วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง




        การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ส่วนมากจะได้รับการพัฒนาขึ้นจากพื้นเพเดิมจนมีแบบอย่างที่ซับซ้อน และยากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นแบบบทของนาฏดุริยางค์สังคีตประจำชาติ แต่กระนั้นการแสดงแบบดั้งเดิมพื้นบ้านก็ยังมีอยู่ไม่น้อย เป็นการแสดงที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีการมากนัก อาจจะมีการไหว้ครูตามแบบขนบประเพณีทั่วไปบ้าง


        การแสดงพื้นบ้านของภาคกลาง คงจะต้องเปิดฉากกันที่ท้องถิ่นชนบท โดยเฉพาะแถบจังหวัดภาคกลาง มีชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ตลอดจนกาญจนบุรีเป็นต้น เนื่องจากท้องถิ่นเหล่านี้มีที่ราบมาก การทำไร่ทำนาจึงเป็นของคู่กับการดำเนินชีวิตตลอดมา ผลผลิตทางเกษตรกรรมจึงได้จากข้าวมากกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนั้นก็มีผลไม้อีกหลายอย่างที่ออกจะขึ้นชื่อกว่าทุกภาค แต่ก็ยังมีสิ่งที่ด้วยหรือไม่มีอย่างที่ภาคอื่นๆ มีอีกหลายอย่างเหมือนกัน


ลักษณะทั่วไปของสังคม


        ลักษณะของภูมิประเทศในภาคกลาง ได้กล่าวแล้วว่าส่วนมากจะเป็นทีราบ ซึ่งเหมาะกับการเกษตรกรรมอีกประการหนึ่งคือมีแม่น้ำดุจเส้นโลหิตสำคัญไหลผ่านหลายสาย ด้วยเป็นแหล่งซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวอันเป็นที่แม่น้ำหลายสายไหลลงสู่ทะเล นอกจากนั้น ก็ยังถือว่าภาคกลางมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจการปกครองมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หัวเมืองอื่นๆ ที่อยู่นอกออกไปก็มีข้าราชบริพารออกไปกำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ มาในปัจจุบันก็ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปประจำการควบคุม ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ย้อนขึ้นไปในสมัยโบราณตั้งแต่ระยะต้นของสมัยอยุธยาก็ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย การปกครอง การศาสนา และอื่น ๆอีกมากมาย สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี แม้ว่าจะยืดเยื้อหลายครั้งหลายครา และกระทบไปทั่วผืนแผ่นดินไทย แต่ก็กลางก็รับศึกหนักกว่าทุกภาคเพราะว่าข้าศึกส่วนมากจะมุ่งเข้าตีเมืองหลวง คือกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ชาวไทยภาคกลางจึงออกจะกรำศึกสงครามจนกลายเป็นความรู้สึกหรือจิตใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเตรียมพร้อมในการอพยพหนีเข้าป่าเข้ารก สมัยโบราณนั้นถ้าเด็กๆ ร้องไห้กันงอแงผู้ใหญ่จะขู่ว่า “ร้องไปเถอะ เดี๋ยวพม่ามาละก็โดนจับตัวแน่...” เด็กสมัยโบราณก็เงียบทันที เพราะเป็นไม้เบื่อไม่เมากันมานาน หัวเมืองที่ออกจะมีชื่อเสียงในการรบทัพจับศึกแบบชาวบ้านๆ ก็ได้แก่ กลุ่มชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น ตั้งค่ายสู้รบจนตายกันทั้งค่ายก็เพราะจะรักษาอธิปไตยของชาติ


        ภาคกลางมักเป็นที่ปรารถนาของคนในชนบท ที่จะได้เข้ามาเยี่ยมชมหรือเข้ามาสัมผัสไม่ว่าจะด้านใด เช่น พระสงฆ์ที่สนใจเล่าเรียนพระธรรมวินัยใคร่สอบเอาเปรียญ ก็มักเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ จนมีคำพูดกันว่า “คนในเมืองหลวงใกล้ปืนเที่ยง” คือจะมีการยิงปืนกันในตอนเที่ยงตรง หากไกลออกไปจนถึงชนบทก็ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงปืนจนพูดกันว่า “ข้ามันอยู่ไกลปืนเที่ยง” การจัดชั้นของผู้คนก็มีมากกว่าในชนบท เพราะว่าใกล้ชิดกับขุนนางข้าราชการหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ตลอดจนราชสำนัก จนมีคำพูดว่า “ชาววัง” ซึ่งก็ได้แก่ผู้คนหรือสตรีที่ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นข้าหลวง เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายใน ซึ่งจะได้รับการฝึกทั้งการเขียนการอ่าน กิริยามารยาท การฝีมือต่าง ๆ เป็นอย่างดี สามารถยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นได้ โดยเป็นที่ปรารถนาของชนชั้นสูงจะได้ไว้เป็นแม่ศรีเรือน


