วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติกีฬามวยไทย

ประวัติกีฬามวยไทย

  
     มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและป้องกันชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝนวิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธรบในสมัยโบราณเช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าสู้ติดพันประชิดตัวก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้น ผู้ใหญ่หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดาอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดขุนพล หรือนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
 
 
     มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวแต่แตกต่างไปจากมวยสากล คือนอกจากจะใช้หมัดชกคู่ต่อสู้แล้ว ยังสามารถใช้เท้าและศอกต่อสู้ได้อีก การใช้หมัดชกในแบบมวยไทย นอกจากจะมีการชกตรง ชกฮุก และอัปเปอร์คัท เหมือนกับแบบมวยสากลแล้ว มวยไทยยังมีการชกแบบหมุนตัว เหวี่ยงหมัดกลับถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้จ้องดูและไม่ก้มศีรษะลง มักจะถูกหมัดเหวี่ยงกลับของคู่ต่อสู้ถึงกลับน้อกเอ๊าท์ได้ หมัดเหวี่ยงกลับเป็นหมัดหนึ่งคล้ายกับหมุนตัวเหวี่ยงหมัดกลับ แต่ใช้ข้อมือหรือหลังมือทุบหรือต่อสู้ นักมวยไทยทั่ว ๆ ไปยังใช้วิธีการตามแบบชกตามแบบเหล่านี้อยู่และนอกจากนั้นยังใช้อวัยวะอย่างอื่นช่วยได้อีกหลายวิธี เช่น ใช้เท้า เตะต่ำ เตะสูง เตะตรง และถีบ ซึ่งจะใช้ทั้งปลายเท้าฝาเท้า หลังเท้าและส้นเท้า นักมวยไทยมีความชำนาญมากในการใช้เท้า ส่วนใหญ่เป็นการเตะและถีบ ส่วนการใช้เข่า นักมวยไทยก็ใช้ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น กระโดดตีเข่า นอกจากนั้นยังรู้จักใช้ศอกซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง วิธีตีศอกก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือ ศอกตี หมายถึงกดปลายศอกลง โดยแรง ศอกตัด คือเหวี่ยงศอกขนานกับพื้น ศอกงัด คือ งัดปลายศอกขึ้นหรือยกปลายศอกขึ้น ศอกพุ่ง คือ พุ่งศอกออก ไปยังคู่ต่อสู้ ศอกกลับ คือ การหมุนตัวกลับพร้อมกับตีศอกตามแบบต่าง ๆ ไปด้วย
     การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว ต่อสู้กันจริง ๆ และหวาดเสียวตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้ นักมวยสมัยเก่าต้องใช้ด้ายดิบชุบแป้งให้แข็ง มักเล่ากันว่าใช้น้ำมันชุบเศษแก้ว เพื่อให้มีพิษสงยิ่งขึ้น แต่ก็ได้มีผู้คัดค้านว่าไม่เป็นความจริงที่จริงนั้นคือไปเอาด้ายผูกศพพันมือ ซึ่งมีน้ำเหลืองติดเป็นเหมือน ๆ แป้งชุบเศษแก้ว ทั้งนี้เพราะต้องการความขลัง ชนะคู่ต่อสู้ได้ในทางจิตใจมากกว่า ด้ายสายสิญจน์เป็นเส้นขนาดดินสอดำ พันมือตั้งแต่สันมือถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อมือ ( สันหมัด ) เป็นรูปก้นหอยเรียกว่า “ คาดเชือก ” ซึ่งไม่มีการสวมนวมเหมือนๆ อย่างสมัยปัจจุบัน ฉะนั้นก็แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้เลือดซึมออกมาทันที ในสมัยก่อนเมื่อครั้งยังไม่มีกติกาข้อห้ามมากนักกับทั้งไม่รัดกุมเหมือนสมัยปัจจุบัน นักมวยทั้งสองฝ่ายจะต้องต่อสู้กันอย่างระมัดระวังศีรษะก็ใช้ชนคู่ต่อสู้เพียงแต่ห้ามกัดกันเท่านั้น ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงกติกาการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
