วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ดอกไม้ประัจำประเทสกลุ่มอาเซียน


เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว (พ.ศ.2558) เพื่อผนึกกำลังในการพัฒนาแต่ละประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยกับเขาด้วย วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีข้อมูลเบา ๆ เกี่ยวกับดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติอาเซียนในแต่ละประเทศมาฝากกันเพื่อเพิ่มเติมความรู้ ว่าแต่จะมีดอกไม้อะไรบ้าง อย่ารอช้ารีบไปดูกันเลย..

10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 1. บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) : ดอกซิมปอร์

          ดอกไม้ประจำชาติบรูไน ก็คือ ดอกซิมปอร์ (Simpor) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดอกส้านชะวา (Dillenia) ดอกไม้ประจำท้องถิ่นบรูไน ที่มีกลีบขนาดใหญ่สีเหลือง หากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไน มีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล หากใครแวะไปเยือนบรูไน จะพบเห็นได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมืองอีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 2. ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) : ดอกลำดวน

          กัมพูชามีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกลำดวน (Rumdul) ดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล กลีบดอกหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็นแบบกรุ่น ๆ ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น และเป็นดอกไม้สำหรับสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้อง ต้องปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธ ด้วยนะ


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) : ดอกกล้วยไม้ราตรี

          ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย คือ ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid) ซึ่งเป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุด โดยช่อดอกนั้นสามารถแตกกิ่งและอยู่ได้นาน 2-6 เดือน โดยดอกจะบานแค่ปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Lao People's Democratic Republic of Lao PDR) : ดอกจำปาลาว

          ดอกไม้ประจำชาติประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศลาว คือ ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม โดยดอกจำปาลาวมักมีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขกอีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 5. ประเทศมาเลเซีย (Malaysia) : ดอกพู่ระหง

          สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า บุหงารายอ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ดอกชบาสีแดง ลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดง มีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และความงามได้อีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 6. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) : ดอกพุดแก้ว

          ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย เคยถูกนำมาใช้เฉลิมฉลองในตำนานเรื่องเล่ารวมทั้งบทเพลงของฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 7. สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore) : ดอกกล้วยไม้แวนด้า

          ประเทศสิงคโปร์ มี ดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกกล้วยไม้แวนด้าตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ Miss Agnes Joaquim จัดเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์ มีสีม่วงสดสวยงามและเบ่งบานอยู่ตลอดทั้งปี โดยถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 8. ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) : ดอกราชพฤกษ์

          ดอกไม้ประจำชาติไทยของเรา ก็คือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) ที่มีสีเหลืองสวยสง่างาม เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ดอกคูน โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 9. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam) : ดอกบัว

          ประเทศเวียดนาม มีดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง ดอกบัว (Lotus) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกบัวเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” เป็ญสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี ดอกบัวจึงมักถูกกล่าวถึงในบทกลอนและเพลงพื้นเมืองของชาวเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 10. สหภาพพม่า (Union of Myanmar) : ดอกประดู่

          ดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า คือ ดอกประดู่ (Paduak) เป็นดอกไม้ที่พบมากในประเทศพม่า มีสีเหลืองทอง ผลิดอกและส่งกลิ่นหอมในฤดูฝนแรก ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศพม่ามีการเฉลิมฉลองปีใหม่ขึ้น ชาวพม่าเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน และเป็นดอกไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธีทางศาสนาของชาวพม่าเลยล่ะ

          รู้จักกันไปแล้วสำหรับดอกไม้ประจำชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ที่หลายดอกก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดีและเคยเห็นในประเทศไทยอยู่บ้าง หากพบเจอเพื่อนร่วมประชาคมอาเซียนที่แวะมาเยี่ยมเยียนเมืองไทยแล้วล่ะก็ ลองมอบดอกไม้เหล่านี้ให้เพื่อเป็นการต้อนรับ ก็คงจะสร้างความปลื้มใจให้ไม่น้อยอยู่เหมือนกันนะ



ประวัติวันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง
              เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่(เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา"มักจะ" ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง

              ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาพระแม่คงคาด้วย


ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

              ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า "ยี่เป็ง" หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)


จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"


จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง


ภาคอีสานจะตบแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"