กิริยา การแต่งกายของสาวชาววัง


        คนในภาคกลางนอกเมืองหลวงออกไปก็ดูจะคล้ายๆ กับชนบทท้องถิ่นอื่นๆ แต่แนวโน้มเรื่องความนิยมชมชื่นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง สิ่งที่นิยมกันในเมืองหลวงมักแพร่ขยายออกมาสู่ชนบทภาคกลางมากกว่าภาคอื่นๆเพราะอยู่ในระยะที่จะติดต่อคมนาคมถึงกันได้ง่าย การรวมกลุ่มผู้คนเพื่อร่วมทำการอย่างใดอย่างหนึ่งของคนไทยภาคกลางก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคิดประดิษฐ์การละเล่นที่สนุกสนาน เช่น การเล่นเพลงพื้นเมืองต่าง ๆ ตลอดจนการรำวงที่นิยมแพร่หลายออกไปทั่วประเทศ ก็มีที่มาจากภาคกลางเป็นส่วนมาก เพราะเมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว ย่อมจะมีการพูดจาสังสรรค์หยอกล้อกัน ดังนั้น การละเล่นแบบโต้คารมเป็นคำกลอนที่คล้องจองกัน พร้อมกับการขยับแขนขา ขยับมือกรีดกรายร่ายรำก็เกิดขึ้นด้วย


        ออกไปจากเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ ก็จะเป็นชนบทชานเมืองจนถึงเขตจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย ทุ่งนาเขียวขจีสมกับเป็นภาคพื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ความเป็นอยู่ของคนในชนบทเป็นไปอย่างพื้นเพเดิมอยู่เป็นอันมาก การเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ก็มีอยู่ทั่วไปในรูปของต่างคนต่างทำ ผลผลิตที่แต่ละครอบครัวได้รับจึงไม่มากพอที่จะสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะขยายกิจการกว้างขวางขึ้นที่ดินมากขึ้น แต่ผลผลิตที่มากขึ้นก็กลายเป็นการกดราคาตัวเองไม่ให้สูงตามไปด้วย เพราะปริมาณเกินความต้องการอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็หาได้ทำลายเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปเสียหมดทุกอย่าง เพราะเหตุการณ์ต่างๆ จะผันแปรไปเองตามกาลเวลา คนไทยภาคกลางจึงมีจิตใจที่มั่นคงในความเปลี่ยนแปลงไปด้วย และทุกคนก็จะพูดว่า “ยังไงๆ ก็ไม่ถึงกับอดตาย”


        ในสมัยก่อนคนไทยในภาคกลางจะมีอยู่เฉพาะในภาคกลางเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีคนภาคอื่นๆเข้ามาแทรกตัวอยู่ร่วมสังคม จนกระทั่งกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ หาคนไทยภาคกลางแท้ๆ ได้ยาก เพราะเท่าที่มีอยู่เดิมก็โยกย้ายกันออกไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เสียมากแล้ว เหลือคนภาคกลางแท้ๆ ในกรุงเทพฯจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น เอกลักษณ์ของคนภาคกลางในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นงานธุรกิจชนิดทุกลมหายเข้าออกก็ว่าได้


        คนไทยภาคกลางในชนบทรอบนอกๆ ออกไปจากกรุงเทพฯ ก็รับกระแสงานธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปบ้างมากน้อยตามแต่ความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง จึงทำให้การแสดงพื้นบ้านไม่ค่อยมีการสืบทอดกันมากนัก โดยสมัยก่อนเป็นรุ่นพ่อกับรุ่นลูก แต่ปัจจุบันกลายเป็นรุ่นปู่กับรุ่นหลาน ซึ่งจะค่อยๆ ห่างไกลกันออกไปตามกาลเวลา ภาคกลางจึงเป็นภาคที่น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่มากกว่าภาคอื่นๆ อีกประการหนึ่งก็คือ แสงสีแห่งอารยธรรมยุคใหม่ของภาคกลาง ยั่วเย้าท้าทายให้คนไทยคลั่งไคล้ได้มากกว่าการแสดงพื้นบ้านอันบริสุทธิ์ซึ่งมีที่มาแต่ดั้งเดิม จึงเป็นที่หวั่นวิตกไปว่า ความดีวามของการแสดงพื้นเมืองของไทยจะสูญหายจากความทรงจำไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมในสังคมนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น