอง
- กะบังหน้า มีลักษณะคล้ายกะบังหน้าธรรมดา ตรงกลางด้านหน้าเป็นรูปกลมและต่อยอดกลมให้แหลมถึงตรงปลาย ประดับด้วยพลอยสีขาว
- ปิ่นปักผม ตรงโคนที่ใช้ปักผมนั้นเรียวแหลม ส่วนตอนปลายกลึงจนมีลักษณะกลม ประดิษฐ์ขึ้นด้วยไม้นำมากลึงตามลักษณะ
แล้วทาสีทองทับ

 

การแต่งกายระบำศรีวิชัย 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น