กำเนิดนาฏศิลป์ไทย
กำเนิดนาฏศิลป์ไทย
ประเทศไทยมีประเพณีแบบอย่างทางศิลปการแสดงมาช้านาน ซึ่งได้ผ่านมาหลายศตวรรษและหลายชั่วอายุคน การถ่ายทอดศิลปะนี้ได้ผ่านมาหลายทาง จากที่เป็นคำพูด จนถ่ายทอดมาเป็นเอกสารจากเรื่องราวต่างๆ จนมาเป็นกิจกรรมทางการศึกษาอย่างมีระบบ แต่กระนั้นประเพณีทางศิลปะของการแสดงนี้ก็ได้ผ่านจากยุครุ่งเรืองและยุคเสื่อม
นาฏศิลป์ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแสแห่งการกแสดงออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อชีวิตประจำวันและวิถีชีวิตของชาวไทย ไม่ใช่เป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับศาสนาและกลุ่มสังคมหลายกลุ่ม โดยแท้จริงแล้วนาฏศิลป์ไทยนั้นสามารถที่จะบรรยายลักษณะเฉพาะตัวและยังสามารถที่จะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของสังคมไทยที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ โดยเฉพาะ ดังนั้นเราสามารถสังเกตได้ว่านาฏศิลป์ของไทยจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะที่จะบ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปเอเชียอาคเนย์ โดยอยู่ในแนวเส้นทางการพาณิชย์ ประเทศไทยจึงมีวัฒนธรรมที่หลากหลายจากทางตะวันตก และทางตะวันออก วัฒนธรรมเหล่านี้ได้หลั่งไหลเข้าสู้ประเทศไทย ซึ่งมีผลทำให้รูปแบบทางประเพณีและศิลปะมีความแตกต่างกันไป
นาฏศิลป์ไทยนั้นสามารถจะสืบค้นหาถึงความเป็นมาได้ว่ามีมาตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์
ชาติไทย สิ่งที่นำเสนอออกมาถ่ายทอดผ่านการแสดงนาฏศิลป์ไทยนั้น ทำให้เราเห็นวัถตุในทางศิลป์ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ทั้งวรรณคดี ประติมากรรม จิตรกรรม เป็นต้น ในแต่ละยุคของประวัติศาสตร์ไทยได้เผยให้เห็นถึงสิ่งมาชีวิตที่มีอยู่ รวมถึงความเจริญของมรดกทางวัฒนธรรมไทย
ความหมายของนาฏศิลป์
คำว่า “นาฏศิลป์” เป็นคำสมาส แยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า “นาฏ” และ “ศิลป์”
นาฏ หมายถึง การร่ายรำ และการเคลื่อนไหวไปมา สันสกฤตใช้รูปศัพท์คำว่า “นฤตย” ภาษามคธ ใช้คำว่า “นจฺจ” และ “นฤตฺย” เป็นชื่ออย่างหนึ่งของการฟ้อนรำบวงสรวงพระผู้เป็นเทวาลัย โดยเลือกเอาจังหวะและท่ารำที่เต็มไปด้วยท่าเคารพสักการะ และเลือกแสดงตอนที่เป็นการกระทำนับเนื่องในชีวประวัติของพระผู้เป็นเจ้าด้วย ส่วนคำว่า “นิจฺจ” มีคำอธิบายเพิ่มอีก ได้แก่ การฟ้อนรำ นับตั้งแต่การฟ้อนรำพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น รำโทน ตลอดจนไปถึงการฟ้อนที่เรียกว่า ระบำของนางรำ (ที่กล่าวถึงในกฎหมายเก่า) ระบำเดี่ยว ระบำคู่ ระบำชุด หรือระบำของนางนัจจะ ซึ่งมีอยู่ในอินเดียจนบัดนี้
ศิลปะ ความหมายของศิลปะกล้างออกไปตามความคิด และแต่ละแขนงสาขา ซึ่งจะกำหนดแน่นอนไม่ได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในสมัยแรก ๆ ศิลปะหมายถึงการช่างทั่ว ๆ ไป ต้องใช้ฝีมือปฏิบัติโดยอาศัยมือ ความคิด และความชำนาญในการที่จะประกอบวัตถุนั้น ๆ ให้เกิดความงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน ก่อให้เกิดความรู้สึกยินดีชื่นชมและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น
