ประวัติศาสตร์การเมืองพม่า
การเมืองพม่าช่วงตั้งแต่ราชวงศ์พุกาม (Bagan Dynasty) จนถึงช่วงสงครามกับอังกฤษ (ค.ศ.1044 - 1886) นั้น เป็นการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มชาติพันธ์อย่างน้อยสี่กลุ่มที่อาศัยอยู่ในรัฐพม่าสมัยใหม่ในปัจจุบัน กลุ่มที่โดดเด่นในการชิงอำนาจภายในก็คือ
- กลุ่มเชื้อสายพม่า (Burman) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มน้ำอิระวดี
- กลุ่มมอญหรือตะเลง (Talaings) ที่อยู่ทางตอนใต้
- ไทใหญ่หรือฉาน (Shan) อาศัยทางตอนเหนือกลางและทางตะวันออกทางเทือกเขาที่ล้อมรอบแม่น้ำอิระวดี และ
- กลุ่มชาวอาระกัน หรือยะไข่ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวทางตะวันตก
- ช่วงแรก กษัตริย์พม่าปกครองดินแดนเพื่อนบ้านสถาปนาราชอาณาจักรปะกัน ราชวงศ์นี้ปกครองพม่าอยู่สองศตวรรษ กระทั่งกุบไลข่าน เข้ามายึดครองพม่า และต่อมากษัตริย์ไทใหญ่ก็ครองอำนาจโดยมีศูนย์กลางที่อังวะ
- ช่วงที่สองของความสงบคือ สมัยราชวงศ์ตองอูที่กษัตริย์พม่าครองอำนาจอีกครั้งช่วง ค.ศ. 1486 – 1752 เป็นช่วงที่พม่าสามารถมีชัยเหนือกลุ่มไทใหญ่ได้ และ
- ช่วงสุดท้าย คือ ในสมัยราชวงศ์คอนบวงซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่มัณฑะเลย์ทางตอนเหนือของพม่าระหว่าง ค.ศ. 1752 - 1886 ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (Josef Silverstein : 1977: 4 - 5)
ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าตั้งแต่สมัยอาณานิคม
การครอบครองพม่าของอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นผลมาจากลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ที่ต้องการแสวงหาแหล่งป้อนวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมในชาติตะวันตก หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเพื่อรองรับการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย (นิ นิ เมียนต์, 2543: 2 )
อังกฤษนั้นได้แย่งชิงกับโปรตุเกสเพื่อแผ่อำนาจในอินเดียด้วยการตั้งสถานีการค้าในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วค่อยๆ แย่งเมืองท่าสำคัญของโปรตุเกสทั้งในอ่าวเปอร์เซียและอินเดียไป อังกฤษตั้งจุดยุทธศาสตร์สำคัญของตนไว้ในอินเดีย 3 แห่ง คือ มัทราช ในปี ค.ศ.1639 บอมเบย์ ค.ศ.1661 และกัลกัตตา ค.ศ. 1679 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 32)
พม่าทำสงครามกับอังกฤษ
ในปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายอำนาจของราชวงศ์คองบอง นับตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกคือ พระเจ้าอลองพญา จนถึงกษัตริย์องค์ที่ 7 คือพระเจ้าบายีดอ หรือกว่าครึ่งศตวรรษนั้น พม่าได้ขยายพรมแดน ด้านตะวันตกของตนจนประชิดเมืองจิตตะกองซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ผลของสงครามหลายครั้งนี้ ทำให้ผู้คนที่อยู่ตามพรมแดนอพยพลี้ภัยเข้าไปในเขตการปกครองของอังกฤษ พม่าพยายามติดตามผู้คนเหล่านี้เข้าไป และอังกฤษก็ฉวยโอกาสนี้ทำสงครามกับพม่าที่รุกไล่ผู้คนเข้ามาในจิตตะกองและอัสสัม ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างนโยบายแบบศักดินาของพม่ากับนโยบายอาณานิคมของอังกฤษ สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรกเริ่มด้วยสงครามทางเรือ อังกฤษยกทัพเรือของตนพร้อมด้วยทหาร 11,000 คน เข้าโจมตีเมืองย่างกุ้ง อังกฤษใช้เวลา 6 เดือนถึงตีเมืองได้ สงครามยืดเยื้ออยู่ถึง 2 ปี อังกฤษยกพลมาเพิ่มเติมทางบกและรุกไล่เข้าไปถึงเมืองแปร จนทำให้พม่ายอมสงบศึกและตกลงทำสนธิสัญญากันเมื่อต้นปี 1826 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544 หน้า 35)
การสงครามกับอังกฤษนั้น พม่าค่อนข้างโชคร้ายในเรื่องทั้งที่ตั้งของประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับทั้งอินเดียที่ตกเป็นของอังกฤษไปก่อนแล้ว และยังติดต่อกับจีนอันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของเหล่าประเทศตะวันตกขณะนั้นเพื่อขยายเส้นทางเพื่อการค้า อีกประการหนึ่งคือพม่าดูเหมือนโชคร้ายในแง่ของผู้นำด้วย เนื่องจากเป็นสมัยที่มีกษัตริย์ที่ไม่เข้มแข็งนัก ยกเว้นเพียง พระเจ้ามินดง ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ปี ค.ศ. 1851 – 1878 ใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ของไทย ดูเหมือนจะเป็นกษัตริย์องค์เดียวในพม่าที่ทรงมีความสามารถยิ่ง ทรงคัดค้านนโยบายของพระเจ้าพุกามมินในการทำสงครามครั้งที่สองกับอังกฤษ และทรงเห็นว่าทางรอดของพม่าคือการทำไมตรีและยินยอมตามข้อเรียกร้องของอังกฤษ ดังนั้นต่อมาจึงทรงขึ้นครองราชย์ด้วยการรัฐประหารในราชสำนัก พระองค์ทรงพาพม่ารอดพ้นอังกฤษได้ในช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์กว่าสองทศวรรษและรักษาดินแดนพม่าตอนบนที่เหลือไว้ แต่เมื่อพระโอรสคือพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปีค.ศ. 1878 และในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) อังกฤษบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น และจับกุมพระเจ้าธีบอพร้อมพระนางศุภยลัตพระมเหสี และเนรเทศไปอยู่อินเดีย ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์คอนบวงซึ่งปกครองพม่าเป็นเวลา 133 ปี มีกษัตริย์ทั้งสิ้น 11 พระองค์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2533: 40- 41)