กรุงเทพฯ จะมี งานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว7-10วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง


ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา



ประวัติ
              เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3


ปัจจุบันวันลอยกระทงเป็นเทศกาลที่สำคัญของไทย
              ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวปีละมากๆ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว และมีอากาศดี ในวันลอยกระทง ยังนิยมจัดประกวดนางงาม เรียกว่า "นางนพมาศ"

ความเชื่อเกื่ยวกับวันลอยกระทง
# เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
# เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย
# เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
# ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้ 

ประวัติ กฎกติกา กีฬาขี่ม้า


ประวัติ กฎกติกา กีฬาขี่ม้า


ประวัติ

มนุษย์มีความสัมพันธ์กับม้าสูงมาก เพราะเป็นสัตว์ที่สามารถเรียนรู้และตอบสนองมนุษย์ได้หลาย ๆ สิ่งทำให้เกิดความรัก ความประทับใจในความสามารถ ในรูปร่างที่สง่างามและแววตาที่ส่งประกายของความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับมนุษย์รู้จักวิธีการนำม้ามาใช้งานในหลายรูปแบบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การทำศึกสงคราม ช่วยในการทำกสิกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการขี่ม้าเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบของการแข่งขัน
พ.ศ. 2521 ก่อตั้งสมาพันธ์ขี่ม้าแห่งเอเซีย
พ.ศ. 2525 บรรจุเข้าแข่งขันครั้งแรกในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 9

ประวัติกีฬาขี่ม้าในประเทศไทย 
พ.ศ. 2519 ก่อตั้งสมาคมนักขี่ม้าสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2520 เป็นสมาชิกในเครือโอลิมปิก
พ.ศ. 2526 เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ขี่ม้านานาชาติ

กฎกติกา

กีฬาขี่ม้าถูกแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้คือ
1. Dressage ศิลปการบังคับม้า
2. Show jumping กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง
3. Eventing อีเว้นติ้ง
4. Driving รถม้า
5. Vaulting ยิมนาสติกบนหลังม้า
6. Endurance การขี่ม้าวิบาก

ในโอลิมปิคเกมส์ กีฬาขี่ม้าถูกยอมรับและบรรจุเพียง 3 ประเภทแรกเท่านั้นสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดให้มีการแข่งขันในเฉพาะ 3 ประเภทแรก ซึ่งได้รับความนิยมกันในหมู่สมาชิกสโมสรต่าง ๆ ฉะนั้นจะขอกล่าว เฉพาะกีฬาประเภทที่มีการแข่งขันกันในเมืองไทยและโอลิมปิกเท่านั้น

1. ศิลปะการบังคับม้า Dressage

ก่อนการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันจะไดรับแบบทดสอบที่กำหนดว่า จะต้องทำท่าอะไรบ้าง ในเวลาที่กำหนดให้ เรียกว่าคะกนนจากท่าบังคับ จะมีคะแนนเต็มข้อละ 10 คะแนน สมมุติ 20 ข้อ คือ 200 คะแนน ส่วนที่ 2 คือ คะแนนสะสม ดูจากภาพรวมการแสดงออกของม้าและการขี่เป็นหลัก ตรงนี้มี 4 ข้อตายตัว ข้อละ 10 คะแนน เป็น 40 คะแนน รวมคะแนน 2 ส่วนเป็นคะแนนทั้งหมด 240 คะแนน แพ้ชนะดูจากคะแนนที่ได้รับในแต่ละข้อรวมกัน คะแนนสูงสุด (ใกล้ 240 มากที่สุด) คือผู้ชนะ

2. กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง Show jumping 

กีฬาขี่ม้าประเภทนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องหลักอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ 
1. กรรมการตัดสิน
2. ผู้ออกแบบสนาม (เครื่องกระโดดที่กำหนดวางไว้ในสนามแข่งขันจะถูกเปลี่ยนไปทุกครั้งของการแข่งขัน)
3. นักกีฬาและม้าที่แข่งขัน