ศิลปะ อาจหมายถึงการแสดงออกเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ การลอกเลียนแบบ การถ่ายทอดความหมายต่าง ๆ หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์เกิดจินตนาการในอันที่จะแสดงคุณค่าแห่งความงอกงามออกมาในรูปแบบต่าง ๆ หรือได้พบเห็นจากธรรมชาติแล้วนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ขึ้นให้มีความวิจิตรละเอียดอ่อนซาบซึ้ง
ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยดัดแปลงจากธรรมชาติให้ประณีตสวยงาม
ศิลปะนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำศิลปะอันสูงส่งปรากฏแก่มวลมนุษย์ คือ เป็นแรงบันดาลใจ ศิลปะที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องให้ความเพลิดเพลิน นิยมยินดี ซาบซึ้งแก่ผู้ดูและผู้ชม รวมทั้งความคิด สติปัญญา ความงามทางด้านสุนทรียภาพ
ศิลปะ เป็นคำภาษาสันสกฤต (ส.ศิลฺป ป.สิปฺป มีฝีมือยอดเยี่ยม) ซึ่งหมายถึงการแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นอย่างงดงามน่าพึงชมก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “ARTS”
ศิลปะอาจแบ่งแยกออกตามความสำคัญได้ดังนี้
1. วิจิตรศิลป์ หรือประณีตศิลป์ (FINE ARTS) เป็นศิลปะแห่งความสุขที่มุ่งหมาย เพื่อช่วยสนองความต้องการทางอารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ นับเป็นศิลปะที่บริสุทธิ์ที่สร้างสรรค์จากสติปัญญาจิตใจ ร่วมกับความเจริญทางด้านสุนทรียภาพของศิลปินแต่ละคน แสดงออกโดยใช้ฝีมือเป็นส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ
1. วรรณกรรม (LITERATURE)
2. ดนตรีและนาฏศิลป์ (MUSIC AND DRAMA)
3. จิตรกรรม (PAINTING)
4. ปฏิมากรรม หรือ ประติมากรรม (SCULPTURE)
5. สถาปัตยกรรม (ARCHITECTURE)
วิจิตรศิลป์ทั้ง 5 ประเภทนี้ก่อให้เกิดอารมณ์และพุทธิปัญญา กล่าวคือ มนุษย์อาศัยศิลปะเพื่อแสวงหาความดี และความบันเทิงใจให้กับจิตใจคน เห็นคุณค่าทางศาสนาและวรรณคดี ความงามสง่าแห่งสถาปัตยกรรม บังเกิดความพอใจและมีอารมณ์คล้อยตามไปกับความรู้สึกนึกคิดของเรื่องราวและการแสดงออกของศิลปิน
2. ประยุกต์ศิลป์ (APPLIED ARTS) เป็นศิลปะแห่งอัตถะประโยชน์ เพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ และด้านวัสดุที่ก้าวหน้า โดยนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับหัตถกรรมและโภคภัณฑ์ เช่น เครื่องใช้ภายในบ้าน การประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย อาหาร ซึ่งศิลปะนี้อาจประดิษฐ์ขึ้นด้วยเครื่องมือ หรือเครื่องจักร
3. มัณฑนศิลป์ (DECORATIVE ARTS) เป็นศิลปะแห่งการตกแต่งประดับประดา เช่นการตกแต่งสวน อาคาร สถานที่ต่าง ๆ ห้องรับแขก โดยใช้ศิลปะในการตกแต่งในสถานที่หรืออาคารนั้น มีความงามส่งเสริมทางด้านจิตใจและอารมณ์