     การแข่งขันมวยไทยในปัจจุบันนี้ นักมวยต้องสวมนวมขนาด 4 ออนซ์ และแต่งกายแบบนักกีฬามวย คือ สวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ ส่วนผู้ใดจะสวมปลอกรัดข้อเท้าและจะมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้ ในการแข่งขันมีผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวที 1 คน มีผู้ตัดสินให้คะแนนอยู่ข้างเวที 2 คน มีผู้จับเวลา 1 คน และมีแพทย์ประจำเวที 1 คน จำนวนยกในการแข่งขัน ทั้งหมดมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนักของนักมวยเหมือนกับหลักเกณฑ์ของนักมวยสากล ผู้ตัดสินมีอำนาจหน้าที่ตามกติกาการแข่งขัน อวัยวะที่ใช้ในการแข่งขันได้ คือ หมัด เท้า เข่า และศอก เข้าชก เตะ ถีบ ทุบ ถอง ตี ฯลฯ     ได้ทุกส่วนของร่างกายโดยไม่จำกัดที่ชก
     ก่อนการแข่งขันนักมวยทั้งสองจะทำการไหว้ครูและร่ายรำ คือ กราบสามครั้งเพื่อระลึกถึงบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอคุณพระศรีรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยคุ้มครองตน และขอให้ได้ชัยชนะด้วยความปลอดภัยในที่สุด แล้วจึงร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่ได้สอนไว้ให้โดยตลอด นักมวยทุกคนจะสวม “ มงคล ” ที่ศีรษะมงคลนี้ทำด้วยเส้นด้ายดิบหลายเส้นรวมกันแล้วพันหุ้มด้ายผ้าโตขนาดนิ้วมือ ทำเป็นรูปวงเพื่อสวมศีรษะ การสวมมงคลไว้ก่อนแข่งขันนี้เป็นขนบธรรมเนียมของประเพณีไทยถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งครูอาจารย์ได้ทำพิธีปลุกเสกและให้ความเป็นสิริมงคลไว้แก่ตน ฉะนั้น นักมวยจะสวมมงคลไว้ตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครูและร่ายรำ และจะถอดออกจากศีรษะได้ในเมื่อจะเริ่มการแข่งขัน ในระหว่างการไหว้ครูและร่ายรำนั้นจะมีดนตรีบรรเลงประกอบตามทำนองดนตรีไทยเป็นจังหวะช้า ๆ เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ ปี่ชวา 1 กลองแขก 2 และฉิ่ง 1 เมื่อถอดมงคลออกแล้ว กรรมการผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยทั้งสองมาจับมือกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพร้อมกันนั้นก็จะตัดเตือนกติกาสำคัญๆ อันเกี่ยวกับการแข่งขันให้นักมวยทั้งสองได้ทราบครั้นเมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ดนตรีก็บรรเลงในทำนองเร่งเร้าให้นักมวยทั้งสองเกิดความรู้สึกฮึกเหิมและมุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด การร่ายรำและต่อสู้โดยมีดนตรีประกอบนั้น นอกจากจะถือว่าเป็นศิลปะแล้วยังเป็นประเพณีอันดีงามของชาวไทยมาแต่โบราณกาลจนไม่อาจจะทิ้งให้สูญหายไปเสียได้
     ในปัจจุบัน การแข่งขันมวยไทยเป็นกีฬาอาชีพโดยสิ้นเชิง เฉพาะในกรุงเทพฯมีการแข่งขันเป็นประจำเกือบทุกวัน ๆ 2 รอบก็มี สำหรับการควบคุมมวยอาชีพขึ้นอยู่กับกฎข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยและไม่มีสมัครเล่นมวยสากลที่มิใช่อาชีพก็มีเพียงการฝึกสอนในสถาบันการพลศึกษา เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อมิให้ศิลปะมวยไทยสูญหายไปและเพื่อรักษาไว้ซึ่งการกีฬาประจำชาติอันเป็นศิลปะในการต่อสู้ชาวต่างประเทศที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มักจะไม่ยอมพลาดโอกาสที่ไปชมการแข่งขันมวยไทยจะต้องพยายามเข้าชม แข่งขันมวยไทยให้ได้ ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก เพราะมวยไทยมีวิธีการชกที่แปลกที่สุดในโลก และยิ่งกว่านั้นนักมวยไทยยังได้เคยเดินทางไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น