วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชลบุรี


ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชลบุรี

ชลบุรี เป็นดินแดนที่มีผู้คนมาอาศัยมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์  ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลโคกพนมดี  อำเภอ พนัสนิคม  ได้พบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนสมัยประวัติศาสตร์  โคกพนมดีเป็นเชลล์มาวด์ที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง  ซึ่งยังไม่เคยพบใน ประเทศทางเอเซียอาคเนย์อื่น ๆ จากการศึกษาโครงกระดูกมุนษย์และโบราณวัตถุที่พบ  เช่น  เครื่องมือหินขัด  เครื่องปั้นดินเผาแบบ เชือกทาบ  รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำด้วยเปลือกหอยและหินมีค่า  แสดงว่าเป็นชุมชนที่มีความเจริญอยู่ในระดับยุคหินใหม่  การค้นพบ แห่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกพนมดีนี้  ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชลบุรี  เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคหิน ใหม่แล้ว  ส่วนชุมขนที่พัฒนาเป็นบ้านเมืองสำคัญในยุคแรกของประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดชลบุรี  ได้แก่  เมืองพระรถ  เมืองพญาเร่ และ เมืองศรีพโล
ยุคก่อนประวัติศาสตร์  จากการสำรวจในช่วง ปี พ.ศ.๒๕๑๖ - พ.ศ.๒๕๒๘ ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมือง ฯ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็่นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เป็นชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถึงยุคประวัติศาสตร์ นับแต่เขาชะอางห้ายอดในแหล่งโบราณคดีกลุ่มเขาชะอาง อำเภอบ่อทอง ชุมชนโคกพนบดี โคกพุทรา อำเภอพนัสนิคม ชุมชนโคกระกา โคกกะเหรี่ยง อำเภอพานทอง และชุมชนเนินสำโรง อำเภอเมือง ฯ

แผนที่จังหวัดชลบุรี
โคกพนบดี  เป็นเนินดินขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายเกาะที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม มีรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๓๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ไร่ จุดสูงสุดจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑๒ เมตร อยู่ในเขตตำบลท่าข้ามอำเภอพนัสนิคม
ผลการศึกษาพบว่า โคกพนบดีเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่สามารถสร้างเครื่องมือหิน (ขวานหินขัด หินลับ หินบด ค้อนหิน หินกรวดสำหรับขัดผิว ภาชนะและกำไลหิน) เครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์เช่น ฉมวก เครื่องมือที่ทำจากหอยเช่น มีด สิ่ว เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอย และภาชนะดินเผาแบบเชือกทาบ เป็นชุมชนที่อพยพ และเปลี่ยนแปลงมาจากสังคมแบบดั้งเดิม ซึ่งมักอาศัยอยู่ในที่สูงดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และแสวงหาอาหารจากธรรมชาติ ต่อมาอพยพลงมาอยู่ที่โคกพนบดี ซึ่งในครั้งนั้นเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งจากป่าและทะเล มีผู้เสนอข้อคิดเห็นว่าเนินดินแห่งนี้เป็น shell Mound สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียอาคเนย์ ต่อมาผู้คนเหล่านั้นก็เริ่มพัฒนาการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกแบบเริ่มแรก ควบคู่กันไปกับการแสวงหาอาหารจากทะเล และล่าสัตว์ขนาดเล็ก
ประวัติชลบุรี
มีผู้ให้ความเห็นว่า การตั้งถิ่นฐานที่โคกพนบดีนี้น่าจะมีสองสมัยคือ สมัยแรก มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดำรงชีพด้วยทรัพยากรจากทะเลเป็นสำคัญ (พบเปลือกหอย ก้างปลา กระดองเต่า และก้ามปู จำนวนมาก)  สมัยที่สอง มีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนน่าจะขยายตัวใหญ่ขึ้น เพราะได้พบภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เริ่มปลูกข้าว (พบเมล็ดข้าวที่เป็นถ่าน)
โคกระทา  อยู่ที่บ้านโคกระทา ตำบลนาประดู่ อำเภอพานทอง ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างยาว ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสูงสุดของเนินอยู่ทางตอนเหนือสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ ๖ เมตร ทางตอนใต้ของโคกระทามีลำน้ำเก่าไหลผ่าน เรียกว่า คลองสายบัว ไหลไปบรรจบคลองบางนาที่ไหลไปบรรจบแม่น้ำบางชะกง
จากการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ด้วยวิธีขุดตรวจทางโบราณคดี ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ห้าโครง และสิ่งของที่ใส่ให้กับศพเช่น เครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน กำไลเปลือกหอย ฯลฯ นอกจากนั้นยังพบเครื่องใช้จำพวกภาชนะดินเผา ลูกกระดุมดินเผา เบี้ยดินเผา หินดุ ถ้วยสำริด แหวนสำริด ชิ้นส่วนกำไลสำริด
จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณบ้านโคกระทาเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาตร์ตอนปลาย (ยุคสำริด) ขนาดใหญ่ที่มีการติดต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ ในภาคกลางของไทยและอาจมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ประวัติชลบุรี
โคกกะเหรี่ยง หรือ โคกฝรั่ง  อยู่ในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง เป็นเนินดินรูปกลมขนาดใหญ่สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๕ เมตร ก่อนที่กลุ่มคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จะเข้ามาจับจองอยู่ถึงปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง
จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ รูปแบบภาชนะส่วนใหญ่ มีรูปทรงคล้ายบาตรพระ เศษกระเบื้องดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิสูง พบเพียงสามชิ้นเป็นชนิดเคลือบเขียว ไม่เคลือบหนึ่งชิ้น นอกจากนั้นยังพบกระดูกสัตว์ และเปลือกหอยหลายชนิด
จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนขนาดใหญ่ อาจร่วมสมัยกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกพนบดี และโคกระทา มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เนินสำโรง  เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ (สมัยทวารวดี) ตั้งอยู่ที่มาบสามเกลียว ตำบลหัวร่อ อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินขนาดเล็ก อยู่กลางพื้นนาสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๒ เมตร
จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ พบโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตอนกลางเนิน ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูงชนิดไม่เคลือบ ผิวสีน้ำตาลเข้ม ตกแต่งผิวด้วยลายขีด เศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยชนิดเคลือบ มีสีผิวต่าง ๆ เช่น เคลือบน้ำตาลคล้ำ เคลือบเขียว และขาวขุ่น นอกจากนั้นยังพบอิฐขนาดต่าง ๆ และเปลือกหอยแครง
จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า เนินนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ถึงสมัยทวารวดี
จากการพบแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในเขตอำเภอบ่อทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง จนถึงทางเหนือของอำเภอเมือง (ตำบลหัวร่อ) ปัจจุบันเป็นพื้นที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาตร์ กลุ่มแรกอาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงผา กลุ่มต่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเนินดิน ที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง แล้วขยับลงมายังที่ราบ จากนั้นก็พัฒนาเป็นบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์
ประวัติชลบุรี
ยุคประวัติศาสตร์ก่อนสมัยสุโขทัย  ชุมชนที่พัฒนาเป็นบ้านเป็นเมืองในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดชลบุรี ได้แก่ เมืองพระรถ เมืองพญาเร่ และ เมืองศรีพโล (ศรีพะโร)
เมืองพระรถ เป็นชุมชนเมืองโบราณ อยู่ที่บ้านหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม อยู่ห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันถนนฉะเชิงเทรา - พนัสนิคม ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองด้านทิศตะวันออก
จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ เชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖) และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘)
