“ระบำศรีชัยสิงห์” เป็นระบำโบราณคดีที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่จากจินตนาการศิลปกรรมภาพจำหลัก ซึ่งภาพจำหลักนี้ ได้ลอกเลียนแบบมาจากปราสาทเมืองสิงห์ เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดัดแปลงมาจากท่ารำของนางอัปสรบายน ในสมัยขอมบายน มาเป็นหมู่ระบำนางอัปสรฟ้อนรำถวายพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นพระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
สาเหตุที่ตั้งชื่อว่าศรีชัยสิงห์ คิดว่า น่าจะนำมาจาก ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เรียกเมืองกาญจน์ ว่า ศรีชัยยะสิงหปุระ
ประดิษฐ์ท่ารำโดย นางเฉลย ศุขวนิช ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย ของวิทยาลัยนาฏศิลปกรมศิลปากร การแต่งกายเลียนแบบภาพจำหลักนางอัปสร ปราสาทเมืองสิงห์ บรรเลงโดยเพลงเขมรชมจันทร์และเพลงเขมรเร็วการแสดงเพื่อสงเสริมแหล่งท่องเที่ยวของไทย โดยการแสดงชุดนี้มีที่มาจากแหล่งโบราณคดีที่จังหวัดกาญจนบุรี คือปราสาทเมืองสิงห์
ท่ารำนางอัปสรบายน ในปราสาทของกัมพูชา
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำศรีชัยสิงห์๑. ระนาดเอก ๒. ระนาดทุ้ม ๓. ระนาดเอกเหล็ก ๔. ระนาดทุ้มเหล็ก ๕. ฆ้องวงใหญ่ ๖. ฆ้องวงเล็ก ๗. ปี่นอก ๘. โทน ๙. ฉิ่ง ๑๐. ฉาบเล็ก ๑๑. กรับ ๑๒. โหม่ง
เครื่องแต่งกายระบำศรีชัยสิงห์ เครื่องแต่งกายมีลักษณะกลิ่นไอของขอมบายน ตัวเสื้อสีน้ำตาลรัดกระชับเข้ารูปนักแสดง ใส่กรองคอทอง สังวาลสองเส้นไขว้กันบนตัวเสื้อ
ตัวกระโปรงจะเป็นเอวต่ำจับจีบด้านหน้าสีทอง ปักด้วยเลื่อมทองตรงขอบเอว เครื่องประดับทอง ทรงผมเกล้ามวยตั้งสูงมากประดับด้วยริบบิ้นทอง
ส่วนนักแสดงตัวเอก ทรงผมสวมมงกุฏลักษณะลวดลายขอม
เครื่องแต่งกายตัวเอก
เสื้อ รัดรูปสีน้ำตาลอ่อน คอกลม แขนสั้นเหนือศอก
ผ้า นุ่ง เป็นกระโปรงสำเร็จรูปแบบป้าย ทบซ้อนหน้า สีเหลืองทอง ยาวคลุมเข่า มีลูกไม้แถบสีทองเดินลายและปักเลื่อมดอกสีทอง ตัดเย็บด้วยผ้าผาดไทยชนิดมีลวดลายในตัว
เครื่องประดับ
ศีรษะของตัวเอก ประกอบด้วย
๑. กะบังหน้า
๒. ยี่ก่า
๓. เกี้ยว ๔. พู่หนัง ๕. สาแหรก ๖. ปลียอด ๗. ดอกไม้ไหว
๘. ลายท้าย
เครื่องประดับ
รัดต้นแขน
สร้อยคอ ๑ เส้น
กำไลมือ
กำไลเท้า
กรองคอ สังวาล ๒ เส้น (ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี)
"ประวัติปราสาทเมืองสิงห์"
ปราสาทเมืองสิงห์ มีจุดมุ่งหมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน จากการขุดตกแต่งของกรมศิลปากรที่ค่อยทำค่อยไปตั้งแต่ พ.ศ. 2478 แต่มาเริ่มบุกเบิกกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2517 แล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2530 จึงสวยงามดังที่เห็นอยู่ในวันนี้ ปราสาทเมืองสิงห์นี้กล่าวว่าสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720 - 1780) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้
จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จารึกชื่อเมือง 23 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ ศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมือง ปราสาทเมืองสิงห์ นี่เอง และยังมีชื่อของเมือง ละโวธยปุระ หรือ ละโว้ หรือลพบุรี ที่มีพระปรางค์สามยอด เป็นโบราณวัตถุร่วมสมัย
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน รัชกาลที่ 4 โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงยุบเมืองสิงห์เหลือแค่ตำบล
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น