วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน

 



        ดินแดนภาคอีสานของไทยหรือที่เรียกกันว่า “ที่ราบสูง” จัดเป็นอู่อารยธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล หลักฐานที่ได้พบในดินแดนภาคอีสานหลายอย่างแสดงว่าเป็นต้นกำเนิดทั้งแบบอย่างศิลปะและการใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าแก่ที่สุดเกท่าที่พบมาทุกแห่งในประเทศไทย จึงนับได้ว่าเป็นดินแดนแห่งพื้นฐานอารยธรรมที่แผ่ขยายและคลี่คลายเปลียนแปลงออกไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม และในที่สุดดินแดนภาคอีสานก็มีเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ


ลักษณะทั่วไปทางสังคม
        สภาพแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไปของชาวไทยในภาคอีสาน ขึ้นอยู่กับความเชื่อและระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม เนื่องจากมาตรการที่ช่วยควบคุมการประพฤติปฏิบัติของประชาชนยังได้รับการยึดถืออยู่อย่างเคร่งครัด และรู้สึกว่าจะมีความมั่นคงมากกว่าทุกภาคด้วยซ้ำ เช่น การมีจารีต ดังที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เป็นเชิงบังคับให้ประชาชนเคร่งครัดในกรอบประเพณีที่ถือปฏิบัติเป็นเรื่องๆ คราวๆ งานฮีตจึงเป็นการทำงานร่วมกันทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อสังคมส่วนรวม โดยมุ่งไปทางบุญทางกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่


        มาตรการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ขะลำ” ซึ่งปัจจุบันออกจะไม่ค่อยเคยชินกันนั้น มีผลที่ให้ประชาชนยึดถือเป็นคติเตือนใจให้สำรวมในการกระทำทุกกรณี ซึ่งมีอยู่หลายร้อยพันอย่างและแยกออกเป็นเรื่องๆ ด้วย เพื่อเหมาะแก่การศึกษาเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น การถือศีลในวันพระ การยกย่องสามีของสตรีที่แต่งงานแล้ว วันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนามีการหยุดการละเว้นงานบางอย่าง ขะลำที่ว่าด้วยประเพณีชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งยอมให้พบปะพูดคุยกันได้แต่ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน ชายหนุ่มนั้นห้ามมิให้ล่วงล้ำย่างกรายไปบนเรือนโดยไม่มีผู้คน หญิงสาวไปไหนมาไหนคนเดียวกลางคืน หรือไปกับชายหนุ่มสองต่อสองแม้กลางวัน ก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วย จึงจดจำกันไว้สอนลูกหลานตลอดมา ตัวอย่างขะลำมีดังนี้


