| จากหลักฐานทางโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ภายในจังหวัดปทุมธานี เป็นที่น่าเชื่อว่าจังหวัดปทุมธานีในอดีต เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในยุคต้น |
| ของอาณาจักรศรีอยุธยาประกอบกับ "ตำนานท้าวอู่ทอง"ทำให้เรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ผ่านมายังเมืองปทุมธานีมีความจริงอยู่มาก "ตำนานท้าวอู่ทอง" ที่จังหวัดปทุมธานี มีปรากฏอยู่ 2 เรื่อง คือ ตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง เสด็จหนีโรคห่าผ่านมายังวัดมหิงสารามตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคกเรื่องหนึ่งและตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง อันเป็นประวัติวัดเทียนถวาย อำเภอเมืองอีกเรื่องหนึ่ง |
|
ตำนานท้าวอู่ทอง ที่วัดมหิงสาราม ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลบางกระบือ เล่าต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งในอดีต ท้าวอู่ทองได้อพยพไพร่พล หนีโรคห่า ขณะผ่านเขตสามโคกเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วประกอบกับเกวียนชำรุด จึงหยุดพักไพร่พล ที่บริเวณวัดมหิงสาราม กับทั้งได้ออกปากขอยืมเครื่องมือจากชาวบ้านละแวกนั้นเพื่อนำมาซ่อมแซมเกวียนแต่ได้รับการปฏิเสธ ท้าวอู่ทองทรงพิโรธนัก และในคืนนั้นเองทรงแอบฝังทรัพย์สมบัติส่วนที่ไม่สามารถนำไปได้เพราะเกวียนชำรุด ไว้ในบริเวณวัด และสาปแช่งมิให้ผู้ใดนำทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ไปได้เลย สภาพปัจจุบันวัดมหิงสารามเป็นวัดร้าง ชำรุดทรุดโทรม เหลือเพียงผนังพระอุโบสถเพียง 4 ด้านเท่านั้นอยู่ห่างจากลำน้ำเจ้าพระยาประมาณสองกิโลเมตร สาเหตุที่ร้างมีผู้สันนิษฐานต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นเพราะลำน้ำเปลี่ยนทางเดิน บ้างก็คิดว่าเพราะกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 ตำนานท้าวอู่ทองจากคำบอกเล่าทางวัดเทียนถวาย ความว่า พระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนหนีโรคห่า พร้อมด้วยไพร่พล สัมภาระบรรทุกเกวียนมาประมาณแปดสิบเล่ม ได้หยุดพักไพร่พลอยู่ที่หนองแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกชื่อว่า หนองปลาสิบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง) ตอนกลางคืนได้จุดไฟสว่างไสวตลอดทั้งคืนนานเป็นแรมเดือน เมื่อโรคห่าสงบแล้ว ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดในบริเวณที่เคยประทับขึ้น 1 วัด สมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า "วัดเกวียนไสว" ต่อมาแผลงเป็น "วัดเทียนถวาย" ในพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา บริเวณสองริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานี ในอดีตเต็มไปด้วยป่าไม้หนาแน่นอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด บ้านเรือนราษฎร ตั้งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ และบ้านเรือนเริ่มจะมีมากขึ้นในภายหลังที่พระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีปทุมธานีคงเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ เป็นต้นด่านกักนาวาก่อนที่จะเดินทางผ่านเข้ามาสู่ตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ชุมชนในเขตจังหวัดปทุมธานี เริ่มขยายตัวเป็นชุมชนเมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันออก ตั้งแต่บริเวณวัดสองพี่น้องถึงวัดป่างิ้วในปัจจุบัน (แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัด "พญาเมือง" และ "วัดนางหยาด") โดยมีคันคูเมืองโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยต่าง ๆ ในอดีตให้ได้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รู้จักกันในนามว่า "เมืองสามโคก" |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น