ในสมัยพระเจ้ามินดงซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงภูมิความรู้นั้น เป็นช่วงแห่งการปฏิรูปภายใน โดยเฉพาะในด้านสถาบันทางการเมืองพม่าและกระบวนการทำงาน อันเนื่องมาจากความพยายามที่จะทำให้อังกฤษเห็นว่าทางพม่าเองก็มีความเป็นสากลมากขึ้น (Than Myint-U, 2001: 105) ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นคุณค่าของสื่อมวลชน ที่เริ่มขึ้นในพม่ายุคนี้เช่นกัน
เมื่ออังกฤษยึดพม่าได้หมดทั้งประเทศ ได้เอาพม่าไปเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย นโยบายที่อังกฤษใช้ปกครองพม่าที่เรียกว่าแบ่งแยกและปกครองได้เพิ่มความแตกแยกภายในพม่า กล่าวคืออังกฤษแบ่งพม่าเป็นสองส่วนคือ พม่าแท้(Proper Burma) ใช้การปกครองโดยตรงและส่วนบริเวณภูเขา (Hill Areas) หรือเขตชายแดนใช้การปกครองโดยอ้อม. โดยส่วนที่เป็นพม่าแท้นั้น อังกฤษได้ปกครองพม่าในรูปแบบของสภานิติบัญญัติ ภายใต้การบริหารงานของข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ เพราะเห็นว่าพม่ายังล้าหลังอินเดียอยู่มาก จึงยังไม่เหมาะที่จะมีรัฐบาลของตนเอง แต่เขตที่เป็นภูเขาที่ยังถูกมองว่าล้าหลัง อังกฤษยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก การปกครองตามแคว้นต่างๆ ยังอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองเดิม แต่ให้อยู่ในการดูแลและคำแนะนำจากข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 14)
แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษมิได้ให้ความสนใจต่อพม่าอย่างแท้จริง อันเป็นเหตุให้มีการประท้วงต่อมาเมื่อมีขบวนการชาตินิยม โดยเมื่ออังกฤษได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในการที่จะผลิตข้าวจำนวนมาก โดยปรับปรุงดินแดนพม่าตอนล่างเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อหล่อเลี้ยงอาณานิคมอินเดีย ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นมากในขณะนั้น ทำให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจพม่าไปด้วย มีผู้อพยพเข้ามาเพื่อหักร้างถางพงเพื่อทำนาข้าวจำนวนมาก พม่าได้เปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบพอเลี้ยงตัวเอง กลายเป็นการผลิตเพื่อส่งออกตามแบบทุนนิยมของอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีแรงงานจากต่างชาติเข้ามา ทั้งจากทั้งจีนและอินเดีย (โดยมากเป็นชาวอินเดีย) แต่ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ชาวนาส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน มีหนี้สินจากการกู้ยืมมาทำทุนในการเพาะปลูก(โดยมากผู้ให้กู้คือชาวอินเดีย) ต่อมาชาวนาก็ถูกยึดที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวพม่าเกลียดชังชาวต่างชาติมาก โดยเฉพาะชาวอินเดียและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมต่อต้านอังกฤษ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 56- 57)
ขบวนการชาตินิยมและพระสงฆ์
ขบวนการชาตินิยมพม่า เป็นปรากฏการณ์ของขบวนการในอุษาคเนย์ที่ต่อต้านอำนาจเจ้าอาณานิคม เพื่อปลดปล่อยตนเองเป็นเอกราช เมื่อแรกเริ่มขบวนการในพม่าได้อิทธิพลจากทั้งพระพุทธศาสนาและขบวนการสมัยใหม่ โดยเมื่ออังกฤษเข้ามามีอำนาจนั้นไม่ได้ให้ความสนใจต่อสถาบันทางศาสนา ดังนั้นจึงให้เสรีภาพด้านศาสนาอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันองค์การศาสนาก็ถูกละเลย และเกิดความปั่นป่วนขึ้น ทำให้พระสงฆ์พม่าไม่พอใจมาก ต่อมาพระสงฆ์ได้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น อันเนื่องมาจากการที่ระบบกษัตริย์ถูกทำลายไป พระสงฆ์จึงกลายเป็นผู้นำทางจิตใจกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่
ในระยะแรกของขบวนการชาตินิยม พระสงฆ์จึงมีบทบาทในการเป็นผู้นำประชาชนในการประท้วงด้านวัฒนธรรม เช่น ชักชวนให้ชาวพม่าเคร่งครัดต่พุทธศาสนาและประเพณีดั้งเดิม เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่ออังกฤษ และยังมีการประท้วงอีกหลายรูปแบบ ตั้งแต่การประท้วงเชิงวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้อังกฤษทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การอดอาหารประท้วง อย่างกรณีของพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ อู วิสาระ ได้อดอาหารประท้วงถึง 166 วันจนมรณภาพ ต่อมาขบวนการชาตินิยมมีการประสานกันมากขึ้นทั้งพระและฆราวาส