4. อุตสาหกรรมศิลป์ หรือ พาณิชย์ศิลป์ (INDUSTAIL OR COMMERCAIL ARTS) เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยส่วนใหญ่ ทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว หรือในโรงงาน อันเป็นผิตผลเพื่อการเงิน เช่น การปั้นรูปต่าง ๆ การผลิตเครื่องปั้นดินเผา งานไม้ งานโลหะ เป็นต้น ส่วนด้านพาณิชย์ศิลป์นั้น คือศิลปะเกี่ยวกับการค้า ซึ่งต้องพยายามออกแบบให้เหมาะสมและถูกรสนิยมของประชาชน ทำให้เกิดความต้องการซื้อ ได้แก่ ศิลปะการโฆษณา การจัดตู้โชว์ ภาพโปสเตอร์
5. ศิลปบริสุทธิ์ (PURE ARTS) เป็นศิลปะเพื่อตอบสนองอารมณ์ของศิลปินในการแสดงผลงานของตนออกมาในรูปแบบอิสระ โดยไม่ได้มุ่งหวังให้ศิลปะที่ผลิตขึ้นมานั้น มีผลงานทางการเงินเป็นสำคัญ นับเป็นศิลปะที่ผลิตขึ้นเพื่อศิลปะโดยแท้จริง
6. PLASTIC ARTS เป็นศิลปะประเภทที่มีรูปทรง คือ มีคุณค่าเชิงสามมิติ มีความกว้าง สูง และความลึก ศิลปะประเภทนี้ได้แก่ จิตรกรรม ภาพพิมพ์ รวมทั้งปฏิมากรรม และสถาปัตยกรรมด้วย
ศิลปะที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นศิลปะที่มีคุณค่าทางความงามในแต่ละสาขาตามแนวต่าง ๆ การให้ความคิด การสร้างสรรค์แตกต่างกันไป สรุปความได้ว่า ศิลปะทุกประเภทมีจุดหมายเป็นจุดเดียวกันคือ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่นิยมยินดี ขัดเกลาความคิดและจิตใจให้ผ่องใส อันจะก่อให้เกิดความสุขแก่มวลมนุษย์โดยทั่วไป
ฉะนั้น คำว่า “นาฏศิลป์” จึงประมวลความหมายได้ว่า การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากธรรมชาติด้วยความประณีตอันลึกซึ้ง เพียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจงอันละเอียดอ่อน นอกจากหมายถึงการฟ้อนรำ ระบำ รำ เต้น ฟ้อนแล้ว ยังหมายถึงการร้องและการบรรเลงด้วย
ที่มาของนาฏศิลป์
นาฏศิลป์หรือศิลปะการร่ายรำ สันนิษฐานว่า มีมูลเหตุที่เกิดสำคัญ 2 ประการ คือ
1. เกิดจากธรรมชาติ ศิลปะทุก ๆ อย่างย่อมมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น การฟ้อนรำก็เป็นศิลปะสาขาหนึ่งที่เรียกว่านาฏศิลป์ โดยดัดแปลงปรับปรุงมาจากธรรมชาติเช่นเดียวกับศิลปะสาขาอื่น ๆ การฟ้อนรำเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงเท้า มนุษย์เราทุกคนต้องมีอารมณ์ รัก โกรธ เศร้าโศก บางขณะบางชั่วเวลาก็มีความบันเทิงเริงใจ และมักจะแสดงกิริยาท่าทางเหล่านั้นออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจความหมาย กิริยาต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมได้สัดส่วน จนกลายเป็นท่าฟ้อนรำ เช่น การเต้นเป็นจังหวะ ยกขา ชูแขน เอียงไหล่ หมุนตัว ในระยะแรกอาจไม่งดงาม แต่ต่อมาภายหลังได้ปรับปรุงและกำหนดสัดส่วนให้สวยงามขึ้นตามลำดับ
