ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
บรูไน (Brunei) หรือ รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam) (มาเลย์: Negara Brunei Darussalam) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชายฝั่งทางด้านเหนือจรดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกที่เหลือจากนั้นถูกล้อมรอบด้วย รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย
ธงชาติ
ประวัติศาสตร์
บรูไนเป็นที่รู้จักและมีอำนาจมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยมีอาณาเขตครอบครองส่วนใหญ่ของเกาะบอร์เนียวและส่วนหนึ่งของหมู่เกาะซูลูมีชื่อเสียงทางการค้า สินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ การบูร พริกไทย และทองคำ
จนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ด้วยความวิตกว่าจะต้องเสียดินแดนต่อไปอีก บรูไนจึงได้ยินยอมเข้าอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) บรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญายินยอมอยู่เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ
ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) บรูไนสำรวจพบน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่เมืองเซรีอา ทำให้บรูไนมีฐานะมั่งคั่งในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล ต่อมาจึงได้ยึดอำนาจจากสุลต่าน แต่สุลต่านทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารกูรข่าที่อังกฤษส่งมาจากสิงคโปร์ หลังจากนั้นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุทุก ๆ 2 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่อยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษมาถึง 95 ปี บรูไนก็ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984)
การเมือง
รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนเชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิด และจะต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ นอกจากนี้ บรูไนไม่มีสภาที่ได้รับเลือกจากประชาชน
นโยบายหลักของบรูไน ได้แก่การสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในชาติ และดำรงความเป็นอิสระของประเทศ ทั้งนี้ บรูไนมีที่ตั้งที่ถูกโอบล้อมโดยมาเลเซีย และมีอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่อยู่ทางใต้ บรูไนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิงคโปร์ เนื่องจากมีเงื่อนไขคล้ายคลึงกันหลายประการ อาทิ เป็นประเทศเล็ก และมีอาณาเขตติดกับประเทศมุสลิมขนาดใหญ่
นับจากการพยายามยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกส่งผลให้ไม่มีการเลือกตั้ง รวมทั้งบทบาทพรรคการเมืองได้ถูกจำกัดอย่างมาก จนปัจจุบันพรรคการเมือง ได้แก่ Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) และ Parti Kesedaran Rakyat (PAKAR) ไม่มีบทบาทมากนัก เนื่องจากรัฐบาลควบคุมด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ กฎหมายความมั่นคงภายในประเทศ (Internal Security Act (ISA)) ห้ามการชุมนุมทางการเมือง และสามารถถอดถอนการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองได้ ตลอดจนห้ามข้าราชการ (ซึ่งมีเป็นจำนวนกว่าครึ่งของประชากรบรูไนทั้งหมด) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นว่าพรรคการเมืองไม่มีความจำเป็น เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสุลต่านได้อยู่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น