หนังตะลุง คือ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมดประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง
นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรป และเอเชีย โดยอ้างว่า มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง(หรือการละเล่นที่คล้ายกัน)เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและ ประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า ฉายานาฏกะ เรื่องมหากาพย์รามายณะ เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. 411 - 495) เมื่อพระนางวายชนม์
ในสมัยต่อมา การแสดงหนังได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และประเทศไทย คาดกันว่า หนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และประเทศแถบนี้คงจะได้แบบมาจากอินเดีย เพราะยังมีอิทธิพลของพราหมณ์หลงเหลืออยู่มาก เรายังเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย
เชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง(หนังใหญ่)อันเป็นของเก่าแก่ ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า.. ไหว้เทพยดาอา- รักษ์ทั่วทิศาดร ขอสวัสดิขอพร ลุแก่ใจดั่งใจหวัง ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง จงเรืองจำรัสทั้ง ทิศาภาคทุกพาย จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี
หนังใหญ่ แต่เดิมเรียกว่า "หนัง" นิยมเล่นกันแพร่หลายในแถบภาคกลาง ส่วนหนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้นๆว่า "หนัง" เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยว่า "ไปแลหนังโนรา" จึงสันนิษฐานว่า คำว่า "หนังตะลุง" คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ "หนังตะลุง" และ "หนังใหญ่" ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียก "หนังพัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง"
เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรกๆคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ หลักฐานที่บอกว่าหนังตะลุงคงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ คือ แม้หนังตะลุงจะไม่ได้ใช้ พิณพาทย์ ตะโพน แต่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร(บทบูชาพระอิศวร) ก็ยังมีบทที่ว่า..
อดุลโหชันชโนทั้งผอง พิณพาทย์ ตะโพน กลอง
ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู
ต่อมา หนังภาคใต้หรือหนังตะลุง รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการใน "รูปหนัง" ขึ้นมา รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น
หนังตะลุงเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด นักวิชาการสันนิษฐานว่าคงเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกลอนหนังตะลุงนิยมแต่งเป็นกลอนแปด ซึ่งในสมัยอยุธยากลอนแปดไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้านรุ่นเก่าแก่ล้วนแต่งเป็นกาพย์ทั้งสิ้น กลอนแปดเพิ่งมาเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็เมื่อหลังสุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้วนี่เอง
หนังตะลุงเกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งแรกที่จังหวัดใด ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด
ดนตรีหนังตะลุง ดนตรีหนังตะลุงในอดีต มีความเรียบง่าย ชาวพื้นบ้านในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นได้เอง โดยใช้วัสดุในพื้นบ้าน มีทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง เป็นสำคัญ ปี่ ซอ เกิดขึ้นภายหลังก็คงใช้วัสดุพื้นบ้านอยู่ดี ต่อมาวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะดนตรีไทยสากล หนังตะลุงจึงเพิ่มดนตรีใหม่ๆ เข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ไวโอลีน ออร์แกน จำนวนลูกคู่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าราดเพิ่มขึ้น ยิ่งในปัจจุบันคนยากจนไม่มีทุนรอนพอที่จะรับหนังตะลุงไปแสดงได้เลย
ดนตรีหนังตะลุง คณะหนึ่งๆ มีดังนี้ ทับ ครื่องกำกับจังหวะและท่วงทำนอง ที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่นๆ ต้องคอยฟังจังหวะยักย้ายตามเพลงทับ ที่นิยมใช้มีถึง 12 เพลง คือ เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลิงเดินยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนาดกลายออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์ และเพลงกลับวัง ผู้ชำนาญที่เรียกว่ามือทับเท่านั้นจึงสามารถตีทับครบ 12 เพลงได้ ทับหนังตะลุงมี 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงเล็กแหลม เรียกว่า "หน่วยฉับ" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยเทิง" ทับหน่วยฉับเป็นตัวยืน ทับหน่วยเทิงเป็นตัวเสริม หนังตะลุงในอดีตมีมือทับ 2 คน ไม่น้อยกว่า 60 ปีมาแล้วใช้มือทับเพียงคนเดียว ใช้ผ้าผูกไขว้กัน บางคนวางบนขา บางคนวางขาข้างหนึ่งบนทับ กดไว้ไม่ให้ทับเคลื่อนที่