ผู้ออกแบบสนามแข่งขันจะเป็นผู้เริ่มออกแบบเครื่องกระโดดชนิดต่าง ๆ ที่จะใช้ทดสอบนักกีฬา และม้า ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 10-12 เครื่อง (รวมทั้งเครื่องต่อเนื่อง) กำหนดความสูง ความกว้างของแต่ละเครื่องตามระดับความสามารถของการแข่งขันนั้น ๆ และทิศทางในการเคลื่อนที่ (เลี้ยวไปเลี้ยวมา ระดับความสามารถน้อยมุมเลี้ยวจะกว้าง ระดับความสามารถสูงมุมเลี้ยวจะแคบทำให้ยากสำหรับการกระโดด) จากนั้นกรรมการตัดสินจะทำการตรวจและรับรองการออกแบบเพื่อให้มั่นใจว่ายุติธรรมและปลอดภัยสำหรับผู้แข่งขัน เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าไปเดินสำรวจทิศทางการเคลื่อนที่ จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดซึ่งได้ถูกกำหนดระยะทางไว้แล้วและเมื่อพร้อมแล้วการแข่งขันจึงจะเริ่มขึ้นได้

ในกีฬาประเภทนี้คะแนนทุกคนที่ได้รับก่อนการแข่งขันคือ 0 คะแนน ถ้านักกีฬาสามารถกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางได้ทุกเครื่องโดยไม่ทำไม้ขวางตก ภายในเวลาที่กำหนดไว้ (วัดระยะทางไว้แล้ว) ก็จะมีคะแนนเป็น 0 คะแนน นั่นคือ คะแนนที่ดีที่สุด เพราะปกติไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถผ่านแบบทดสอบได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด สมมติว่าเข้าแข่งขัน 10 คนไม่พลาดเลย 3 คน อีก 7 คนที่เหลือพลาดในแต่ละเครื่องแตกต่างกันออกไป ก็จะมีคะแนนแตกต่างลดกลั่นกันไป โดยจะมีคะแนนติดลบ เช่น -3, -4 หรือ -8 ฉะนั้นการที่ได้คะแนน 0 จึงถือเป็นคะแนนที่ดีที่สุด

ปัจจัยต่อไปที่เกี่ยวข้องในกีฬาประเภทนี้คือ ปัจจัยเวลาที่กำหนดให้ สมมติว่า จากจุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุด มีระยะทาง 300 เมตร ถ้ากำหนดให้ใช้ความเร็ว 300 ม./ นาที (60 นาที) นั่นหมายความว่านักกีฬานอกจากจะต้องพยายามไม่ให้มีปัญหาที่เครื่องกระโดดแล้ว จากจุดเริ่มต้นจะต้องผ่านจุดสิ้นสุดให้ได้ภายในเวลา 60 วินาที ถ้าเกินกว่านั้นจะโดนตัดคะแนนวินาทีละ 0.25 คะแนน ยกตัวอย่าง ผู้ขี่ใช้เวลา 64 วินาที คือเกิน 4 วินาที เสียเวลาวินาทีละ 0.25 คะแนน รวมเป็นเสีย 1 คะแนน

ในกรณีที่คะแนนดีที่สุดเท่ากัน จะมีการตัดสินโดยกระโดดรอบชิงชนะเลิศอีกครั้งหนึ่งโดยผู้ออกแบบสนามจะกำหนดจำนวนเครื่องกระโดดให้น้อยลง ทิศทางการเคลื่อนที่จะยากขึ้น ความสูง ความกว้าง จะเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยเวลาที่เกี่ยวข้องคราวนี้ถูกระบุให้เป็นตัวตัดสินแพ้ชนะคือ ในรอบนี้นอกจากจะต้องไม่มีคะแนนเสียแล้วคนที่เวลาเร็วที่สุดคือผู้ชนะนี่เองคือสาเหตุของความตื่นเต้นเร้าใจในกีฬาประเภทนี้คือ

3. อีเว้นติ้ง Eventing

เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจและมีโอกาสแก้ตัวได้ในวันต่อไป เพราะกีฬาประเภทนี้ต้องทดสอบถึง 3 แบบ คือ