ในปี ค.ศ. 1906 มีการก่อตั้งสมาคมชาตินิยมกลุ่มแรกขึ้นโดยมีชื่อว่า Young Men Buddhist Association (YMBA) หรือสมาคมชาวพุทธหนุ่มภายหลังเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่ผู้นำนักศึกษาพม่าเริ่มมีบทบาทและใช้คาว่า Buddhist เพื่อแสดงความตรงข้ามกับ Christian ของชาวอังกฤษ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 57 - 59)
สมาคมชาวพุทธหนุ่มประสบความสำเร็จอย่างมาก ในกรณีการประท้วงห้ามสวมเกือก (No Footwear) เป็นการต่อต้านที่ฝรั่งสวมรองเท้าเข้าวัด เพราะคนพม่านั้นจะไม่สวมรองเท้าเข้าวัด ต้องถอดตั้งแต่บริเวณเข้าวัดทีเดียว ชาวพม่าถือว่าการกระทำของฝรั่งลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาและชาวพม่ามาก การประท้วงครั้งนี้ได้ผลอย่างยิ่ง กลายเป็นจุดร่วมของความรู้สึกชาตินิยมพม่า เมื่อพ.ศ. 2461 ทำให้ชาวอังกฤษต้องยอมถอดเกือกเข้าวัด
การนำความศรัทธาในพุทธศาสนามาเป็นจุดร่วมของความรู้สึกชาตินิยม ไม่ได้เกิดจากกรณี”ห้ามสวมเกือก”เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อันเนื่องจากฝรั่ง “ผู้สวมเกือก” (ตั้งแต่ก่อนพม่าตกเป็นของอังกฤษ) มีการขูดรีดทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเกิดความอดอยากขาดแคลนถึงขั้นปล้นชิงข้าวกันกิน และเกิดจากการถูกลบหลู่สิ่งที่ชาวพม่าเคารพบูชา เช่น การอพยพของชาวพม่าจำนวนมากขึ้นไปทางตอนเหนือเมื่ออังกฤษยึดเมืองพะโคหรือหงสาวดีได้ อันแสดงถึงความรู้สึกเป็นศัตรู เนื่องจากอังกฤษใช้เจดีย์ของพุทธศาสนาไปในทางเสื่อมเสีย กล่าวคือ ไม่เพียงใช้อนุสาวรีย์ทางพุทธศาสนาไปในการทหารเท่านั้น แต่ยังปล้นเอาสิ่งมีค่าไปด้วย (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2548: 401-402)
YMBA ถึง GCBA
YMBA ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นองค์กรทางการเมือง โดยใช้ชื่อว่า General Council of Burmese Associations (GCBA) ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศและโดยปกติไม่ได้ยึดติดอยู่กับศาสนาใด. ในปี ค.ศ. 1920 นักศึกษามหาวิทยาลัยได้เรียกร้องให้มีการประท้วงนโยบายอังกฤษทั่วพม่า การประท้วงนี้ถือเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นของการที่นักศึกษาเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของประเทศ (Josef Silverstein: 1977: 14)
ช่วงเวลาเดียวกัน พระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า อู อุตมะ ได้กลายเป็นผู้นำพระสงฆ์รุ่นใหม่ ที่พยายามตีความพุทธศาสนาแบบใหม่ คือถือว่าพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพม่า กล่าวคือ การที่คนจะตัดกิเลสได้นั้นต้องมีอิสระเสียก่อน. อู อุตมะตีความว่า สังคมนิยมนั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับ โลกนิพพานของพระพุทธศาสนา และการรณรงค์ต่อต้านอังกฤษ จึงเริ่มนำความคิดและประเพณีทางพุทธศาสนาในการ ‘คว่ำบาตร’ มาใช้กับอังกฤษ
สถานการณ์นอกประเทศก็มีส่วนทำให้ขบวนการชาตินิยมพม่าเข้มแข็งขึ้น นั่นคือ เมื่อญี่ปุ่นรบชนะรัสเซีย ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจของชาวเอเชียในการเอาชนะฝรั่ง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนพม่าได้เห็นความแตกแยกกันในหมู่ฝรั่ง อีกทั้งคนพม่าที่มีการศึกษาสนใจต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินเดีย เนื่องจากอังกฤษต้องการความช่วยเหลือจากอาณานิคมอินเดียในการทำสงคราม จึงเอาใจอินเดียด้วยการให้อินเดียปกครองตนเอง ข่าวนี้ได้แพร่ไปในพม่าและเกิดการประท้วงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการก่อตัวของ GCBA ข้างต้น ที่เน้นการปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง ไม่จำกัดเฉพาะคนหนุ่มที่มีการศึกษาแบบตะวันตกเท่านั้น (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 67)
ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1930 ได้เกิดกบฏของซายา ซานขึ้น โดยได้แรงกระตุ้นมาจากผลของลัทธิอาณานิคมและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และจากแรงบันดาลใจทางความเชื่อตามเรื่องปรัมปราของพุทธศาสนา การกบฏครั้งนี้อาจมีส่วนในการจุดประกายให้กับพวกนักศึกษาซึ่งต่อมามีการจัดตั้งสมาคมเราชาวพม่า (Dobhama Asiayone หรือ We Burman Society [Our Burma ]) ในปี ค.ศ. 1936 อันเป็นจุดเริ่มต้นของผู้นำพม่าที่เรียกร้องเอกราชที่สำคัญๆ เช่น อู อองซาน และอูนุ พวกนักศึกษาเริ่มใช้คำว่า “ทะขิ่น” (Thakin) เรียกกันเอง คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกขานชาวอังกฤษ หมายถึง “เจ้านาย”