2. เกิดจากการบวงสรวงบูชาเทพเจ้า แต่โบราณมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาไม่มีสิ่งใดอันจะยึดเป็นที่พึ่งทางจิต หรือเครื่องเคารพสักการะเหมือนปัจจุบัน เทพเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้าเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการสมมติ เมื่อมีการรวมพลังจิตมากเข้า ก็ทำให้สิ่งสมมติมีความศักดิ์สิทธิ์ประสบความสำเร็จในที่ปรารถนา เช่น ญี่ปุ่นนับถือดวงอาทิตย์ เป็นการบูชาความสำคัญของดวงอาทิตย์ที่ให้ความเร้าร้อนและแสงสว่าง อินเดียบูชารูปเคารพซึ่งแต่งตั้งเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ ไทยเชื่อภูต ผี เทพารักษ์ เจ้าป่า เจ้าเขา รูปเคารพต่าง ๆ ที่มนุษย์สมมติขึ้นต่างได้รับการบวงสรวงบูชาด้วยอาหาร หรือสรรพสิ่งอันควร จากนั้นมีการบวงสรวงด้วยการร่ายรำ กระโดดโลดเต้นตามจังหวะ เช่น พวกแอฟริกา คนป่า ชาวเขา เป็นแบบแผนวัฒนธรรมของแต่ละชาติ นับได้ว่าเป็นนาฏศิลป์พื้นฐาน ประเทศอินเดียมีหลักฐานปรากฏว่ามีการร่ายรำอ้อนวอนบูชาเทพเจ้าในคัมภีร์หนึ่งในสี่ของคัมภีร์ไตรเวท อันมี
1. ฤคเวท
2. ยุชรเวท
3. สามเวท
4. อาถรรพเวท
ต่อมามีการขับร้องประกอบการร่ายรำ เพื่อให้มีความงดงามทางเสียงประกอบการรำเรียกว่า นาฏยเวท เมื่อศิลปะแห่งการรำรุ่งเรืองในประเทศอินเดีย พราหมณ์ได้นำเอาตำรานาฏเวทมาสอนในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเข้ามาในสมัยใด และเปลี่ยนชื่อตำรานาฏศาสตร์ เชื่อกันว่า พระภรตมุนีเป็นผู้รจนา ตำรานาฏยศาสตร์นี้ บางครั้งเรียกว่า ตำราภรตศาสตร์ มีตำนานแห่งการฟ้อนรำของอินเดีย กล่าวว่า พระศิวะทรงเป็นบรมครูแห่งการฟ้อนรำ ดังมีตำนานที่ได้กล่าวไว้
ตำนานการฟ้อนรำของอินเดีย
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชีย เอเชียอาคเนย์ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้รับอารยธรรมมาจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไทยได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เป็นต้นว่า ลัทธิ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปะแขนงต่าง ๆ โดยมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ว่าเป็นอารยธรรมที่มีระเบียบแบบแผนที่ดีจึงได้นำมาดัดแปลงยึดถือเป็นแบบฉบับ ตามความเห็นชอบของไทย การฟ้อนรำหรือวิธีการด้านนาฏศิลป์ ก็เป็นอารยธรรมแขนงหนึ่งที่ไทยได้แบบแผนและแนวความคิดเดิมมาจากอินเดีย บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยหลายคนได้ยืนยันในเรื่องนี้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ในการศึกษาเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์ไทยนั้น ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เรื่องตำนานการฟ้อนรำของอินเดียด้วย
ตำนานการฟ้อนรำของอินเดียตามที่ปรากฏใน “โกยัลปุราณะ” (โกยัลปราณะ คือตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของเทวาลัยต่าง ๆ) ในศาสนาฮินดู ฉลับอินเดียใต้กล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่งมีฤๅษีพวกหนึ่งตั้งอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่กับภรรยาในป่าตาระคา ต่อมาฤๅษีพวกนี้ประพฤติอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญญัติ ร้อนถึงพระศิวะต้องชวนพระนารายณ์ลงมาปราบ พระศิวะทรงแปลงพระองค์เป็นโยคีหนุ่มรูปงาม พระนารายณ์ทรงแปลงองค์เป็นภรรยาสาวสวย ทั้งนี้เพื่อล่อให้พวกฤๅษีและภรรยาเกิดความหลงใหลในความงามเพราะอำนาจราคะจริต จนเกิดการวิวาทแย่งชิงกันในบรรดาฤๅษีและภรรยาด้วยกันเอง แต่พระศิวะและประนารายณ์แปลงกายไม่ปลงใจด้วย เมื่อฤๅษีและภรรยาไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ฤๅษีเหล่านั้นเกิดโทสะพากันสาปแช่งพระศิวะและประนารายณ์แปลงกายทั้งสอง แต่พระศิวะและพระนารายณ์ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด พวกฤๅษีจึงเนรมิตเสือขึ้นตัวหนึ่งเพื่อฆ่าโยคีและภรรยาปลอมตัวให้ตาย พระศิวะจึงต้องฆ่าเสือและนำหนังเสือมาทำเป็นเครื่องแต่งองค์ พวกฤๅษีจึงเนรมิตให้เกิดพญานาคขึ้นตัวหนึ่งเพื่อต้องการให้พ่นพิษใส่โยคีและภรรยาปลอมตัว พระศิวะจึงจับพญานาคตัวนั้นมาพันพระวรกายทำเป็นสายสังวาลย์ประดับองค์ ต่อมาก็ทรงกระทำปาฏิหาริย์โดยการร่ายรำทำท่าไปมาแต่พวกฤๅษีก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์ พวกฤๅษีจึงเนรมิตยักษ์ค่อมมีสีผิวดำสนิทขึ้นตนหนึ่งมีชื่อว่า มุยะละคะ หรืออสูรมูลคนี พระศิวะเห็นดังนั้นจึงใช้พระบาทขวาเหยียบยักษ์ตนนั้นแล้วทรงฟ้อนรำอยู่บนหลังยักษ์ตนนั้นต่อไปจนหมดกระบวนท่ารำ เมื่อฤๅษีเห็นดังนั้นก็สิ้นทิฐิยอมรับผิด ทูลขอชมาโทษและสัญญาว่าจะปฏิบัติตนอยู่ในเทวบัญญัติอย่างเคร่งครัดต่อไป
ต่อมาพญาอนันตนาคราชซึ่งเป็นบัลลังค์นาคของพระนารายณ์ ได้ฟังพระนารายณ์ทรงเล่าถึงการฟ้อนรำของพระศิวะในป่า ตาระคา มีความประสงค์ที่จะได้ดูการฟ้อนรำของพระศิวะบ้าง (บางตำราว่าการปราบฤๅษีในครั้งนั้น พญาอนันตนาคราชได้ตามเสร็จไปด้วย) พญาอนันตนาคราชจึงทูลพระนารายณ์ให้ทรงทูลพระศิวะ ให้ทรงฟ้อนรำให้ด พระนารายณ์จึงทรงแนะนำให้พญาอนันตนาคราชบำเพ็ญพรตบูชาพระศิวะเพื่อขอพรแล้วจะได้ทุก ๆ อย่างที่ต้องการ พญาอนันตนาคราชก็ทรงทำตาม และเมื่อได้เวลาทูลขอการฟ้อนรำ พระศิวะก็ทรงรับคำว่าจะลงมาฟ้อนรำให้ดูในโลกมนุษย์ ณ ตำบลที่มีชื่อว่า “จิทัมพรัม” ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ให้พญาอนันตนาคราชมาคอยดู ครั้นถึงวันที่กำหนดพระศิวะก็เสด็จลงมายัง “ติลไล” หรือตำบล “จิทัมพรัม” (ในแคว้นมัทราษฏร์) ทรงเนรมิต “นฤตสภา” (หรือเทวสภา) ขึ้นแล้วจึงฟ้อนรำตามที่เคยทรงประทานสัญญาแก่อนันตนาคราชอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มีพระบัญชาให้ภรตมุนี ซีงอยู่ใน ณ ที่นั้นด้วย บันทึกสร้างเป็นตำราการฟ้อนรำขึ้น
ต่อมา พระพรหมได้มีเทวบัญชาแก่พระภรตฤๅษี ให้สร้างโรงละคร และจัดการแสดงละครขึ้น พระภรตฤาษีรับเทวบัญชาแล้ว ก็ขอให้พระวิศุกรรมเป็นผู้สร้างโรงละครได้ ทั้งโรงขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งโรงรูปสามเหลี่ยม สี้เหลี่ยมจัตุรัส และสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วพระภรตฤๅษีก็บัญญัติการแสดงขึ้น โดยแต่งเป็นโศลกบรรยายท่ารำต่าง ๆ ของพระศิวะ 108 ท่าโดยให้รำเบิกโรงด้วยการรำตามโศลก ซึ่งขับกล่อมเป็นทำนองจนจบเพลง แล้วจึงจับเรื่องใหญ่ ตำราการแสดงละครของพระภรตฤๅษี มีชื่อว่า “นาฏยศาสตร์” หรือ