โบราณสถาน  มีอยู่สองประเภทคือ ร่องรอยผังเมืองและศาสนสถาน ผังเมืองพระรถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑,๕๕๐ x ๘๕๐ เมตร กำแพงเมืองเป็นคันดินสองชั้นสูงจากพื้นดินประมาณสองศอกเศษ ห่างกันชั้นละห้าวา คูเมืองกว้างประมาณสามศอก
ศาสนสถานที่พบคือ เนินพระธาตุ ซึ่งอยู่ตอนหลังของตัวเมืองด้านตะวันตก เป็นเนินพระสถูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เป็นฐานสถูปแบบทวารวดี
ทางด้านเหนือของเนินพระธาตุมีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ติดกับสระน้ำโบราณ ชาวบ้านเรียกว่า สระฆ้อง บนเนินนี้มีหินปักอยู่ตามมุมทิศสำคัญ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฐานโบสถ์หรือวิหาร
โบราณวัตถุ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่ทั่วไป ชิ้นส่วนของเทวรูปพระนารายณ์ สวมหมวกแขก พระพุทธรูปแบบทวารวดีปางนาคปรก หินบดยา กังสดาลและแท่นพระพุทธรูปทำด้วยหินขนาดใหญ่
ส่วนโบราณวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ที่พบได้แก่ พระพุทธรูปสำริดแบบลพบุรี พระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนเหนือตัวพนัศบดี (พนัสบดี เป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของครุฑ หงส์ และวัว คือมีปากเป็นครุฑ มีเขาเป็นวัว และมีปีกคล้ายหงส์ ซึ่งเป็นลักษณะที่รวมพาหนะของเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาฮินดู)  พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านพบที่คูเมืองด้านใต้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่า พระพนัสบดี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอพนัสนิคม
โบราณวัตถุที่พบเกือบทั้งหมดเป็นศาสนวัตถุ มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีมาถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘)
เมืองพระรถ จัดว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างที่สูงและที่ลุ่มมาบรรจบกัน บริเวณรอบเมืองเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวแบบทดน้ำ มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ลำน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองพระรถ ได้แก่ คลองสระกลาง คลองหลวง คลองพานทอง คลองสระกลางไหลมาทางด้านทิศใต้ ผ่านตัวอำเภอพนัสนิคมและวัดเกาะแก้ว มายังคูเมืองพระรถด้านตะวันออกเรียกว่า คลองเมือง ดังนั้นเมืองนี้จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมท้องถิ่น เพราะมีลำน้ำต่าง ๆ เชื่อมต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ เช่นเมืองศรีมโหสถ เมืองพญาเร่ เมืองศรีพโล
เมืองพญาเร่ (พญาเล่ห์)  อยู่ในเขตตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง เป็นเมืองสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในเขตที่สูง ห่างจากเมืองพระรถประมาณ ๓๒ กิโลเมตร
โบราณสถาน  มีเพียงร่องรอยผังเมือง เป็นรูปรีสองชั้น ชั้นในมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร ชั้นนอกประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร คูเมืองและคันดินของตัวเมืองชั้นนอกทางด้านเหนือยังเห็นได้ชัดเจน ส่วนด้านอื่นลบเลือนไปมากแล้ว ส่วนเมืองชั้นในยังอยู่ในสภาพดี กำแพงเมืองที่เหลืออยู่สูงประมาณ ๑ เมตร จากระดับคูน้ำ คูเมืองตอนกว้างสุด กว้างประมาณ ๑๑ เมตร ภายในเมืองไม่พบโคกเนินที่เป็นศาสนสถาน
โบราณวัตถุ พบเพียงเศษเครื่องปั้นดินเผาเล็กน้อย เคยมีผู้พบกำไลสำริด และหม้อดินเผา
มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองนี้อาจไม่ใช่เมืองที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องหลายสมัยอย่างเมืองพระรถ อาจเป็นเมืองชั่วคราว หรือเมืองบนเส้นทางติดต่อทางบก ระหว่างชลบุรีกับระยองในสมัยโบราณ
เมืองศรีพโล (ศรีพะโร)  เป็นเมืองท่าอยู่บนเส้นทางเดินทะเล ตั้งอยู่ที่บ้านศรีพโล ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมือง ตัวเมืองตั้งอยู่บนเขาดิน ก่อนจะข้ามไปเขาบางทรายทางตะวันออกเฉียงใต้ ด้านตะวันตกและด้านเหนือของเมือง ติดต่อกับที่ราบลุ่มชื้นแฉะริมทะเล เป็นขอบของอ่าวบางปะกง