ทดสอบด้วย
1. ศิลปะการบังคับม้า
2. ข้ามภูมิประเทศ
3. กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง 
แล้วเอาคะแนนทั้งหมดมารวมกัน ใครเสียคะแนนน้อยที่สุดคนนั้นเป็นผู้ชนะ ในการแข่งขันวันแรกจะเป็นการแข่งขันศิลปะการบังคับม้า ซึ่งเป็นกากรแข่งขันที่ไม่หนักมากนัก แต่ผู้ขี่ก็ต้องพยายามเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นการเก็บคะแนนสะสมไว้ในวันแรก ในวันที่สองของการแข่งขันจะเป็น การแข่งขันข้ามภูมิประเทศ เป็นการแข่งขันความเร็ว และความทรหด โดยแบ่งอกเป็น 4 phase คือ 

Phase A : Roads and Tracks
ซึ่งผู้แข่งขันจะต้องขี่ม้าไปตามเส้นทางที่กำหนดให้ในภูมิประเทศเป็นระยะทางประมาณ 3-6 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับเกรดของผู้แข่งขัน ผู้ขี่จะต้องกะความเร็วในการเดินทางให้ได้ประมาณกิโลเมตร ใน 4 นาที ซึ่งผู้ขี่สามารถใช้ฝีเท้าวิ่งเรียบหรือโขยกสั้นก็ได้ แต่จะต้องระลึกไว้เสมอว่ายังมีการแข่งขันรออยู่อีก 3 Phase

Phase B : Steeplechase
เป็นการแข่งขันในลู่วิ่ง ซึ่งมีเครื่องกีดขวางตั้งไว้เป็นระยะประมาณ 6-8 เครื่อง ซึ่งสิ่งที่สำคัญของ Phase นี้ คือ ผู้แข่งขันจะต้องผ่าน Phase ให้ได้ในเวลาที่กำหนด คือ 640 เมตร / นาที (เร็วมาก)

Phase C : Roads and Tracks อีกครั้ง 
ซึ่งใน Phase นี้จะมีระยะทางยาวกว่าใน Phase A เพื่อเป็นการผ่อนคลายม้า หลังจากวิ่งเร็วมากใน Phase B ปกติระยะทางประมาณ 5-8 กิโลเมตร ในความเร็วที่กำหนดให้เท่ากับ Phase A

Phase D : ข้ามภูมิประเทศ
การขี่ม้าวิบากในภูมิประเทศมีระยะทางประมาณ 4-8 กิโลเมตร จะมีเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติเป็นระยะ ตามเส้นทางที่ผู้ออกแบบสนามได้กำหนดไว้ จำนวนเครื่องกีดขวางมีประมาณ 30 หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับเกรดของการแข่งขัน ด้วยความเร็ว 520-570 เมตร/นาที

หลังจากผ่านการแข่งขันในภูมิประเทศอันทรหดในระยะทางประมาณไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลเมตร ในวันต่อไปจะเป็นการแข่งขันกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ซึ่งก่อนจะแข่งขันในแบบทดสอบนี้ได้ ม้าต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากกรรมการตัดสินเสียก่อน เพื่อป้องกันการทารุณสัตว์ เพราะการแข่งขันในภูมิประเทศโอกาสที่ม้าจะได้รับบาดเจ็บมีสูงกว่า การแข่งขันกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง เมื่อรวมเอาคะแนนทั้ง 3 แบบทดสอบแล้วผู้ที่มีคะแนนเสียน้อยที่สุดคือ ผู้ชนะเลิศ

ในปัจจุบันกีฬา Eventing แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 
1. 3 Day Event ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
2. 1 Day Event เหมือนกันทั้ง 3 แบบทดสอบ แตกต่างกันตรงที่การทดสอบในภูมิประเทศจะแข่งขันเฉพาะ Phase D เท่านั้น A, B, C ตัดออก การแข่งขันแบบนี้จะทำให้ลดการบอบช้ำของม้าไปได้มาก และสามารถทำให้การแข่งขันได้บ่อยขึ้น