กบฏซายา ซาน การลุกฮือของชาวนา
กบฏของซายา ซาน นี้มีลักษณะของการลุกฮือของชาวนา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ เป็นชาวไร่ชาวนา โดยได้อิทธิพลจากพุทธศาสนาในรูปแบบขบวนการพระศรีอาริย์ คล้ายกับขบถผู้มีบุญของไทย โดยเป็นไปอย่างกว้างขวางและรุนแรงมาก จากพม่าตอนล่างถึงตอนบน และเข้าไปถึงรัฐฉานด้วย อังกฤษใช้ทหารและอาวุธทันสมัยปราบอยู่ 2 ปี จึงราบคาบ ชาวพม่าในชนบทคือพวกชาวนาได้ตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหนี้สินมาก ความไม่พอใจต่อสภาพชีวิตของตนได้ปะทุอย่างรุนแรงในกรณีกบฎซายา ซาน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 68-69)
ขณะที่มีความเคลื่อนไหวในเมืองใหญ่เช่นกัน ผู้นำรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มต่างๆ เช่น YMBA, GCBA และสมาคมเราชาวพม่า เพื่อมุ่งหมายในการกอบกู้เอกราชพม่า ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นพลังสำคัญ และผลักดันการปลดปล่อยประเทศในที่สุด การเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมพม่าทำให้อังกฤษยินยอมพิจารณาปัญหาการปกครองตนเองของพม่า ภายหลังการประท้วงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พม่าก็พ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ในปี ค.ศ. 1937 และมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองซึ่งประกาศใช้ในปีเดียวกัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าก็ได้มีการปกครองตนเองมากขึ้น อังกฤษยอมให้มีระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นชาวพม่า แต่ระบบนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ในมืออังกฤษ เพราะอังกฤษยังคงคุมกองทัพและการคลังอยู่
สงครามโลกครั้งที่ 2 กับการกู้เอกราชของพม่า
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1939 ได้ก่อให้เกิดความหวังในการกู้เอกราชจากอังกฤษของชาวพม่า โดยที่อู อองซาน บุคคลสำคัญซึ่งเคยเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งมาก่อน ได้ปลุกให้นักศึกษาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชพม่า และได้ส่งนักศึกษาจำนวนหนึ่งเดินทางไปเพื่อศึกษาวิชาทหารและการใช้อาวุธต่างๆ จากญี่ปุ่น. เมื่อกลับมา อู อองซานได้จัดตั้งเป็นกองทัพพม่าอิสระ (Burma Independence Army : BIA) ขึ้นในปี ค.ศ. 1941 (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 25) จากนั้นจึงเข้ามาเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษตลอดช่วงสงครามร่วมกับญี่ปุ่น จนสามารถยึดพม่าได้ทั้งประเทศ
เมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าแล้วก็ตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารประเทศ ภายใต้การนำของรัฐบาลญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม การนี้ได้มีการแต่งตั้ง บา มอ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารในเดือนสิงหาคมปี 1942 ในขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มลิดรอนกำลังของกองทัพพม่าอิสระ และตั้งชื่อกองกำลังนี้ใหม่ให้เป็นกองทัพป้องกันตนเองของพม่า. ในปีต่อมาญี่ปุ่นได้ประกาศให้พม่าเป็นเอกราชพ้นจากอังกฤษ บา มอ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้ปกครองพม่า ขณะนั้น เนวิน ยังมียศเป็นเพียงนายพลจัตวาของกองทัพป้องกันประเทศของพม่า แม้จะเป็นหนึ่งในคณะผู้กู้ชาติมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งเมื่อเขาขึ้นครองอำนาจอย่างสมบูรณ์ในปี 1962 และรักษาอำนาจยาวนาน (เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ 21-22)
ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาปกครองพม่า
การที่ญี่ปุ่นกุมอำนาจที่แท้จริงไว้ สร้างความไม่พอใจแก่ อู อองซาน จนนำไปสู่การปลดแอกพม่าจากญี่ปุ่น โดยได้มีการก่อตั้งองค์กรลับขึ้นชื่อว่า ”องค์กรสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League: AFPEL) ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ในพม่ารวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน ในที่สุดญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ทำให้อังกฤษกลับมาปกครองพม่าอีกครั้ง โดยอู อองซานเริ่มเรียกร้องเอกราช และมีการต่อต้านอังกฤษเพื่อเรียกร้องให้พม่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ ซึ่งไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และอังกฤษได้ให้การรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จนในที่สุด รัฐบาลอังกฤษภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีเคลมอนท์ แอตลี(Clement Atlee) ตกลงจะมอบเอกราชให้พม่า ได้มีการลงนามให้พม่าเป็นอิสรภาพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1947 ภายใต้เงื่อนไขว่า, ในระยะเวลา 1 ปี พม่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้ได้ผู้แทนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 26-28)