โบราณสถาน กำแพงเมือง ซึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๒ ยังปรากฎเห็นอยู่และถูกทำลายไปเมื่อมีการสร้างถนนสุขุมวิท และการสร้างสนามกีฬาประจำเมืองชลบุรี กล่าวกันว่าเมืองนี้มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม เคยมีกำแพงดินสูงจากพื้นดินประมาณ ๓ เมตร โอบรอบ ไม่มีคูน้ำ เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนที่สูง
โบราณวัตถุ ที่พบได้แก่เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ มีเศษเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบของสุโขทัยปะปนอยู่ กับเครื่องปั้นดินเผาแบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง (เคลือบสีน้ำเงินขาว)
ที่วัดศรีพโล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นบริเวณที่พบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก เช่น กระปุกถ้วยชามเคลือบแบบสุโขทัย แบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ตุ๊กตาเคลือบสมัยสุโขทัย เครื่องประดับหลังคาเคลือบ กระเบื้องดินเผาเชิงชายหลังคา ทำเป็นรูปเทพพนมอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบอยุธยา  กำไลสำริด แม่พิมพ์ พระพุทธรูปดินเผาแบบอู่ทอง พระพุทธรูปเนื้อชินปางลีลา เต้าปูนสำริด เศษหม้อทะนนมีลวดลายประดับ ชามเคลือบบาง ๆ ของญวน แบบที่พบในเรือที่จมอยู่ในอ่าวไทย และยังพบขวานหินขัดอีกอันหนึ่ง
บริเวณวัดศรีพโลคาดว่าจะเคยมีวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปตั้งอยู่ เพราะพบเศษปูน ใบเสมาหินทรายที่ปักเขตโบสถ์เหลืออยู่
จากโบราณวัตถุที่พบเมืองนี้น่าจะมีความรุ่งเรืองอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐
จากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและโบราณวัตถุที่พบ เข้าใจว่าเมืองนี้คงเป็นชุมชนเมืองที่เกี่ยวกับการค้า เป็นที่จอดพักเรือสินค้าแถบอ่าวบางปะกง มีเรือค้าขายจากจีน เวียดนาม และกัมพูชา มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไป
ชุมชนโบราณริมฝั่งทะเลในเขตจังหวัดชลบุรีที่ปรากฎชื่อในแผนที่ไตรภูมิ สมัยอยุธยามีอยู่สี่ชุมชนคือ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง ชุมชนบางทรายคือชุมชนเมืองศรีพโล และก็คือเมืองชลบุรี ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นขึ้นไป (พุทธศตวรรษที่ ๑๙)

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ชลบุรีสมัยอยุธยาและธนบุรี  ตามทำเนียบศักดินาหัวเมือง พ.ศ.๑๙๑๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) เมืองชลบุรีมีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้รักษาเมืองมีฐานะเป็น ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร ศักดินา ๒,๔๐๐ ไร่ ขึ้นประแดง อินทปัญญาซ้าย
แยกเฉลิมไทย
บริเวณถนนตัดสี่แยกเฉลิมไทยในอดีต
ในสมัยอยุธยา ชลบุรีเป็นเมืองตรี ปกครองอย่างมีกรมการเมือง เจ้าเมืองมียศเป็น ออกพระ ศักดินา ๓,๐๐๐ ไร่ (เท่าปลัดเมืองเอก) ปลัดเมืองศักดินา ๖๐๐ ไร่ ยกกระบัตร ศักดินา ๕๐๐ ไร่ เป็นเมืองส่วยไม้แดง คือมีหน้าที่เก็บส่วยแทนแรงไพร่ (หลวง)  ส่วยเป็นเนื้อไม้แดงส่งไปกรุงศรีอยุธยา เพราะทางตะวันออกเฉียงเหนือของตำบลบางทราย มีป่าไม้แดงมากจนได้ชื่อว่าตำบลหนองไม้แดง
ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๒๗ - ๑๙๒๙  พระยากัมพูชาลอบยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้คนชาวเมืองชลบุรีและเมืองจันทบุรีไปกัมพูชาประมาณ ๖ - ๗ พันคน
ในปี พ.ศ.๒๓๐๙ ขณะที่กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธได้มาเกลี้ยกล่อมรวบรวมชายฉกรรจ์ ทางหัวเมืองภาคตะวันออกได้แก่จันทบุรี ระยอง บางละมุง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เข้าร่วมกองทัพโดยอ้างว่าจะไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่า ในครั้งนั้นชาวชลบุรีได้ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งชลบุรีแทบกลายเป็นเมืองร้าง กรมหมื่นเทพพิพิธรวบรวมไพร่พลได้ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ยกไปตั้งมั่นที่เมืองปราจีนบุรี แต่ถูกกองทัพจากอยุธยาออกไปโจมตี แล้วฝ่ายพม่าเข้าโจมตีซ้ำจนฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธแตกพ่ายไป
ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าประมาณสองเดือน สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังประมาณ ๑,๐๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางผ่านบ้านพานทอง ตำบลดอนหัวล่อ บ้านอู่ตะเภา หนองไม้แดง เขาพระบาท บางปลาสร้อย (เมืองชลบุรี)  แต่ชลบุรีในเวลานั้นมีสภาพเหมือนเมืองร้าง จึงเลยไปที่พัทยา รุ่งขึ้นจึงไปจอมเทียน แล้วต่อไปที่ทุ่งไก่เตี้ยและสัตหีบ จากนั้นจึงไปสู่ระยอง ได้ปะทะกับกำลังของขุนรามหมื่นซ่อง (ส้อง) แห่งเมืองระยอง ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้ กำลังได้แตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนายอยู่นกเล็ก ได้มาตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ที่บางปลาสร้อย กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกมาปราบ โดยมาตั้งอยู่ที่หนองมน แล้วส่งคนไปเจรจา นายทองอยู่นกเล็กยอมสวามิภักดิ์ แล้วนำเสด็จเข้าเมืองชลบุรี นายทองอยู่นกเล็กได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระยาอนุราชบุรีศรีมหาสุนทร รักษาเมืองชลบุรี ต่อมาเขาประพฤติมิชอบจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง
โรงพยาบาล 25490
โรงพยาบาลชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นผู้รักษาเมืองชลบุรี และทายาทของเจ้าพระยาจักรี (แขก) ได้ปกครองเมืองชลบุรีต่อมาอีกสี่ชั่วอายุคน เท่าที่มีหลักฐานได้แก่ ออกพระชลบุรีศรีมหาสมุทร (หวัง  สมุทรานนท์) ปกครองเมืองชลบุรีตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาราช  ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพระยาราชวังสัน ตำแหน่งเจ้ากรมพาณิชย์นาวี บุตรหลานของท่านได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองชลบุรี ต่อมาจนถึงหลวงภูมิรักษ์บดี (จอม) นายทะเบียนที่ดินเมืองชลบุรีได้รับพระราชทานนามสกุล ๓  จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าสมุทรานนท์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖
ชลบุรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาราช ชลบุรีเป็นเมืองจัตวา สังกัดกรมท่า จนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๗ จึงย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย
องเชียงสือมาลี้ภัยการเมืองที่เกาะกระบือ  ครั้งนั้นพระยาชลบุรีไปตรวจท้องที่พบเข้าจึงแนะนำให้ไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลี้ภัยการเมืองที่กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาราช ทรงอนุญาตให้เข้ามาพำนักอยู่ที่บ้านใต้ต้นสำโรง ต่อมาได้กลับไปกอบกู้บ้านเมืองเป็นพระเจ้าเวียดนามญาลอง

กำเนิดเมืองพนัสนิคม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ ท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม ได้นำชาวลาวจำนวนกว่าสองพันคน เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในจำนวนนั้นมีชายฉกรรจ์ ๘๖๐ คน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองมหาวงศ์ เมืองสมุทรปราการ และโปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวอินอินศาล บุตรท้าวไชยอุปราช เป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ (ปลัดลาว) เพื่อดูแลกลุ่มคนลาวดังกล่าว ลาวกลุ่มนี้เรียกว่าลาวอาสาปากน้ำ ต่อมาลาวกลุ่มนี้ได้ขอไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพระรถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ชื่อเมืองพนัสนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทรอาษา
เกาะลอยศรีราชา
สะพานข้ามเกาะลอย ศรีราชา ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