โดยทั่วไป ทับนิยมทำด้วยแก่นไม้ขนุน ตบแต่งและกลึงได้ง่าย ตัดไม้ขนุนออกเป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ 60 เซนติเมตร ฟันโกลนด้วยขวานให้เป็นรูปคล้ายกลองยาว นำมาเจาะภายใน และกลึงให้ได้รูปทรงตามต้องการลงน้ำมันชักเงาด้านนอก หุ้มด้วยหนังค่าง ตรงแก้มทับร้อยไขว้ด้วยเชือกด้วยหรือไนลอน ร้อยด้วยหวาย ลอดเข้าในปลอกหวายส่วนหลัง ดึงหวายให้ตึงเสมอกัน ก่อนใช้ทุกครั้ง ต้องชุบน้ำที่หนังหุ้ม ใช้ผ้าขนาดนิ้วก้อยอัดที่แก้มทับด้านใน ทำให้หนังตึงมีเสียงไพเราะกังวาน
โหม่ง เป็นเครื่องกำกับการขับบทของนายหนัง โหม่งมี 2 ใบ ร้อยเชือกแขวนไว้ในรางไม้ ห่างกันประมาณ 2 นิ้ว เรียกว่า "รางโหม่ง" ใบที่ใช้ตีเป็นเหล็กมีเสียงแหลมเรียกว่า "หน่วยจี้" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยทุ้ม" ในอดีตใช้โหม่งราง โหม่งลูกฟากก็เรียก ทำด้วยเหล็กหนาประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาว 10 นิ้ว กว้าง 4 นิ้ว อัดส่วนกลางให้เป็นปุ่มสำหรับตี ส่วนโหม่งหล่อใช้กันมาประมาณ 60 ปี หล่อด้วยทองสำริดรูปลักษณะเหมือนฆ้องวง การซื้อโหม่งต้องเลือกซื้อที่เข้ากับเสียงของนายหนัง อาจขูดใต้ปุ่มหรือพอกชันอุงด้านใน ให้มีใยเสียงกลมกลืนกับเสียงของนายหนัง ไม้ตีโหม่งใช้อันเดียว ปลายข้างหนึ่งพันด้วยผ้าหรือสวมยาง ทำให้โหม่งมีเสียงนุ่มนวล และสึกหรอน้อยใช้ได้นาน
ฉิ่ง ใช้ตีเข้าจังหวะกับโหม่ง คนตีโหม่งทำหน้าที่ตีฉิ่งไปด้วย กรับเดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้ นำฝาฉิ่งกระแทรกกับรางโหม่งแทนเสียงกรับได้
กลองตุก มีขนาดเล็กกว่ากลองมโนห์รา รูปแบบเหมือนกัน ใช้ไม้ 2 อัน โทนใช้ตีแทนกลองตุกได้
ปี่ หนังตะลุงใช้ปี่นอกบรรเลงเพลงต่างๆ ถือเอาเพลงพัดชาเป็นเพลงครู ประกอบด้วยเพลงไทยเดิมอื่นๆ ได้แก่ เพลงสาวสมเด็จ เขมรปี่แก้ว เขมรปากท่อ ชะนีกันแสง พม่ารำขวาน พม่าแทงกบ สุดสงวน เขมรพวง ลาวดวงเดือน เพลงลูกทุ่งหลายเพลงอาศัยทำนองเพลงไทยเดิม คนเป่าปี่ก็เล่นได้ดี แม้เพลงไทยสากลที่กำลังฮิต ปี่ ซอ ก็เล่นได้ โดยไม่รู้ตัวโน๊ตเลย ซออู้ ซอด้วง ประกอบปี่ ทำให้เสียงปี่มิเล็กแหลมเกินไป ชวนฟังยิ่งขึ้น ปี่ ซอ สามารถยักย้ายจังหวะให้ช้าลงหรือเร็วขึ้นตามจังหวะทับได้อย่างกลมกลืนและลงตัว
การบรรเลงดนตรีหนังตะลุง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. บรรเลงดนตรีล้วน เช่น ยกเครื่อง ตั้งเครื่อง ลงโรง 2. บรรเลงเพลงประกอบการรับบท ขึ้นบท ถอนบท เลยบท เชิด บรรเลงประกอบการขับกลอนแปด กลอนคำกลอน กลอนลอดโหม่ง ประกอบการบรรยาย อิริยาบทของตัวละครและบรรเลงประกอบบทบาทเฉพาะอย่าง เช่น บทโศก ลักพา ร่ายมนต์
ปัจจุบันนี้ ดนตรีหนังตะลุงเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเครื่องดนตรีมากขึ้น บางท่านว่าเป็นการพัฒนาให้เข้ากับสมัยนิยม แต่เป็นการทำลายเอกลักษณ์ของดนตรีหนังตะลุงไปอย่างน่าเป็นห่วง เวลา 12.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2540 มีนายหนังระดับปริญญาโท 2 ท่าน คือ หนังนครินทร์ชาทอง จังหวัดสงขลา หนังบุญธรรม เทอดเกียรติชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์ออกทีวีช่อง 9 ยอมรับในความลืมตัวของนายหนังรุ่นใหม่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง โอกาสการแสดงน้อยลง ลูกคู่ยิ่งหายาก เพราะไม่มีคนสืบสานต่อ นี่เป็นลางบอกให้ทราบล่วงหน้า หนังตะลุงสัญลักษณ์ของภาคใต้ จะลงเอยในรูปใด
รูปหนังตะลุง รูปหนัง เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดงหนังตะลุง หนังคณะหนึ่งๆ ใช้รูปหนังประมาณ 150-200 ตัว หนังตะลุงแกะโดยนายช่างผู้ชำนาญ ในจังหวัดหนึ่งๆ ของภาคใต้ มีเพียง 2-3 คนเท่านั้น ต้นแบบได้มาจากรูปหนังใหญ่ เพราะรูปเก่าแก่ที่เหลืออยู่เท้าเหยียบนาค มีอายุกว่า 100 ปีไปแล้ว ต้นแบบสำคัญคือรูปเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังรอบวัดพระแก้ว ผสมผสานกับรูปหนังของชวา ทำให้รูปกะทัดรัดขึ้นและมือหน้าเคลื่อนไหวได้ รูปหนังจะจัดเก็บไว้ใน แผงหนัง โดยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบและตามศักดิ์ของรูป นั่นคือ เอารูปเบ็ดเตล็ดและรูปตลกที่ไม่สำคัญซึ่งเรียกรวมกันว่า รูปกาก ไว้ล่าง ถัดขึ้นมาเป็นรูปยักษ์ พระ นาง เจ้าเมือง ตัวตลกสำคัญ รูปปรายหน้าบท พระอิศวร และฤาษี ตามลำดับ
กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ ช่างภาคใต้ที่ไปพบเห็นก็ถ่ายทอดมาเป็นแบบ ช่างราม เป็นช่างแกะรูปหนังที่เก่าแก่คนหนึ่งของจังหวัดพัทลุง นอกจากแกะให้หนังภายในจังหวัดแล้ว ยังแกะให้หนังต่างจังหวัดด้วย รูปของช่างรามได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศ แม้ถึงแก่กรรมไปประมาณ 60 ปีแล้ว ชื่อเสียงของท่านทางศิลปะยังมีผู้คนกล่าวขานถึงอยู่ท่านเลียนแบบรูปภาพ เรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วเริ่มแรกก็แกะรูปที่ นำไปแสดงเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียวจึงได้ชื่อว่า"ช่างราม" ครั้งหนึ่งท่านส่งรูปหนุมานเข้าประกวด ดูผิวเผินสวยงามมาก หัวของวานร ต้องเกิดจากวงกลม แต่ของช่างรามไม่อยู่ในกรอบของวงกลม จึงไม่ได้รับรางวัล
การละเล่นพื้นเมืองที่ได้ชื่อว่า"หนัง" เพราะผู้เล่นใช้รูปหนังประกอบการเล่านิทานหลังเงา การแกะรูปหนังตัวสำคัญ เช่น ฤาษี พระอิศวร พระอินทร์ นางกินรี ยังคงเหมือนเดิม แต่รูปอื่นๆ ได้วิวัฒนาการไปตามสมัยนิยมของผู้คน เช่น ทรงผม เสื้อผ้า รูปหนังรุ่นแรกมีขนาดใหญ่รองจากรูปหนังใหญ่ฉลุลวดลายงดงามมาก เป็นรูปขาวดำ แล้วค่อยเปลี่ยนรูปให้มีขนาดเล็กลง ระบายสีให้ดูสะดุดตายิ่งขึ้น
สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เคร่งครัดทางด้านวัฒนธรรมมาก ออกเป็นรัฐนิยมหลายฉบับ ยักษ์นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวก รูปตลก รูปนาง รูปพระสวมหมวก สวมเสื้อ นุ่งกางเกง นุ่งกระโปรง รูปหนังที่ออกมาแต่งกายมีผิดวัฒนธรรม ตำรวจจะจับและถูกปรับทันที
การแกะรูปหนังสำหรับเชิดหนัง ให้เด่นทางรูปทรงและสีสัน เมื่อทาบกับจอผ้า แสงไฟช่วยให้เกิดเงาดูเด่นและสะดุดตา กรรมวิธีแกะรูปหนังแบบพื้นบ้านนำหนังวัวหนังควายมาฟอก ขูดให้เกลี้ยงเกลา หนังสัตว์ชนิดอื่นก็นิยมใช้บ้าง เช่น หนังเสือใช้แกะรูปฤาษีประจำโรงเป็นเจ้าแผง
ในปัจจุบัน รูปหนังแกะจากหนังวัวอย่างเดียว ซื้อหนังจากร้านค้าที่ฟอกสำเร็จรูปอยู่แล้ว ทั้งสามารถเลือกหนังหนา บาง ได้ตามความต้องการ นายช่างวางหนังลงบนพื้นเขียงที่มีขนาดใหญ่ ใช้เหล็กปลายแหลมวาดโครงร่าง และรายละเอียดของรูปตามที่ต้องการลงบนผืนหนัง ใช้แท่งเหล็กกลมปลายเป็นรูคม เรียกว่า "ตุ๊ดตู่" ตอกลายเป็นแนวตามที่ใช้เหล็กแหลมร่างไว้ ส่วนริมนอกหรือส่วนที่เป็นมุมเป็นเหลี่ยมและกนกลวดลายอันอ่อนช้อย ต้องใช้มีดปลายแหลมคมยาวประมาณ 2 นิ้ว มีด้ามกลมรี พอจับถนัดมือขุดแกะ ทั้งตุ๊ดตู่และมีดขุดแกะมีหลายขนาด เมื่อทำลวดลายตามที่ร่างไว้เสร็จตัดออกจากแผ่นหนัง เรียกว่ารูปหนัง รูปใดนายช่างเห็นว่าได้สัดส่วนสวยงาม นายช่างจะเก็บไว้เป็นแม่แบบ เพียงแตะระบายสีให้แตกต่างกัน รูปที่นิยมเก็บไว้เป็นแบบ มีรูปเจ้าเมือง นางเมือง รูปยักษ์ รูปวานร รูปพระเอก รูปนางเอก นำรูปแม่แบบมาทาบหนัง แกะไปตามรูปแม่แบบ ประหยัดเวลา และได้รูปสวยงาม ผลิตได้รวดเร็ว สีที่ใช้ระบายรูปหรือลงสี นิยมใช้น้ำหมึก สีย้อมผ้า สีย้อมขนม มีสีแดง เหลือง แสด ชมพู ม่วง เขียว น้ำเงิน และสีดำ ต้องผสมสีหรือละลายสีให้เข้มข้น ใช่พู่กันขนาดต่างๆ จุ่มสีระบาย ต้องระบายเหมือนกันทั้ง 2 หน้า ระวังไม่ให้สีเปื้อน สีซึมเข้าในเนื้อของหนังเร็ว ลบออกไม่ได้
ช่างแกะรูปต้องมีความรู้ประวัติที่มาของรูป ศึกษาแบบของรูป จากรูปจริง จากรูปภาพ การเปลี่ยนอิริยาบทของรูปได้อย่างถูกต้อง การเบิกตา เบิกปากรูปต้องใช้เวทมนต์ประกอบด้วย ที่สำคัญต้องมีสมาธิอย่างแน่วแน่ เศษหนัง ทำเป็นมือรูป ริมฝีปากล่าง อาวุธต่างๆ ใช้ร้อยมือให้ติดกันเป็น 3 ท่อน เพื่อให้มือเคลื่อนไหวได้
เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว ลงน้ำมันยางใส เพื่อให้รูปเกิดเงาวาววับ เดี๋ยวนี้หาน้ำมันยางไม่ได้ ใช้น้ำมันชักเงาแทน จากนั้นติดไม้ตับ ติดไม้มือ รูปที่ชักปากได้ ติดคันเบ็ดผูกเชือกชักปาก เป็นอันว่าเป็นรูปหนังที่สมบูรณ์ ช่างแกะรูปหนัง นอกจากแกะจำหน่ายแก่คณะหนังตะลุงแล้ว ยังแกะจำหน่ายทั่วไป เพื่อนำไปประดับประดา อาคารบ้านเรือน ชาวต่างชาตินิยมกันมาก แต่ต้องทำอย่างประณีต บรรจง จึงจะจำหน่ายได้ราคาดี ช่างแกะรูปหนังหาความร่ำรวยมิได้ เพียงแต่พอดำรงชีพอยู่ได้เท่านั้น
ตัวตลกหนังตะลุง ตัวตลกหนังตะลุง เป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นตัวละครที่ "ขาดไม่ได้" สำหรับการแสดงหนังตะลุง บทตลกคือเสน่ห์ หรือสีสัน ที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู เมื่อการแสดงจบลง สิ่งที่ผู้ชมจำได้ และยังเก็บไปเล่าต่อก็คือบทตลก นายหนังตะลุงคนใดที่สามารถสร้างตัวตลกได้มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ สามารถทำให้ผู้ชมนำบทตลกนั้นไปเล่าขานต่อได้ไม่รู้จบ ก็ถือว่าเป็นนายหนังที่ประสบความสำเร็จในอาชีพโดยแท้จริงเด่นกว่าพระเอก นางเอก
ในการแสดงประเภทอื่นๆ ตัวละครที่โดดเด่นและติดตาตรึงใจผู้ชมที่สุด มักจะเป็นพระเอก นางเอก แต่สำหรับหนังตะลุง ตัวละครที่จะอยู่ในความทรงจำของคนดูได้นานที่สุดก็คือตัวตลก มีเหตุผลหลายประการ ที่ทำให้บทตลกของหนังตะลุงติดตรึงใจผู้ชมได้มากกว่าบทพระเอกหรือนางเอก ดังต่อไปนี้..
ตัวตลกมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้ชม(ชาวใต้)มากกว่าตัวละคร อื่นๆ เพราะตัวตลกทุกตัวเป็นคนท้องถิ่นภาคใต้ พูดภาษาปักษ์ใต้ เชื่อกันว่าตัวตลกเหล่านี้สร้างเลียนแบบมาจากบุคลิกของบุคคลที่เคยมีชีวิต อยู่จริง
นายหนังสามารถอวดฝีปากการพากย์ของตนได้เต็มที่ ตัวตลกทุกตัวมีบุคลิกเฉพาะ และตัวตลกหลายตัวมีถิ่นกำเนิดที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นท้องถิ่นที่มีสำเนียงพูดที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากตำบลหรืออำเภอข้างเคียง นายหนังที่พากย์ได้ตรงกับบุคลิก และสำเนียงเหมือนคนท้องถิ่นนั้นที่สุด ก็จะสร้างความประทับใจให้แก่คนดูได้มาก
บทตลกคือบทที่สามารถยกประเด็นอะไรขึ้นมาพูดก็ไม่ทำให้เสีย เรื่อง จึงมักเป็นบทที่นายหนังนำเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาสังคม ธรรมะ ข้อคิดเตือนใจ เข้ามาสอดแทรกเอาไว้ หรือแม้แต่พูดล้อเลียนผู้ชมหน้าโรง
เสน่ห์ของมุกตลก ซึ่งแสดงไหวพริบปฏิภาณของนายหนังด้วย นายหนังที่เก่ง สามารถคิดมุกตลกได้เอง เพราะหากเก็บมุกตลกเก่ามาเล่น คนดูจะไม่ประทับใจ และไม่มีการ "เล่าต่อ"
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้คนดูหนังตะลุงรู้สึกผูกพันกับตัวตลกมากกว่าตัวละครอื่นๆในเรื่อง คือ ตัวตลกหนังตะลุงเหล่านี้เป็นตัวละคร "ยืน" หมายถึง ตัวตลกตัวหนึ่งเล่นได้หลายเรื่อง โดยใช้ชื่อเดิม บุคลิกเดิม นอกจากนั้น ตัวตลกหนังตะลุงยังเป็นพับลิกโดเมนอีกด้วย นายหนังทุกคณะสามารถหยิบตัวตลกตัวใดไปเล่นก็ได้ เราจึงเห็น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย มีอยู่ในเกือบทุกเรื่อง ของหนังตะลุงเกือบทุกคณะ
รูปตัวตลก รูปตัวตลกหนังตะลุง หรือที่เรียกว่า รูปกาก ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เสื้อ บางตัวนุ่งโสร่งสั้นแค่เข่า บางตัวนุ่งกางเกง และส่วนใหญ่จะมีอาวุธประจำตัว ตัวตลกทุกตัวสามารถขยับมือขยับปากได้ หนังแต่ละคณะจะมีรูปตัวตลกไม่น้อยกว่าสิบตัว แต่โดยปกติจะใช้แสดงในแต่ละเรื่องแค่ไม่เกินหกตัวเท่านั้น
ตัวตลกเอก ตัวตลกเอก หมายถึง ตัวตลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป นายหนังคณะต่างๆหลายคณะนิยมนำไปแสดง มีดังต่อไปนี้... 1. อ้ายเท่ง หนังจวนบ้านคูขุดเป็นคนสร้าง โดยเลียนแบบบุคลิกมาจากนายเท่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านอยู่บ้านคูขุด อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นคนรูปร่างผอมสูง ลำตัวท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมหยิกงอ ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง ลักษณะเด่นคือ นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย ส่วนนิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน รูปอ้ายเท่งไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก มีผ้าขาวม้าคาดพุง มีมีดอ้ายครก(มีดปลายแหลม ด้ามงอโค้ง มีฝัก)เหน็บที่สะเอว เป็นคนพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ชอบข่มขู่และล้อเลียนผู้อื่น เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย เป็นตัวตลกที่นายหนังเกือบทุกคณะนิยมนำไปแสดง
2. อ้ายหนูนุ้ย ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง หนูนุ้ยมีบุคลิกซื่อแกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงโย้ คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นคล้ายปากวัว ไว้เคราหนวดแพะ รูปอ้ายหนูนุ้ยไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งไม่มีลวดลาย ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือขึ้นนาสิก เป็นคนหูเบาคล้อยตามคำยุยงได้ง่าย แสดงความซื่อออกมาเสมอ ไม่ชอบให้ใครพูดเรื่องวัว เป็นคู่หูกับอ้ายเท่ง และเป็นตัวตลกที่นายหนังทุกคณะนิยมนำไปแสดงเช่นกัน
3. นายยอดทอง ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง แต่เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง เป็นชาวจังหวัดพัทลุง รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อย ก้นงอน ผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ ใครพูดถึงเรื่องจระเข้จึงไม่พอใจ รูปยอดทองไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ใจเสาะ ขี้ขลาด ชอบปากพูดจาโอ้อวดยกตน ชอบขู่หลอก พูดจาเหลวไหล บ้ายอ ชอบอยู่กับนายสาว จนมีสำนวนชาวบ้านว่า "ยอดทองบ้านาย" เป็นคู่หูกับนายสีแก้ว