อู อองซาน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งเอกราชพม่า”ไม่ได้มีโอกาสมีชีวิตอยู่จนพม่าได้รับเอกราช เนื่องจากถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 พร้อมสมาชิกในคณะรัฐมนตรีพม่าบางคน อันเนื่องมาจากปัญหาภายในของพม่าเอง โดยผู้ลอบสังหารคือ อูซอ ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีพม่ามาก่อนในสมัยอังกฤษ ที่มีความขัดแย้งกับ AFPEL ของอู อองซานมาก แต่ในที่สุดพม่าก็ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 72)
พม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ
เมื่ออู อองซานถูกลอบสังหาร อูนุ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของ AFPEL แทน เขาเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดในพุทธศาสนาอย่างยิ่งและเป็นผู้ที่อังกฤษเลือกขึ้นมาแทนอู อองซาน ระยะแรกนั้น AFPEL ประสบปัญหาความแตกแยกในพรรคอย่างรุนแรง และยังมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยที่เรื้อรังมาตั้งแต่สมัยระบอบกษัตริย์ เมื่อพม่าได้เอกราชคืนมาปัญหาก็กลับมาอีก พวกมอญและฉานพยายามต่อรองเพื่อให้ได้มีการปกครองตนเอง ดังนั้นพม่าสมัยเอกราชจึงอยู่ในรูปของสหภาพ (Union) อันเป็นลักษณะของสหพันธรัฐ แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ที่ชาวพม่า ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 75) เพียงสามเดือนแรกของการประกาศเอกราช พม่าก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง
จนช่วงครึ่งหลังของ ค.ศ. 1949 ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของอูนุจึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยดึงเอานายพลเนวิน เข้ามามีบทบาทโดยการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่อจากอูนุ เนื่องจากขณะนั้นเนวินคุมกำลังกองทัพทั้งหมดในประเทศ สงครามกลางเมืองจึงสงบลงได้
AFPEL ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของพม่า อูนุเป็นนายกรัฐมนตรีในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่กระนั้นก็ตาม ความขัดแย้งในพรรคก็ไม่ได้หมดไป อูนุตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงตัดสินใจเสนอให้สภายอมรับเนวินเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 เพื่อรักษาการรัฐบาลชั่วคราว โดยอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี จึงสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1960 จากนั้นจึงคืนอำนาจให้พลเรือนไปอีกครั้งหนึ่ง
การเลือกตั้งใหม่นี้ อูนุ ยังได้เสียงข้างมากอยู่แต่ก็ตกอยู่ในฐานะยุ่งยากเพราะมีเหตุการณ์วุ่นวายจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบุคคลเกิดขึ้นมากในคณะรัฐบาล และความขัดแย้งเรื่องศาสนาที่อูนุประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น เช่น รัฐคะฉิ่น ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนมาก และขยายไปถึงกะเหรี่ยงและฉิ่นด้วย
นอกจากนั้น การประกาศให้รัฐที่เป็นชนกลุ่มน้อยเป็นอิสระแยกตัวเองออกจากพม่าได้ ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาปางโหลง ทำให้ชนกลุ่มน้อยเริ่มทวงสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเริ่มมีการปะทะกันอีก บ้านเมืองจึงเกิดความวุ่นวายและกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของพม่าในขณะนั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากต้องชดใช้ค่าปฏิกรสงครามให้กับอังกฤษ และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ จากสงครามโลกครั้งที่ 2. ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ เนวิน นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลอูนุ ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1962 และเริ่มการปกครองแบบเผด็จการโดยคณะทหารนับตั้งแต่นั้นมา
หลังการปฏิวัติ เนวินได้ปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นสังคมนิยม โดยใช้ชื่อว่า “สังคมนิยมวิถีพม่า” (The Burmese Way to Socialism) โดยยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของภาครัฐ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1947 รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในระบบรัฐสภา ยกเลิกสิทธิพิเศษของบรรดาเจ้าฟ้าผู้ปกครองชนกลุ่มน้อยที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และจัดระเบียบการปกครองใหม่ให้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ การบริหารต่างๆ ถือเป็นอำนาจของรัฐบาลกลางเท่านั้น มีการจัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้น และมีคณะรัฐมนตรีดำเนินการบริหารในรัฐ ปฏิเสธความเป็นผู้นำท้องถิ่น และปฏิเสธการแยกตัวเป็นอิสระของบรรดารัฐชนกลุ่มน้อยอย่างสิ้นเชิง โดยใช้วิธีทางทหารเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรุนแรง
นโยบายรวมชาตินี้ส่งผลให้เกิดความไม่สงบไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีองทัพที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย กองทัพพม่าโตขึ้นมากในช่วงปี ค.ศ. 1972 จำนวนทหารเพิ่มขึ้นจากจำนวนพันในปีค.ศ. 1948 มาเป็นหลักแสน พร้อมอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพ กองทัพพม่าในยุคเนวินจึงเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง และมีเอกภาพที่สุดในพม่าจนถึงการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 อันเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลนายพลเนวิน (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 34-35)
การเมืองพม่าตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 1988
ช่วงเวลาสามเดือนตั้งแต่กรกฎาคม – กันยายน ค.ศ.1988 เป็นช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของพม่า ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพม่าถือเป็นหมายเหตุของการเมืองพม่ายุคใหม่ นักศึกษาพม่าได้มีบทบาทอีกครั้งหลังจากการเรียกร้องเอกราช ในการนำทั้งพระสงฆ์ ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านระบบทหารของนายพลเนวิน และเรียกร้องให้พม่าเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การประท้วงใหญ่ เมื่อ 8 สิงหาคม (และ 8 กันยายน) ปี 1988 ตามหมายเลข 8 อันเป็นมหามงคลของฝ่ายประท้วง มีคนเข้าร่วมขบวนนับเป็นล้านคน เพื่อบีบให้นายพลเนวินยอมรับความผิดพลาดในการบริหารประเทศที่เขาครองอำนาจมาถึง 26 ปี ทำให้พม่าซึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากร ต้องกลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ยากจนที่สุดขององค์การสหประชาชาติ มีฐานะเป็น LCD หรือ Least Developed Country มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 200 เหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 1 พันเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 1988 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 84)
นายพลเนวินต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าหรือ BSPP พร้อมๆ กับการลาออกของประธานาธิบดีซันยุ แล้วตั้งนายพลเส่งลวินที่มีชื่อเสียงในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนขึ้นมาครองอำนาจช่วง 27 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม ซึ่งในช่วงเวลาระยะสั้นๆ นี้ เส่งลวินสั่งยิงนักศึกษาประชาชนอีก 3,000 คน จากนั้นบรรดาผู้นำนักศึกษาก่อการประท้วงอีกในวันที่ 8 สิงหาคม จนทำให้รัฐบาลเส่งลวินล้มลง
ต่อจากนั้นหม่องหม่อง นักกฎหมายในสายของเนวิน ถูกเสนอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ยังมีการประท้วงรุนแรงและต่อเนื่อง ในวันที่ 18 กันยายน นายพลซอหม่อง อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมก็ทำรัฐประหาร ทำให้เหตุการณ์ในพม่าจบลงด้วย “รัฐอาชญากรรม” (State Crime) แบบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) ของไทย มีนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิตไปอีก กว่า 1,000 คน แต่ตัวเลขของรัฐบาลบอกว่าเพียง 400 คน ซึ่งไม่มีใครเชื่อถือ หลังจากนั้นยังมีการจับและปราบปราม และปลดข้าราชการที่มีส่วนสนับสนุนการประท้วงและการหยุดงานใน 3 เดือนของการเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามคณะรัฐประหารก็ต้องยอมรับหลักการว่าด้วยประชาธิปไตย และจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีค.ศ. 1990 อีกทั้งยังยินยอมให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544, 86-87)
วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1988 ได้มีการจัดตั้ง State Law and Order Restoration Council (SLORC) ภายใต้การนำของนายพลอาวุโสซอหม่อง (Senior General Saw Maung) การครองอำนาจของทหารไม่ได้ส่งผลให้เกิดสันติภาพ ดังที่ทหารได้สัญญาไว้ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อไทยเกิดรัฐประหารโดยคณะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อล้มรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยเปรียบเทียบกับการรัฐประหารของพม่า ในเรื่องที่ว่าทหารจะคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะรัฐบาลทหารพม่าเป็นตัวอย่างในการไม่รักษาสัญญาและกุมอำนาจเบ็ดเสร็จนับแต่นั้นมา การรัฐประหารปี ค.ศ. 1988 ได้ทำลายการก่อรูปของประชาธิปไตยลง รวมทั้งระบบสหพันธรัฐและเสรีภาพของสื่อ