ประวัติกีฬามวยสากล

ประวัติกีฬามวยสากล

  
      มวยเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ว่าเป็นศาสตร์เพราะเป็นวิชาการที่ทุกท่านอาจจะศึกษาหาความรู้ได้ เช่น วิชาแขนงอื่นๆ และที่ว่าเป็นศิลป์ก็เพราะว่า ศิลปะแขนงนี้ช่างมากไปด้วยกลยุทธ์และลวดลายซึ่งยากที่จะเรียนรู้และปฏิบัติไปอย่างเจนจบ ศิลปะอย่างสูงของนักมวยคนหนี่งยากที่นักมวยอีกคนหนึ่งจะพึงปฏิบัติสืบทอดกันต่อไปได้ ดังที่ทุกท่านตระหนักดีอยู่ว่ามวยเป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งตามธรรมชาติสืบทอดกันต่อไป ปัจจุบันมีมวยใหญ่อยู่ 2 ชนิดคือ มวยปล้ำ และมวยชก เพื่อนบ้านชกด้วยหมัดอย่างเดียวกัน อันเป็นที่นิยมกันทั่วโลก เรียกว่ามวยสากล
 

        มวยสากลนั้นมีมานานแล้วตามหลักฐานซึ่ง เซอร์ อาเซอร์ อีแวน ได้ค้นพบเศษรูปสลักของนักมวยโบราณซึ่งแยกออกเป็นชิ้น ๆ ในปี ค.ศ. 1900 ที่เมืองบอชชุส อันเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในเกาะครีต ของประเทศกรีช ทางตะวันออกของทะเลเมติเตอร์เรเนียน จากหลักฐานอันนี้ทำให้ทราบว่ามวยโบราณในสมัยกรีช ก่อนคริสตกาล ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ

      ระยะแรก ในสมัยของ โอมเมอร์ ประมาณ 600 – 300 ก่อนคริสตศักราช สมัยนั้นใช้หนังอ่อน ๆ ยาว 10 – 12 ฟุต พันตั้งแต่ข้อมือถึงข้อศอก จุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องป้องกันมือของผู้ชก กติกาก็มีเพียงเล็กน้อยแต่ยุติธรรม มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ ทนทาน และผีมือดี จึงจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญ

      ระยะที่สอง ระหว่าง 200 – 400 ปีก่อนคริสตศักราช มีการดัดแปลงไปเล็กน้อย คือการพันมือนั้นแน่นและหนักขึ้นกว่าเดิม และเป็นกีฬาที่นิยมกันมากที่สุดในสมัยนี้ ผู้เข้าแข่งนักกีฬาโอลิมปิกจะต้องเข้าค่ายฝึกอยู่อย่างน้อย 9 เดือน เมื่อจวนถึงวันแข่งขันจริง ก็มีการจับคู่คล้ายๆ กับในปัจจุบัน แข่งขันเวลาเที่ยงวันขณะดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะพอดี ซึ่งบรรยากาศตอนนั้นกำลังหรือล้มลง หรือยอมแพ้ ไม่มีผู้ตัดสินไม่มีการกำหนดน้ำหนัก ส่วนมากจึงมีแต่นักมวยรุ่นที่หนักที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า รุ่นเฮฟวี่เวท

      ระยะที่สาม ระหว่าง 400 ปีก่อนคริสตศักราช ลงมาจนถึงสมัยโรมันรุ่งเรือง สมัยนี้การชกมวยเป็นการต่อสู้ของพวก GIADIATORS ซึ่งอาจจะตายไปข้างหนึ่ง ต่อมาในราวปื ค. ศ. 394 โรมัน เสื่อมอำนาจลงการชกมวยก็ได้เสื่อมสูญไปด้วย

      ตอนโรมันเข้ายึดครองอังกฤษ ได้นำเอามวยไปเผยแพร่ในอังกฤษด้วย นักบุญ เบอร์นาด ได้เขียนเรื่องมวยในประเทศอิตาลีไว้อย่างละเอียด ในปี ค.ศ. 1240 ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า มวยเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ฝึกคนให้เป็นอัศวิน

มวยสากลของอังกฤษ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

      ระยะแรก ในระหว่างปี ค.ศ. 1698 ถึง 1790 อาจเรียกได้ว่าเป็น “สมัยมงกุฎผีสิง” เนต ในปี ค.ศ. 1740 ได้คำเนินการสอนมา และเป็นบุคคลแรกในปี ค.ศ. 1740 ที่ได้คิดกติกามวยสากลขึ้นจนได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งมวยสากลอังกฤษ