4.นายสีแก้ว ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง แต่เชื่อกันว่าเอาบุคลิกมาจากคนชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนมีตะบะ มือหนัก เวลาโกรธใครจะตบด้วยมือหรือชนด้วยศรีษะ เป็นคนกล้าหาญ พูดจริงทำจริง ชอบอาสาเจ้านายด้วยจริงใจ ตักเตือนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม เป็นคนรูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศรีษะล้าน นุ่งผ้าโจงกระเบนลายตาหมากรุก ไม่สวมเสื้อ ไม่ถืออาวุธใดๆ ใครพูดล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องร้อน เรื่องจำนวนเงินมากๆ จะโกรธทันที พูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ เพื่อนคู่หูคือนายยอดทอง
5. อ้ายสะหม้อ หนังกั้น ทองหล่อเป็นคนสร้าง เลียนแบบบุคลิกมาจากมุสลิมชื่อสะหม้อ เป็นคนบ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งนายสะหม้อเองก็รับรู้และอนุญาตให้หนังกั้นนำบุคลิกและเรื่องราวของตนไป สร้างเป็นตัวละครได้ รูปอ้ายสะหม้อหลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแบบมุสลิม นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ เป็นคนอวดดี ชอบล้อเลียนคนอื่น เป็นมุสลิมที่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น ซึ่งสำเนียงของคนบ้านสะกอม มีนายหนังหลายคนนำอ้ายสะหม้อไปเล่น แต่ไม่มีใครพากย์สำเนียงสะหม้อได้เก่งเท่าหนังกั้น ปกติสะหม้อจะเป็นคู่หูกับขวัญเมือง
6. อ้ายขวัญเมือง เป็นตัวตลกเอกของหนังจันทร์แก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีประวัติความเป็นมา คนในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะไม่เรียกว่า "อ้ายเมือง" เหมือนนายหนังจังหวัดอื่นๆ แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากตัวตลกตัวนี้นำบุคลิกมาจากคนจริง ก็คงเป็นคนที่ได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นอย่างสูงทีเดียว อ้ายขวัญเมืองหน้าคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด ปลายนิ้วชี้บวมโตคล้ายนิ้วอ้ายเท่ง นุ่งผ้าสีดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ แต่บางครั้งก็ฉลาด ขี้สงสัยใคร่รู้เรื่องคนอื่น พูดเสียงหวาน
นายหนังในจังหวัดสงขลามักนำขวัญเมืองมาเป็นคู่หูกับสะหม้อ นายหนังในจังหวัดนครศรีธรรมราชแถวอำเภอเชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.ท่าศาลา มักให้ขวัญเมืองแสดงคู่กับนายยอดทอง หนังพัทลุง ตรัง นิยมให้เป็นตัวบอกเรื่อง เฝ้าประตูเมือง หรือเป็นพนักงานตีฆ้องร้องป่าว
7. อ้ายโถ ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง เลียนแบบบุคลิกมาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นคนที่มีศรีษะเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าไป ลำตัวป่องกลม สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงจีนถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ เป็นคนชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น อ้ายโถมีคติประจำใจว่า "เรื่องกินเรื่องใหญ่" ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม โถสามารถดึงไปโยงกับของกินได้เสมอ ซึ่งเป็นมุกตลกที่นับว่ามีเสน่ห์ไม่น้อย เพราะไม่ลามกหยาบคาย จึงเป็นตัวตลกที่ดึงความสนใจจากเด็กๆได้มาก อ้ายโถเป็นเพียงตัวตลกประกอบ มักเล่นคู่กับอ้ายสะหม้อ
8. ผู้ใหญ่พูน ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง คาดว่าคงจะเลียนแบบบุคลิกมาจากผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่ง เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศรีษะล้าน แต่มีกระจุกผมเป็นเกลียวดูคล้ายหูหิ้วถังน้ำ พุงโย้ยาน ก้นเชิดสูงจนหลังแอ่น เพื่อนมักจะล้อเลียนว่า บนหัวติดหูถังตักน้ำ สันหลังเหมือนเขาพับผ้า (เส้นทางระหว่างพัทลุง-ตรัง มีโค้งหักศอกหลายแห่ง) ผู้ใหญ่พูนนุ่งโจงกระเบนไม่มีลวดลาย เป็นคนชอบยุยง ขี้โม้โอ้อวด เห่อยศ ชอบขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว แต่ธาตุแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ชอบแสแสร้งปั้นเรื่องฟ้องเจ้านาย ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์ หรืออยู่กับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ
โดยปกติตัวตลกหนังตะลุงจะต้องมีคู่หู เพื่อเอาไว้รับส่งมุกตลกโต้ตอบกัน ในแต่ละเรื่องจะมีตัวตลกเอกอย่างน้อยสองคู่ คือ เป็นพี่เลี้ยงพระเอกคู่หนึ่ง และเป็นพี่เลี้ยงนางเอกคู่หนึ่ง นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ยังมีตัวตลกประกอบอีกจำนวนมาก
ที่ีมารูป...http://www.weloveshopping.com/shop/showproduct.php?pid=17139452&shopid=232362
โรงหนังตะลุง โรงหนังตะลุง มีรูปร่างสี่เหลี่ยม ปลูกสูงจากพื้นดินประมาณ 5 ฟุต ด้านหน้ากว้างประมาณ 12 ฟุต และสูงประมาณ 9 ฟุต มีจอขึงอยู่เต็มหน้าด้วยผ้าขาว ริมขลิบไว้ด้วยผ้าสีแดง พื้นโรงปูด้วยไม้กระดาน คนเชิดและนักดนตรี คนจัดตัวหนังต้องอยู่บนโรงนี้ทุกคน
ลำดับการแสดง หนังตะลุงทุกคณะมีลำดับขั้นตอนในการแสดงเหมือนกันจนถือเป็นธรรมเนียมนิยม ดังนี้ 1.ตั้งเครื่อง 2.แตกแผง หรือแก้แผง 3.เบิกโรง 4.ลงโรง 5.ออกลิงหัวค่ำ เป็นธรรมเนียมของหนังในอดีต ลิงดำเป็นสัญลักษณ์ของอธรรม ลิงขาวเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะ เกิดสู้รบกัน ฝ่ายธรรมะก็มีชัยชนะแก่ฝ่ายอธรรม ออกลิงหัวค่ำยกเลิกไปไม่น้อยกว่า 70 ปีแล้ว ช่วงชีวิตของผู้เขียนไม่เคยเห็นลิงดำลิงขาวที่สู้รบกันเลย เพียงได้รับการบอกเล่าจากผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป
6.ออกฤาษี หรือ ชักฤาษี รูปฤาษี หนังตะลุงถือว่าเป็นสัญลักษ์แทนครู-อาจารย์ การแสดงแต่ละครั้ง จะละเวันรูปฤาษีไม่ได้แต่ถ้าเราคิดในแนวอารยธรรม จะชี้ให้เห็นว่าหนังตะลุงน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียซึ่งอาจจะ ผ่าน เข้ามาทางภาคใต้โดยตรง หรือโดยอ้อมจากชวาก็ได้ เพราะสมัยหนึ่งชวาก็ได้รับพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามาซึ่งมีหลักฐานคือ เจดีย์บุโรพุทโธ อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
7. ออกรูปพระอิศวร หรือรูปโค พระอิศวร เป็นรูปแทนเทพเจ้าของศาสนาฮินดูองค์หนึ่งการที่หนังตะลุงมาเชิดก็น่าจะเป็น เครื่องชี้ให้เห็นความเชื่อถือและอารยธรรมซึ่งได้รับการถ่ายทอดจาก อินเดียเด่นชัดยิ่งขึ้น รูปพระอิศวรนี้ไม่ถือเป็นธรรมเนียมว่า จะต้องออกเชิดเหมือน รูปฤาษี เพราะถ้าหากมีความจำเป็นอาจจะตัดออกเสียได้ในบางครั้ง
8.ออกรูปฉะ หรือรูปจับ "ฉะ" หมายถึง การสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ยกเลิกไปพร้อมๆกับลิงหัวค่ำ
9.ออกรูปรายหน้าบทหรือรูปกาศ ปราย หมายถึง อภิปราย กาศ หมายถึง ประกาศ รูปปรายหน้าบท หรือ รูปกาศ หรือ รูปหน้าบท เสมือนเป็นตัวแทนนายหนังตะลุง เป็นรูปชายหนุ่มแต่งกายโอรสเจ้าเมือง มือหน้าเคลื่อนไหวได้ มือทำเป็นพิเศษให้นิ้วมือทั้ง 4 อ้าออกจากนิ้วหัวแม่มือได้ อีกมือหนึ่งงอเกือบตั้งฉาก ติดกับลำตัวถือดอกบัว หรือช่อดอกไม้ หรือธง
10.ออกรูปบอกเรื่อง รูปบอกเรื่อง คือรูปบอกคนดูให้ทราบว่า ในคืนนี้หนังแสดงเรื่องอะไร สมัยที่หนังแสดงเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว ก็ต้องบอกให้ผู้ดูทราบว่าแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด บอกคณะบอกเค้าเรื่องย่อๆ เพื่อให้ผู้ดูสนใจติดตามดู หนังทั่วไปนิยมใช้รูปนายขวัญเมืองบอกเรื่อง
11.ขับร้องบทเกี้ยวจอ
12.ตั้งนามเมืองหรือตั้งเมือง เริ่มแสดงเป็นเรื่องราว ตั้งนามเมือง เป็นการเปิดเรื่องหรือจับเรื่องที่จะนำแสดงในคืนนั้น กล่าวคือการออกรูปเจ้าเมืองและนางเมือง
โอกาสในการแสดงของหนังตะลุง เดิมหนังตะลุงนิยมแสดงเฉพาะในงานสมโภช เฉลิมฉลอง ไม่แสดงงานอัปมงคล เช่น งานศพ แต่ความเชื่อในเรื่องนี้หมดไป โอกาสแสดงของหนังตะลุงจะแนกออกได้ 3 ประเภท ดังนี้ 1.งานบ้าน เช่น แก้เหมรย บวชนาค แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ งานสระหัว งานทำบุญบ้าน สวดบ้าน 2.งานวัด เช่น ฝังลูกนิมิต งานฉลองกุฏิวิหาร งานเทศกาลประจำปีของวัด งานชักพระ งานประเพณีทำบุญเดือนสิบ 3.งานจัดรายการ ชาวบ้านเรียกว่างานสวนสนุก มีการแข่งขันประชันโรง เช่น งานแข่งขันกรีฑา งานมหกรรมหนังตะลุง งานปีใหม่ งานสงกรานต์ เอกชนเป็นผู้จัด เพื่อการค้ากำไรเป็นสำคัญ ระหว่างปี พ.ศ.2520-2526 มีงานจัดรายการมากที่สุด ต้องแย่งชิงกันรับหนังที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมว่างเว้นไม่ได้แม้คืนเดียว ส่วนเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ภาคใต้ฝนตกชุก นักจัดรายการไม่กล้าเสี่ยง ช่วงระยะเวลาดังกล่าว หนังเกิดขึ้นใหม่หลายร้อยคณะทั่วทั้งภาคใต้ ในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่เกิน 100 คณะ ล้วนแต่มีอายุล่วง 45 ปีไปแล้ว
การแข่งขันประชันโรง การประชันโรงของหนังตะลุง เป็นที่ชื่นชอบของชาวปักษ์ใต้มาเป็นเวลานานปี นับแต่สมัย ร.5 จนถึงปัจจุบัน การประชันโรงมีตั้งแต่ 2 โรงขึ้นไป ถึง 10 โรง เลือกเฟ้นเอาหนังที่มีชื่อเสียงระดับเดียวกัน ถ้าเปรียบกับภาษามวยเรียกว่าถูกคู่ ในงานเทศกาลสำคัญๆ มีการแข่งขันประชันโรงแพ้คัดออก มีประชันติดต่อกันหลายคืน เอารองชนะเลิศมาแข่งขันกันในคืนสุดท้าย นอกจากเงินราดแล้วมีการตั้งรางวัลเกียรติยศ เช่น ฤาษีทองคำ หรือขันน้ำพานรอง หรือถ้วยของบุคคลสำคัญ งานประชันหนังตะลุงที่สนามหน้าเมือง สนามหน้าอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สนามกีฬา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง มีหนังตั้งแต่ 10 คณะ ถึง 25 คณะ ผู้ชนะเลิศย่อมได้รับการยกย่อง มีงานแสดงมากขึ้น ค่าราดโรงเพิ่มขึ้น
เมื่อผู้เขียนอยู่ในวัยเยาว์จนเข้าวัยหนุ่ม หนังตะลุงประชันกันในวัด เพราะเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีเพียง 2 โรง เคร่งครัดต่อกติกา ทำเป็นหนังสือสัญญา 3 ฉบับ นายหนังหรือเจ้างานผิดสัญญาปรับไหมกันได้ ถือกติกาธรรมเนียมดังนี้
1.นายหนังทั้ง 2 โรง ต้องมาถึงสถานที่แข่งขันก่อนค่ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
2.ต้องจับฉลากขึ้นโรง จะเลือกที่โรงเอาเองตามใจชอบไม่ได้
3.มาตกลงข้อสัญญา และเทียบเวลากับนาฬิกากองกลางเพื่อให้เวลาตรงกันทั้ง 2 โรง
4. 1 ทุ่มตรง ลงโรง หรือโหมโรง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ 1
5. 2 ทุ่มตรง ออกฤาษี ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ 2
6. เที่ยงคืน หยุดพัก 1 ชั่วโมง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ 3
7.เวลา 1 นาฬิกาตรง แสดงต่อ ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ 4
8.เวลา 5 นาฬิกาตรง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ 4 เพื่อบอกให้นายหนังรูตัวว่ายังเหลือเวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็จะถึงเวลาเลิก แสดง ใครมีทีเด็ดเม็ดทราย ก็ใช้กันในตอนนี้เรียกว่าชะโรงเพื่อให้คนจากอีกโรงหนึ่ง มาอยู่หน้าโรงของตน แม้ว่าแพ้มาตลอดคืน แต่ตอนใกล้รุ่งสามารถกู้หน้าไว้ได้
9.เวลา 6 นาฬิกาตรง ตะโพนย่ำให้สัญญาณเป็นครั้งสุดท้ายเลิกการแสดงได้
10.เจ้างานต้องเลี้ยงดูอาหารมื้อเย็น และจัดอาหารว่างตอนหยุดพัก อาหารต้องปราศจากยาพิษ ที่ฝ่ายตรงกันข้ามอาจลอบใส่ลงได้ เจ้างานต้องรับผิดชอบ
11.ต้องจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามใต้ถุนโรงตลอดเวลา
12.ให้ค่าราดโรงครบตามสัญญา
การแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงหลังจากปี พ.ศ.2500 ไม่ค่อยเคร่งครัดในกติการสัญญา หนังแต่ละโรงต่างรู้จักกันดี แข่งขันเอาแพ้ชนะตามความสามารถตน ไม่ผูกแค้นจองเวรซึ่งกันและกัน พิธีกรรมทางไสยศาสตร์แทบไม่มี
นับถอยหลังไปจาก พ.ศ.2500 ในการแข่งขันประชันโรง ใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์กันอย่างเคร่งครัด ใช้ชิน ใช้ผี ให้ไปทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เสียงแหบแห้ง ความทรงจำเลอะเลือน ตลกไม่ออก ตลกแล้วไม่มีคนหัวเราะ
ผู้เขียนเป็นคนไม่เชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่เยาว์ แต่ไม่ตำหนิติเตียนผู้ที่มีความเชื่อ อย่างน้อยก็ช่วยให้เกิดความมั่นใจ ที่ใกล้บ้านผู้เขียนมีหมอทางไสยศาสตร์คนหนึ่ง เป็นที่เชื่อถือของหนังทั่วไป มีความสามารถในการทำให้จอของฝ่ายตรงกันข้ามมืด มองรูปบนจอไม่ชัดเจน คืนหนึ่งมาขอช่วยให้ผู้เขียนไปทำให้ ถ้าทำเองมีคนรู้จักมาก คืนนั้นเป็นเวลา 9 ทุ่มแล้ว จึงไปถึงหน้าโรงหนังที่ไปหาท่านเอาไว้ มอบหลอดไม้ไผ่เล็กๆ ให้แก่ผู้เขียน และบอกว่าในหลอดนี้มีชันบดผง ถ้าเราเป่าไปบนจอหนังตรงตะเกียงจอร้อน ชันที่บดละเอียดพอกระทบกับจอ ก็จะละลายจับผ้าจอ หนึ่งหลอดก็พอแล้ว และสั่งว่าถ้าหนังมีคนดูไล่เลี่ยกัน ไม่ต้องทำ จอเขาติดชันซักออกยาก เป็นบาปเป็นกรรม ผู้เขียนโชคดีไม่ต้องใช้ผงชัน เพราะการแข่งขันอยู่ในเกณฑ์เสมอกัน และการใช้ผงชัน ถ้าเขาจับได้ เสี่ยงอันตรายมากทีเดียว