หลังจากนั้นผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าเขตชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในเขตของ Karen National Union ของนายพลโบเมี๊ยะในขณะนั้น จนปัจจุบัน KNU เป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนานถึง 60 ปี โดยมีฐานที่มั่นอยู่ใกล้ชายแดนไทย ตรงข้ามอำเภอพบพระและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
บางส่วนไปเข้ากับคอมมิวนิสต์พม่าแถบตะวันออกเฉียงเหนือใกล้พรมแดนจีน ส่วนหนึ่งหนีไปพึ่งมอญแถบใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 600 คนได้ไปอาศัยอยู่กับ New Mon State party: NMSP ของรองประธานพรรคนายโนนลา อีกส่วนลงมายังเกาะสอง หรือวิคตอเรียพอยต์ ตรงข้ามจังหวัดระนอง การเรียกร้องประชาธิปไตยพม่ากลายเป็น “สงครามกลางเมือง” อันยืดยาวและเจ็บปวด (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 88)
แม้ว่า SLORC จะทำตามสัญญาในการจัดการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1990 แต่ก็พยายามใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อทำลายโอกาสในการชนะเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน. ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1989 นางอองซาน ซู จี ถูกจับกุมและคุมขังภายในบ้านของเธอ โดยไม่มีการตั้งข้อหา ต่อมาใน ค.ศ. 1991 เธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ นอกจากนั้นผู้นำฝ่ายค้านที่สำคัญคนอื่นๆ ก็ถูกจับกุมและคุมขังด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 พฤษภาคมค.ศ. 1990 มีการเลือกตั้งทั่วไปตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ แต่ชัยชนะอย่างล้นหลามกลับเป็นของฝ่ายค้านคือพรรค NLD ซึ่งได้ที่นั่งทั้งหมดถึง ร้อยละ 81 คือ 392 ที่นั่งจาก 492 ที่นั่งในสภา แต่รัฐบาลก็กลับลำโดยไม่รับรองผลการเลือกตั้ง และจับกุมนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักการเมืองฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหนีการจับกุมมายังชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยมากขึ้นอีก
จากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้ประชาคมโลกประณามการกระทำของรัฐบาลพม่า ประเทศตะวันตกดำเนินนโยบายคว่ำบาตรและตัดความช่วยเหลือต่างๆ
ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนหลายคนได้หนีออกมาและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น (The National Coalition of the Union of Burma: NCGUB) โดยมี Dr. Sein Win ซึ่งเป็นญาติกับนางอองซาน ซูจี เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา
NCGUB มีกิจกรรมชัดเจนในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และติดต่อกับองค์กรต่างประเทศในการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในฐานะตัวแทนของประชาชนพม่า แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ (ณัฐวดี ดวงตาดำ, 2549: 60). รัฐบาลพลัดถิ่นมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสื่อพม่าพลัดถิ่น DVB โดยเฉพาะ Dr. Sein Win ซึ่งยังเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิ DVB อยู่ในปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1989 รัฐบาลพม่าเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Burma เป็น Myanmar โดยอ้างว่า คำว่าพม่าที่มีความหมายแค่ชนเชื้อชาติพม่าที่มีแต่คนเชื้อชาติพม่า จึงไม่สมควรใช้คำนั้น เนื่องจากในพม่าประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ มากมาย แต่อันที่จริงแล้ว เป็นการเปลี่ยนคำภาษาอังกฤษให้ตรงกับภาษาพม่าคือ Burma (พม่า) เป็น Myanmar (เมียนมาร์) ซึ่งหมายถึงชาวพม่านั่นเอง และเปลี่ยนชื่อเมือง Rangoon เป็น Yangon ตรงกับเสียงในภาษาพม่าอันถือเป็นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานทางด้านการเมืองและวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย (ชัยโชค จุลศิริวงศ์, 2541: 494)