พระอินทรอาษามีผลงานที่สำคัญคือช่วยปราบกบฏจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ และในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ได้ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมชาวลาวที่เมืองนครพนม มาอยู่ที่เมืองพนัสนิคมอีกกลุ่มหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ เจ้าเมืองพนัสนิคมได้รับมอบให้นำกำลังไปจุกช่องล้อมวงอารักขาเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อทรงรับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เชื้อสายของพระอินทรอาษาได้ปกครองเมืองพนัสนิคมสืบต่อมาจนเมืองพนัสนิคมโอนไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ โดยรวมอยู่ในมณฑลปราจีนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื้อสายพระอินทรอาษาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ทุมมานนท์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗

ชลบุรียุคปรับปรุงประเทศ

จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ  อากาศดี การเดินทางสะดวก เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่เมืองไทย จึงเป็นสถานที่ชาวตะวันตกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศ
ในปี พ.ศ.๒๓๘๑ หมอบรัดเล มิชชันนารี ชาวอเมริกันได้เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในกรุงเทพ ฯ  ได้เดินทางมาเที่ยวทะเลแถบบางปลาสร้อย อ่างศิลา แล้วขึ้นบกเดินทางต่อไปเขาเขียว ซึ่งอยู่ทางด้านหลังบางพระเข้าไป หมอบรัดเลได้บันทึกการเดินทางครั้งนั้นว่าสนุกเพลิดเพลินมาก นอกจากชาวตะวันตกแล้ว เจ้านายของไทยก็นิยมไปพักผ่อนตากอากาศชายทะเลและพักฟื้นจากการเจ็บป่วยที่จังหวัดชลบุรีด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ชลบุรียังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้กระยาเลย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตร ได้ขอสัมปทานทำป่าไม้กระยาเลยที่ศรีราชา ตั้งบริษัทป่าไม้ศรีราชา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นที่รู้จักกันในสมัยต่อมาว่า บริษัทศรีมหาราชา
โรงแรมบางแสนบีช
โรงแรมบางแสนบีช ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
การสร้างท่าเทียบเรือและขนถ่านสินค้าที่อ่างศิลา อ่างศิลาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อ่างหิน ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อยู่ระหว่างตำบลบางปลาสร้อยกับเขาสามมุข ที่เรียกอ่างศิลาเพราะมีสระศิลา ยาวรีอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งลึกเจ็ดศอก กว้างสองศอก ยาวสิบวา อีกแห่งหนึ่งลึกหกศอก กว้างสามวาสองศอก ยาวเจ็ดวา ชาวบ้านและชาวเรือได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลาทั้งสองนั้นและบ่ออื่น ๆ อีก จึงเรียกว่า บ้านอ่าวศิลา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยเสด็จประพาสและประทับแรมที่อ่าวศิลาหลายครั้งแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า อ่างศิลามีศิลาใต้น้ำมาก เวลาน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากฝั่งเป็นระยะทางยาวไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินให้ยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ เพื่อสะดวกแก่เรือพาณิชย์ที่มาแวะจอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าในบางฤดูกาล
การสร้างอาศรัยสถานและด่านหลวงที่อ่างศิลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะเคยเสด็จมาประทับแรมที่อ่างศิลาหลายครั้ง แต่มิได้ทรงสร้างวังที่ประทับแต่อย่างใด เพียงแต่โปรดเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างพลับพลาเล็ก ๆ หลังเดียว เวลาประทับค้างแรมจะประทับแรมในเรือพระที่นั่ง ต่อมา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหมได้สร้างอาคารก่ออิฐถือปูนไว้เป็นที่พักฟื้นคนป่วยหลังหนึ่ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (เจ้าคุณกรมท่า) สร้างอีกหลังหนึ่ง อาคารดังกล่าวชาวต่างประเทศได้ไปพักอาศัยอยู่เสมอเรียกกันในสมัยนั้นว่า อาศรัยสถาน อาคารทั้งสองหลังได้รับการบูรณะซ่อมแซมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้รับพระราชทานนามว่า ตึกมหาราชและตึกราชินี ผู้ใดประสงค์จะเข้าพักรักษาตน เมื่อได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วก็เข้าพักอาศัยได้ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปรับพระเศวตสุวภาพรรณ ที่สระบุรี และเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทกับพระพุทธฉายแล้ว ได้เสด็จกลับทางนครนายก ปราจีนบุรีและมาที่อ่างศิลา  ครั้งนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมท่า ได้ออกมาสร้างพลับพลารับเสด็จที่อ่างศิลาเป็นพลับพลาที่สร้างค่อนข้างถาวร เพื่อจะได้ใช้ในโอกาศต่อไปด้วย โดยสร้างเป็นค่ายหลวงใหญ่ มีท้องพระโรงและพระที่นั่ง มีเรือนข้างหน้าข้างในใหญ่โต พร้อมทุกพนักงาน