ผู้เขียนชอบดูการแข่งขันประชันโรง ผู้คนนับหมื่น พ่อค้าแม่ขายเต็มไปหมด หนังแต่ละโรงเตรียมตัวมาอย่างดี แสดงสุดความสามารถ และที่อยากดูที่สุด โรงไหนเป็นฝ่ายแพ้ โรงไหนเป็นฝ่ายชนะ
การสืบทอดการแสดงและพิธีกรรม 1.ในสมัยโบราณผู้ใดจะแสดงหนังตะลุงก็จะไปฝากตัวเป็นศิษย์กับคณะหนังตะลุง ที่ตัวเองชอบในแนวทางการแสดง พร้อมกับนำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ไปมอบให้เพื่อเป็นการบูชา ฝ่ายครูก็มีการทดสอบโดยให้ร้องบทให้ฟังก่อน เพราะคนที่จะแสดงหนังตะลุงได้นั้นต้องมีการสนใจมาก่อน และจะต้องจำบทหนังตะลุงได้บ้างถึงไม่มากก็น้อย อันดับแรกครูจะฟังน้ำเสียง และเชาว์ปัญญา ถ้าไม่มีเชาว์ น้ำเสียงไม่ดี ก็ไม่รับเป็นศิษย์ ไม่เพียงหนังตะลุงศิลปินพื้นบ้านทุกประเภทในสมัยโบราณ ถ้าน้ำเสียงไม่ดีไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ เพราะไม่มีเทคโนโลยีช่วยเหมือนสมัยนี้ ต้องใช้เสียงตัวเอง โดยเฉพาะหนังตะลุงแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างใช้เวลาในการแสดงไม่ต่ำกว่าแปด ชั่วโมง นับว่าเป็นงานที่หนักมากพอดู
2.การครอบมือ เมื่ออาจารย์รับผู้สมัครไว้เป็นศิษย์ ถ้าบ้านลูกศิษย์อยู่ไกล เช่น ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด อาจารย์ก็จะรับไว้ให้อยู่ที่บ้าน อยู่กินกับอาจารย์ สอนวิชาให้ อาจารย์ไปแสดงสที่ไหนก็จะพาไปด้วย สอนให้ออกฤาษี และปรายหน้าบทก่อนเพื่อต้องการให้ชินกับคนดูมากๆ การฝึกแสดงหนังตะลุงไม่ใช่ฝึกกันได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลามาก อย่างน้อยต้องฝึกสี่หลักด้วยกัน เช่น
ก.ฝึกใช้เสียงเพื่อให้เข้ากับบทบาทของตัวละคร เสียงพระ เสียงนาง เสียงยักษ์ ตัวตลก ภาษาสัตว์ต่างๆ
ข.บทร้อง ต้องฝึกฉันทลักษณ์ของกลอน กลอนแบบไหนใช้กับตัวหนังตัวใดด เช่น บทรัก บทโศก บทสมห้อง บทเทวดา บทยักษ์ ค.การเชิดรูป ตัวหนังแต่ละตัวเชิดไม่เหมือนกัน เช่น พระราชา ต้องเชิดแบบผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ราชินีกริยาท่าทางแบบผู้ดี พระเอกเชิดแบบชายหนุ่มเจ้าชู้นิดๆ นางเอกกริยาเรียบร้อย ยักษ์หยาบกระด้าง
ง.ตัวตลก ตัวตลอกหนังตะลุงมีบทบาทสำคัญต่อผู้แสดงหนังตะลุงมาก คนดูหนังตะลุงได้จนสว่างก็เพราะตัวตลกนี่เอง ตัวตลกหนังตะลุงสามารถนำศีลธรรม สังคม การบ้าน การเมือง มาแทรกในบทหนังตะลุงได้อย่างกลมกลืน และยังสามารถนำผู้ชมเข้าร่วมในการแสดงได้อีกด้วย
ในสมัยโบราณการฝึกหนังตะลุง อย่างน้อยต้องอยู่กับอาจารย์สามปี บางคนอยู่กับอาจารย์ห้าปี หกปี ก็มี เมื่ออาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์แสดงได้ดีแล้ว ก็จะทำพิธีครอบมือให้ เมื่อผ่านการครอบมือแล้วก็เป็นหนังตะลุงสมบูรณ์แบบ แก้บนได้ (แก้เหมรย) หนังตะลุงโรงใดที่ยังไม่ได้รับการครอบมือ เชื่อกันว่าแก้บนไม่ขาด พิธีการครอบมือเหมือนกับการไหว้ครูทุกประการ
3.พิธีการไหว้ครู การไหว้ครูเป็นประเพณีสำคัญของหนังตะลุง มีความเชื่อกันว่าหนังตะลุงคณะใดมีการไหว้ครูเป็นประจำทุกปีเป็นมงคลแก่ตัว เอง ทำมาหากินคล่อง เป็นที่นิยมของคนดู หนังตะลุงบางคนที่แสดงหนังตะลุงไม่ได้แล้ว เช่น แก่ หรือ พิการ ก็ยังมีการไหว้ครูกันแต่ไม่ประจำทุกปี การไหว้ครูเป็นการบูชาครูอาจารย์ที่ยังมีชีวิตและที่ล่วงลับไปแล้ว ก.วันที่ใช้ในการทำพิธีไหว้ครู คือ วันพฤหัสบดี โดยมีความเชื่อกันว่า วันพฤหัสบดี คือ วันครู ส่วนเดือนที่ใช้ในการไหว้ครูคือเดือน 6-9-11 แต่มักใช้เดือน 6 เป็นหลัก โดยมีความเชื่อว่าเดือน 9-11 ครูถือศีลเข้าพรรษา
ข. ของสำคัญที่ขาดไม่ได้ในพิธีไหว้ครู 1.ผ้าขาวทำเพดานหนึ่งผืน ใช้กราบครูหนึ่งผืน 2.หมอนหนึ่งใบ สำหรับกราบครู 3.หินลับมีด 4.เสื่อหนึ่งผืน 5.ด้ายและเข็ม 6.มีดโกน 7.ด้ายสายสิณฑ์ 8.ข้าวตอกดอกไม้ 9.ธูป เทียน 10.หมาก พลู 11.มะหร้าวอ่อนสองลูก 12.อ้อย 13.กล้วย 14.ปลามีหัวมีหาง 15.ไก่ตัวผู้ใช้ทองปิดปาก 16.หัวหมูใช้ทองปิดปาก เป็ด และห่าน ใช้ด้วยก็ได้ แต่ต้องเป็นตัวผู้ 17.เหล้าใช้ได้ทุกยี่ห้อ กี่ขวดก็ได้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น