“ภรตศาสตร์”
จากตำนานที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าพระศิวะทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญการฟ้อนรำอย่างมากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียทั้งหลายจึงนับถือพระศิวะว่าทรงเป็นนาฏราช คือพระราชาแห่งการฟ้อนรำ ชาวอินเดียได้สร้างพระศิวะเป็นท่าฟ้อนรำโดยกำหนดให้เป็นท่าเหยียบยักษ์ค่อม ตามตำนานที่ปรากฏในโกยัลปราณะ นอกจากนี้ยังมีอีกท่ารำท่าหนึ่งเป็นท่าฟ้อนรำและยกพระบาทข้างซ้ายเหมือนกัน แต่ไม่มีการเหยียบหลังยักษ์ ทั้งสองท่านี้เรียกชื่อเหมือนกันว่า “เทวรูปปางนาฏราช”
ในประเทศอินเดียเมืองจิทัมพรัม ห่างจากเมืองมัทราช (อินเดียใต้) ราว 150 ไมล์ มีเทวาลัยแห่งหนึ่งชื่อ “จิทัมพรัม” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เทวาลัยศิวะนาฏราช” เป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 1800 ภายในมีช่องทางเดินเข้าสู่ตัวเทวาลัยชั้นใน มีภาพแกะสลักด้วยหินเป็นรูปตัวระบำผู้หญิงแสดงท่ารำต่าง ๆ 108 ท่า (ตามตำนานที่ว่าพระศิวะทรงฟ้อนรำ 108 ท่า ) ท่ารำต่าง ๆ นี้ตรงกับคำที่กล่าวไว้ในตำราที่มีชื่อว่า “นาฏยศาสตร์” ท่าฟ้อนรำเหล่านี้เป็นท่ารำที่นาฏศิลป์อินเดียใช้เป็นแบบฉบับในการฟ้อนรำ เพราะเชื่อว่าเป็นท่ารำที่พระศิวะทรงฟ้อนรำที่ตำบล อันเป็นที่ตั้งของเทลาลัยนี้เอง การฟ้อนรำตามภาพแกะสลัก ท่ารำที่เทลาลัยศิวะนาฏราชเป็นที่นิยมแพร่หลายต่อมาทั่วประเทศอินเดีย และโดยนัยนี้ก็ได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยด้วย ท่านผู้ทรงวิทยาคุณทั้งหลายได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คงเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยานี่เอง เพราะใน พ.ศ. 1800 ซึ่งเป็นเวลาที่สร้างเทวสถานที่เมืองจิทัมพรัมนั้นเป็นระยะเวลาที่ไทยเพิ่งตั้งกรุงสุโขทัยท่ารำ ที่ไทยเราได้ดัดแปลงมาจากอินเดียในครั้งแรกนั้นก็ต้องเป็นความคิดของนักปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมานักปราชญ์ของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้แก้ไขปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ท่าฟ้อนรำของนาฏศิลป์ไทย จึงดูห่างไกลกับท่ารำของอินเดียที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
เทวรูปพระศิวะ ปาง “นาฏราช” ศิลปะแบบอินเดียใต้
แสดงท่าเหยียบอสูรชื่อ มุยะละคะ
ตำราฟ้อนรำ ของไทยแต่เดิมแปลมาจากตำราของอินเดีย ดังที่กล่าวไว้ในตำนานฟ้อนรำของอินเดีย และบรมครูทางนาฏศิลป์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในชั้นหลังก็มีโดยพบจาก คำกลอนของเก่าว่าด้วยตำรามีอยู่ 3 บท
1. เป็นกลอนสุภาพ แต่งบอกตำราท่ารำไว้แต่โบราณมีท่ารำ 66 ท่า (รำแม่บทใหญ่)
2. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ตอนนารายณ์ปราบนนทุก คัดแต่ท่าเฉพาะที่จะรำในบทนั้นไปเรียงไว้ในบทกลอน 1 บท เรียกว่าแม่บทนางนารายณ์