        - กินข้าวก่อนผัวเป็นวัวเข้าตู้ นอนก่อนผัว - ขะลำ


        - นั่งขวางบันได ขวางประตู - ขะลำ


        - ข้ามขั้นบันไดขึ้นเฮือน ตีนเช็ดหัวขั้นได - ขะลำ


        - ย่างเสียงดัง กินข้าวเสียงดัง ฟันไม้ตอกไม้กลางคืน - ขะลำ


        - ฝนตกผ้าฮ้อง ไถนา ขี่ควายเล่น ยกมีดยกเสียม ฟันไม้ - ขะลำ

ฯลฯ


        ลักษณะของหมู่บ้านซึ่งมีผู้คนอาศัยจนเป็นแหล่งชุมชน ก็อาศัยที่ราบริมน้ำหรือริมหนองริมบึง ถ้าส่วนใดมีน้ำท่วมอยู่เสมอและน้ำเจิ่งนองอยู่บ้าน ก็จะขยับขยายอยู่บนโคกบนดอย ส่วนที่อยู่ห่างออกไปจากที่ลุ่มน้ำแถบแม่น้ำลำคูคลองหนองบึง ก็จะแสวงหาที่ซึ่งมีต้นไม้ชนิดเนื้ออ่อนด้วยทราบดีว่าภายใต้แผ่นดินส่วนนั้นจะมีน้ำ การอยู่รวมกันใกล้ชิดกันมาก ๆ จนดูรวมกันเป็นกระจุกนี้มีผลให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน ทำสิ่งใดก็ทำด้วยกัน การออกเรือน หรือ “ออกเฮือน” ของหนุ่มสาวที่ปลงใจแต่งงานกันนั้น ก็มักจะอยู่กับพ่อตาแม่ยายสักพักหนึ่ง แล้วจึงค่อยขยับขยายไปอยู่ที่ทางของตน ซึ่งอาจได้รับแบ่งที่ดินจากผู้ใหญ่ก็ได้ มาในปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินออกจะทำความลำบากให้มากขึ้น จึงมักเปลี่ยนจากออกเรือนไกลๆ เป็นปลูกเรือนอยู่ใกล้บ้านพ่อแม่ แล้วใช้เวลาว่างจากการทำนาไปรับจ้างยังจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งก็สร้างปัญหาอยู่มีน้อยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ชาวไทยในภาคอีสานก็ยังอุดมไปด้วยมรดกสมบัติทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆอีกมาก โดยเฉพาะทางด้านการแสดงพื้นบ้าน ที่เป็นเหมือนสื่อแสดงให้เห็นความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์


        การละเล่นที่สนุกสนานเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการงานของชาวไทยภาคอีสานนั้น มีอยู่หลายอย่างหลายประเภท แต่ที่ออกจะเป็นที่นิยมกันมากกว่าอย่างอื่น คือ “หมอลำ” การแสดงหมอลำแต่ละครั้งมีคนดูกันแน่นถึงรุ่งสว่าง เอมีหมอลำก็ต้องมีหมอแคนด้วยเป็นของคู่กัน ดนตรีพื้นเมืองชิ้นนี้กลายเป็นสิ่งมีค่าควรแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง ยิ่งการรำเซิ้งแบบต่าง ๆ ด้วยแล้ว นับว่าเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ำแบบใคร นอกจากนั้นยังมีการฟ้อนอีกด้วย เทศกาลนักขัตฤกษ์ใด ๆ ก็มักจะคลาคล่ำไปด้วยหมอลำ หมอแคน เซิ้ง ฟ้อน และการแสดงอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาพทางสังคมของชาวไทยภาคอีสานว่า มีความสนุกสนานร่าเริงและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวไทยภาคอื่นในเรื่องของการรักถิ่นกำเนิด

การแสดงหมอลำ ของชาวอีสาน


        ตามปกติของการดำเนินชีวิตแม้ว่าจะต้องตรากตรำทำงานต่าง ๆ แต่ก็จดจำกันได้ดีถึงวันสำคัญของเดือนแทบจะกล่าวได้ว่าถามใครก็ได้คำตอบอย่างถูกต้องทุกคน เพราะชาวอีสานมักจะสอนลูกหลานให้จดจำเอาไว้เป็นทอด ๆ เช่น เมื่อถึงเดือนสิบถามใคร ๆ ก็ต้องตอบได้ว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันโดนตา คือ วันที่เขาจะร่วมกันทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน ตอนเช้าขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงไปถวายอาหารพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ งานบุญข้าวจี่ ทำกันในเดือน ๓ คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ก็จะลุกขึ้นเพื่อปิ้งข้าวจี่ กันตั้งแต่ตี ๔ หรือ ตี ๕ ข้าวจี่คือข้าวเหนียวปั้นแล้วปิ้งไฟจนเหลืองแล้วชุบไข่ โดยเสียบไม้ปิ้งไฟถ่าน ซึ่งสุกแดงไม่มีเปลวไฟ งานเหล่านี้แม้ว่าจะไม่มีการแสดงอะไรประกอบ แต่ก็ไม่วายสนุกสนานกันด้วยเสียงเพลงบ้าง เสียงหัวเราะจากการหยอกเอินกันบ้าง


        การสู่ขวัญซึ่งนิยมกระทำกันอย่างจริงจังก็เป็นเรื่องของความจริงใจที่แสดงออกให้เห็นอยู่บ่อยๆ แม้ว่าพิธีสู่ขวัญนี้จะสืบเนื่องมาจากพิธีของพราหมณ์ก็ตาม แต่ก็ได้รับการเคารพนับถืออย่างยิ่ง ทำให้เกิดการแต่งคำสู่ขวัญหลายแบบหลายประเภท มีทั้งสู่ขวัญเด็ก สู่ขวัญเณร สู่ขวัญบ่าวสาวกินดอง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น