ในพม่านางอองซาน ซูจี ดำเนินการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยการใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องของเธอ ต่อรัฐบาลทหารพม่า ออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งของพรรค NLD กับรัฐบาลพม่าก็ไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ และรัฐบาลเองก็ยังใช้วิธีการแบบเผด็จการในการจับกุม คุมขัง และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในการควบคุมผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ในปีค.ศ. 1992 นายพลอาวุโสตาน ฉ่วย (Than Shwe) ขึ้นครองอำนาจต่อจากนายพลซอ หม่องที่ลาจากการเป็นประธาน SLORC เนื่องจากปัญหาสุขภาพ นับแต่นั้นมา ตาน ฉ่วย ได้นำนโยบายใหม่ๆ มาใช้ เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายคนยกเว้นนางอองซาน ซูจี มีการจัดประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงใหม่ ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเรื่องการคอรัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองพม่า
นางอองซาน ซูจี ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 หลังจากถูกควบคุมตัวมา 6 ปี และถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็นครั้งที่สอง เป็นเวลา 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ค.ศ.2000 และได้รับอิสรภาพ จากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาล กับกลุ่มผู้สนับสนุน ซูจี ระหว่างที่นางเดินทางเพื่อพบปะกับประชาชน ในเมืองเดพายิน (Depayin) ทางตอนเหนือของพม่า ทำให้ผู้สนับสนุนของนางบาดเจ็บล้มตายไปหลายสิบคน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ซูจีถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ.2003
เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2007 พระสงฆ์และประชาชนที่ได้ร่วมประท้วงรัฐบาลทหารได้เดินทางไปยังบ้านพักนางอองซาน ซูจี ซึ่งนางได้ออกมาปรากฏตัวเป็นเวลา 15 นาที โดยการเปิดประตูเล็กของประตูบ้าน พร้อมกับพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังให้พร การปรากฏตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2003. เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้พม่ากลายเป็น “ปัญหา” ในสายตาของโลกประชาธิปไตยเอง แต่กระนั้นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังยอมรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกของ Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ท่ามกลางการท้วงติงและคัดค้านจากประเทศทางตะวันตกที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
ในส่วนของพม่าเองก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 เมื่อรัฐบาลประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้งไปยังเมืองปินมานา (Pyinmana) ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นกรุงเนย์ปิดอว์ (Naypyidaw) อันหมายถึง “เมืองของกษัตริย์” (City of the Kings) ท่ามกลางสายตาแห่งความสงสัยของนานาประเทศ แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วยกัน ที่ไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการมาก่อน แต่ศูนย์กลางธุรกิจในปัจจุบันก็ยังอยู่ที่กรุงย่างกุ้งเหมือนเดิม เนื่องจากสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเมืองหลวงใหม่ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก นอกจากนั้นปัญหากับชนกลุ่มน้อยก็ยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะปัญหาผู้ลี้ภัยอันเกิดจากการหนีภัยสงครามกับกองกำลังติดอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ที่ส่งผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากการอพยพหลั่งไหลเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งผู้ลี้ภัยจากรัฐอารากัน เข้าไปในบังกลาเทศ และชาวกะเหรี่ยง คะเรนนี มอญ ไทใหญ่ พม่า ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทย
ในปี ค.ศ. 2007 เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งเมื่อพระสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของชาวพม่ามากได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำประชาชนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล อันสืบเนื่องมาจากการประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงหลายเท่าของรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ซ้ำเติมความลำบากยากจนแก่ประชาชน ทำให้พระสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงอย่างสงบและลุกลามไปยังเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์อาจรุนแรงกว่านี้หากพม่ายังปิดประเทศและไม่มีการสื่อสารกับภายนอก แต่การที่พม่าเปิดประเทศรับการลงทุนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ทำให้พม่ามีการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เริ่มมีสื่อทันสมัยตามแบบของโลกทุนนิยม ที่กลายเป็นส่วนสำคัญในการรายงานเหตุการณ์ครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น