รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย เมื่อประมาณ 60ปีที่ผ่านมา รำโทนได้รับความนิยมสูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการเชิดชูรำโทนให้เป็นศิลปะประจำชาติจึงได้ส่งเสริมการละเล่นชนิดนี้เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่ง
ไม่มีผู้ได้บอกได้แน่ชัดว่ารำโทนเกิดขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้ริเริ่ม มีผู้กล่าวว่าถิ่นเดิมที่พบว่ามีการเล่นรำโทนก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ แถวบ้านแพะในจังหวัดสระบุรีโดยชาวบ้านเป็นผู้เล่น
หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา กล่าวว่า รำโทนแพร่หลายในเมืองนครราชสีมาก่อนที่อื่น และยังมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมีการเล่น รำโทน มาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือก่อนหน้านั้นอยู่ทุกหน ทุกแห่ง ดังมีกล่าวถึงในเอกสารของชาวยุโรปหลายเล่ม
ผู้นิยมเล่นรำโทน คือ หนุ่มสาวชาวบ้าน กล่าวกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนต้องอพยพหนีภัยทางอากาศจากกรุงเทพฯ ไปยังชนบทตามที่ต่าง ๆ กัน ในภาวะสงครามนั้นยามค่ำคืนจะมืดไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากทางรัฐบาลห้ามกระทำการต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น ห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุม และอื่น ๆ ประชาชนจึงเกิดความเหงา และเครียด การสนทนาเพียงอย่างเดียวไม่สนุก จึงได้คิดเล่นรำโทนขึ้น การละเล่นชนิดนี้ชาวบ้านรู้จักและเล่นได้ทุกคน ขณะที่เล่นจะจุดตะเกียง ตั้งไว้ตรงกลาง ผู้เล่นจะยืนล้อมวง จุดประสงค์ของการเล่นคือ เพื่อความสนุกสนาน แลเพื่อพบปะเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว โดยทั่วไปแล้วจะมีเนื้อร้องค่อนข้างสั้น เวลาร้องมักร้องซ้ำ สอง สาม หรือสี่เที่ยว จึงทำให้จำเนื้อร้องได้ง่าย และแพร่หลายอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว เพลงใดที่ผู้เล่นไม่ค่อยชอบก็มักจะไม่ถูกนำมาร้องหรือเล่นกัน ทำให้สูญหายไป คงเหลืออยู่แต่เพลงที่สนุกสนานไพเราะและมีท่ารำที่เป็นที่พอใจของผู้เล่นเท่านั้น
เพลงรำโทนที่นำมาร้องนั้น ใช้วิธีจดสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงทั้งเนื้อร้องและท่ารำ คือจำมาอย่างไรก็ร้องอย่างนั้น บางครั้งการถ่ายทอดมาอาจได้มาเฉพาะเนื้อเพลง กรณีเช่นนี้ผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง การถ่ายทอดอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเนื้อเพลงและท่ารำ จากการสำรวจพบว่า แม้เป็นเพลงเดียวกันหากคณะของผู้เล่นอยู่ต่างสถานที่หรือต่างท้องถิ่นกัน ท่ารำและเนื้อเพลงก็อาจผิดแผกกันไปได้ แต่บางเพลงยังคงเหมือนกัน ทุกประการ อย่างไรก็ตามเพลงทุกเพลงไม่จำเป็นต้องได้จากการสืบทอดเสมอไป ผู้เล่นสามารถแต่งเพลงเนื้อร้อง และท่ารำขึ้นเป็นปัจจุบันในขณะเล่นก็ได้
ตัวอย่างเพลงรำโทน
เนื้อเพลงรำโทน
เพลงเชิญชวน
พวกเราเอ๋ยมาฟ้อนรำ อย่ามัวทำเอียงอาย ขอเชิญท่านทั้งหญิงชายฟ้อนรำกันให้สนุกเอย
สาวเอย ๆ สาวเอ่ย ๆ สาวไทย ๆ ล้วนแต่วิไลงามตา
สาวเอย ๆ โสภา ๆ ดูงามหนักหนาครามอง
ปากแก้มคิ้วคาง ดังเทพธิดา ยังเป็นรอง ใจฉันอยากจะฝากปองแม่เนื้อทองนี่กระไร
หล่อจริงนะดารา งามตามจริงนะสาวเอย
วันนี้ฉันมีความสุข สนุกรื่นเริงหัวใจ
ที่นี่เป็นแดนสวรรค์ เธอกับ
ฉันมาเล่นคองก้า (ซ้ำ)
เพลงยวนยวนยวน
ยวน ยวน ยวน กระบิดกระบวนยั่วยวนใจชาย
ยักท่ามาแต่ระบำ ฟ้อนรำหมุนเวียนเปลี่ยนไป
ยักคิ้ว ยักเอว ยักไหล่ ตาชม้ายไม่วายแลมอง
เพลงช่อมาลี
เจ้าช่อมาลีคนดีของพี่ก็มา สวยจริงหนาเวลาค่ำคืน (ซ้ำ)
โอ้จันทร์ไปไหนทำไมจึงไม่ส่องแสง
เดือนมาแขวงแสงสว่าง เมฆน้อยลอยมาบัง
แสงสว่างก็จางหายไป
เพลงเธอรำช่างน่าดู
เพลงยวนยาเหล
ยวนยาเหล ยวนยาเหล่ หัวใจหว้าเหว่ ไม่รู้จะเห่ไปหาใคร
จะซื้อเปลยวน ที่ด้ายหยอน หยอน มาให้น้องนอนไกวเช้าไกวเย็น
เพลงดอกฟ้าจะร่วง
ดอกฟ้าจะร่วง ๆ พวงพยอมโรยรา ๆ
ดอกฟ้าจะโรยเมื่อลมโชยมา ถลาลงดินเหมือนรักเราสิ้นไม่มีเยื่อใย ๆ
ดอกฟ้าแต่ก่อน ๆ เคยส่งกลิ่นหอมสลักตรึงใจ ๆ
ยังไม่ทันไรก็ร่วงโรยรา ยังไม่ทันไรก็ร่วงโรยรา
เพลงตามองตา
ตามองตา สายตาก็จ้องมองกัน
รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ จะมารักฉันก็ไม่รัก
จะว่าหลงฉันก็ไม่หลง ฉันยังอดโค้งเธอไม่ได้
เธอช่างงามวิไล ดอกไม้ที่เธอถือมา
เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด
ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิด ๆ เข้าไปอีกหน่อย
สวรรค์น้อยน้อย อยู่ในวงฟ้อนรำ
รูปหล่อขอเชิญมาเล่น เนื้อเย็นขอเชิญมารำ
มองมาในตาหวานฉ่ำ ๆ มะมารำกับพี่นี่เอย
เพลงลา
ออกปากว่าจะลา น้ำตาไหลร่วง
แสนรักแสนห่วง โอ้แม่ดวงดารา
เมื่อถึงกำหนด หมดเวลา
ลาแล้วเธอจ๋า แต่ในอุรานั้นคร่ำครวญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น