3. เป็นคำไหว้ครูของละครชาตรี โนราห์เมืองนครศรีธรรมราช
รูปแบบของนาฏศิลป์ไทย
เมื่อมองย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 วัฒนธรรมไทยได้พัฒนาขึ้นมา 2 สาย คือ
1. วัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งถือปฏิบัติมาจากคนพื้นบ้าน ดังนั้นจังได้อิทธิพลอย่างมากจากอารยธรรมต่างประเทศโดยเฉพาะอารยธรรมของชาวอินเดีย ที่ได้แผ่ขยายเข้ามาทั่วมหาสมุทรอินเดียจนถึงเอเชียอาคเนย์ และเชื่อกันว่าได้เข้าถึงประเทศไทยในสมัยอาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรเขมรโบราณ อิทธิพลและศาสตร์ของชาวอินเดียได้แสดงรูปแบบของตัวเองโดยผ่านทางศาสนา (ศาสนาฮินดู และพุทธ) ภาษา จากโคลงที่กล่าวถึงความกล้าหาญ คือ จักรและนารายณ์ศาสตรา รวมทั้งเรื่องอื่นๆ อารยธรรมตะวันตกที่ได้แผ่ขยายเข้ามาในประเทศไทยโดยอาศัยช่องทางการค้าขายระหว่างประเทศในช่วงปลายอยุธยาเป็นต้นมา ซึ่งได้นำเอาวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย เช่น รูปแบบการเต้นบัลเล่ต์มาจากการแสดงของชาวยุโรป การแสดงรองเง็งมากจากการแสดงของชาวสเปน รวมแล้วประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามาผสมผสานกลมกลืนจนมีรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงแบบเดียวในที่สุด
2. วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากคนพื้นเมือง สามารถมองย้อนไปในสมัยสุโขทัย ราว ๆ ปี ค.ศ.1238 – 1378 อันเป็นสมัยที่สุโขทัยเป็นราชธานี เวลานั้นประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านเกิดการละเล่นในแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกันตามภูมิประเทศ การดำรงชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรมย่อย ดังเช่น
- นาฏศิลป์ภาคกลาง เช่น เต้นกำรำเคียว เป็นการแสดงของชาวบ้านภาคกลางที่มาจาก
กิจกรรมการทำนำ เกี่ยวข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งการปลูกข้าวก็เป็นอาชีพหลักของ
- นาฏศิลป์ภาคเหนือ เช่น ฟ้อนเล็บ เป็นการแสดงที่บ่งบอกถึงความเป็นภาคเหนือด้วยเครื่องแต่งกาย ลักษณะท่ารำ
- นาฏศิลป์ภาคอีสาน เช่น เซิ้งโปงลาง เป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานโดยเฉพาะการนำเอาเครื่องดนตรีของทางภาคอีสานเป็นทำนองเพลง
- นาฏศิลป์ภาคใต้ เช่น มโนราห์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำภาคใต้ซึ่งคนใต้เป็นคนที่มักทำอะไรรวดเร็ว ดังนั้นการรำมโนราห์จึงเป็นการรำที่ดูรวดเร็วและแข็งแรง ไม่อ่อน-ช่อยเหลือการรำในภาคอื่น ๆ
ภายหลังจากการกำเนิดนาฏศิลป์ไทยนั้นทำให้นาฏศิลป์ไทยวิวัฒนาการและเกิดการพัฒนาจนถูกจัดประเภทโดยแบ่งออกตามลักษณะการแสดงซึ่งประกอบไปด้วย
1. โขน
2. ละคร
3. ระบำ รำ ฟ้อน
และนาฏศิลป์ไทยสามารถจำแนกรูปแบบเป็นหลักไว้ 2 แบบ คือ
1. นาฏศิลป์อย่างมีแบบแผน (มาตรฐาน)
2. นาฏศิลป์พื้นเมือง (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น