วัดจีน 2490
วัดจีนอ่างศิลา (วัดอ่างศิลา) ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ยกบ้านอ่างศิลาขึ้นเป็นเมือง ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับจากเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีมาถึงอ่างศิลา ทรงพอพระทัยปลัดจีนเมืองชลบุรี ที่เสนาบดีกรมท่าจัดมาเป็นผู้ดูแลรักษา ค่ายหลวงอ่างศิลาที่ดูแลรักษาไว้ได้ดีมาก จึงมีรับสั่งกับเสนาบดีกรมท่าว่าจะยกบ้านอ่างศิลาให้เป็นเมืองหนึ่งขึ้นกับเมืองชลบุรี ด้วยเห็นว่า ที่บ้านอ่างศิลามีคนอยู่มากและจะทรงแต่งตั้งปลัดที่ดูแลความเรียบร้อย ที่บ้านอ่างศิลาในขณะนั้นขึ้นเป็นเจ้าเมือง เมืองอ่างศิลาเปลี่ยนฐานะมาเป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน ทำให้ทราบได้ว่า ชลบุรีมีร่องรอยการตั้งชุมชนเก่าแก่ในยุคหินขัดอยู่ด้วย เช่น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำพานทองเคยมีมนุษย์ในยุคหินใหม่อาศัยอยู่ โดยชนกลุ่มนี้นิยมใช้ขวานหินขัดเพื่อการเก็บหาล่าไล่ รวมถึงการใช้ลูกปัดและกำไล ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีลายที่เกิดจากการใช้เชือกทาบลงไปขณะดินยังไม่แห้ง นอกจากนี้ยังพบเศษอาหารทะเลพวกหอย ปู และปลาอีกด้วย
ในสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี ประมาณ 1,400-700 ปีก่อน บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคมในปัจจุบัน มีร่องรอยของเมืองใหญ่ชื่อ “เมืองพระรถ” ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มซึ่งแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำพานทอง โดยสามารถใช้แม่น้ำสายนี้เป็นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี จนไปถึงอรัญประเทศได้  อีกทั้งยังมีเส้นทางเดินเท้าเชื่อมไปถึงจังหวัดระยองและจันทบุรี ผ่านเมืองพญาเร่ซึ่งเป็นเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชลบุรี เมืองพระรถจึงกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของชลบุรีในยุคนั้น
งานประจำจังหวัดชลบุรี 2490
งานประจำปีจังหวัดชลบุรี ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ถัดลงมาทางทิศใต้ตามลำน้ำพานทองช่วงออกทะเลที่ปากน้ำบางปะกง ในอดีตยังมีเมืองสำคัญอีกแห่งตั้งอยู่ชื่อ “เมืองศรีพโล” โดยเมื่อ 600 ปีก่อนในสมัยสุโขทัย เมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองท่าชายทะเลที่มั่งคั่ง เปิดรับเรือสำเภาจากจีน กัมพูชา และเวียดนาม ให้มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไปยังปากน้ำเจ้าพระยา (เป็นที่น่าเสียดายว่ากำแพงเมืองศรีพโลได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นจากการก่อสร้างถนนสุขุมวิท จึงไม่เหลือร่องรอยทางโบราณคดีไว้ให้ศึกษาอีกต่อไป)  ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองศรีพโลก็ค่อยๆ หมดความสำคัญลง อาจเพราะปากแม่น้ำตื้นเขินจากการพัดพาสะสมของตะกอนจำนวนมหาศาล ประชาชนจึงย้ายถิ่นฐานลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บางปลาสร้อย” ซึ่งก็คือ “เมืองชลบุรี” ในปัจจุบัน (วัดใหญ่อินทารามในตัวเมืองชลบุรีปัจจุบัน ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังการค้าขายระหว่างคนไทย จีน และฝรั่ง บ่งบอกถึงบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักในอดีต)
ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระอินทอาษา ชาวเมืองเวียงจันทน์พาชาวลาวจำนวนหนึ่งมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นอาศัยอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา (บริเวณเมืองพนัสนิคมในปัจจุบัน) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้รวบรวมเมืองเล็กๆ ต่างๆเข้าด้วยกันจนกลายเป็น “จังหวัดชลบุรี” ดังเช่นทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น