      ในปีเดียวกัน บรูตัน ก็ได้ประดิษฐ์นวมขึ้นในการชกมวย แต่คงใช้ในการสอนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของลูกผู้ชายเท่านั้น สำหรับมวยอาชีพยังให้มือเปล่าอยู่ อย่างไรก็ดีมวยสมัยนั้นก็ได้ตกทอดมาถึงมวยสากลในปัจจุบันนี้ ต่อมาในปี 1792 แต่เปีย เมนซ่า ได้ครองตำแหน่งผู้ชนะเลิศและได้พยายามรักษาตำแหน่งไว้จนถึงปี 1795 จึงได้เสียตำแหน่งแก่ จอห์น แจ๊คสัน ได้สละตำแหน่งในเวลาต่อมา และเปิดฝึกมวยขึ้นจนมีชื่อเสียง ด้วยมีลูกขุนนางและสุภาพชนมากหน้าหลายตามาสมัครเรียน มวยจึงกลายเป็นศาสตร์ที่เราต่างศึกษากันจนถึงวันนี้

      ต่อมาเนื่องจากมีการให้รางวัลเป็นเงินตราแก่นักมวย เงินตราจึงมีอิทธิพลเหนือการแข่งขันโดยได้มีการติดสินบนแก่ผู้จัดการของนักมวย มวยจึงเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าของเงินตราไป สมาคมหลายแห่งต้องล้มเลิกในระยะต่อมา วิกฤติการณ์ แห่งวงการนักมวยได้เกิดขึ้นดังนี้ ทางราชการอังกฤษ จึงไม่ร่วมมือด้วยนักมวยเองก็ละเมิดกติกา จึงมีอันตรายเกิดขึ้นเนือง ๆ ในที่สุดวงการมวยสากลของอังกฤษก็เสื่อมลงไประยะหนึ่ง

      เมื่อวิเคราะห์ดู กติกามวยสากลที่ บรูตัน คิดขึ้นแล้วจะเห็นได้ว่ายังไม่รัดกุม เช่น จำนวนยกที่กำหนดไว้ไม่แน่นอน สักแต่ว่าทำการแข่งขันไปจนกระทั่งนักมวยคนใดคนหนึ่งถูกน็อค หรือถูกเหวี่ยงจนล้มและไม่สามารถจะลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีกในเวลา 30 นาที การฟาวล์มีเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ การชกขณะล้ม และกอดหรือหมัดต่ำกว่าเอว กติกาเหล่านั้นภายหลังได้ชื่อว่า เป็นกติกาเกิดขึ้นใหม่ด้วยความร่วมมือของจอห์น ยี. เชมเบอร์ ในปี ค.ศ.1866 จึงได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นกติกาสากลอันเป็นรากฐานของกติกาที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ในกติกาได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ยก โดย 3 ยกแรกยกละ 3 นาที ยกสุดท้าย 4 นาที การตัดสินก็โดยความเห็นชอบจากฝายข้างมากของผู้ตัดสิน ผู้ใดถูกชกล้มสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีกภายใน 10 วินาที การชกต้องสวมนวมชกตลอดเวลา ผู้ชี้ขาดต้องอยู่ในสังเวียนเพียงคนเดียว กับนักมวยอีกสองคนเท่านั้น กติกานี้วงการมวยสมัครเล่นนำไปใช้ทันที แต่สำหรับมวยอาชีพได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพียงเรื่องจำนวนยก คือจะสู้กันกี่ยกก็ได้แล้วแต่เพิ่มระเบียบการตัดสินและการบันทึกให้รัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้น

      การใช้นวมเริ่มกันอย่างจริงจังในการชกมวยสากลสมัครเล่น สมัยการใช้กติกา ควีนส์เบอร์ บี ค.ศ. 1860 นี้เอง ก่อนนั้นนิยมการพันมือแทนนวม และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ มาจนถึงสมัยกิจการมวยได้ถูกยกขึ้นเป็นศิลปะ ความจริงการใช้นวมทำให้การชกลดอันตรายลงได้มากและทำให้การชกรวดเร็วน่าดูยิ่งขึ้น ผู้ชกไม่ต้องพะวงถึงอันตรายเกี่ยวกับมือหักหรือเคล็ดอีกต่อไป

      ในปี ค.ศ. 1882 จอห์น ซัลลิแวน ชาวอเมริกันได้ชกชนะ แพ็คคคี้ ไรอั้น ชาวอังกฤษ และได้รับยกย่องให้เป็นผู้ชนะเลิศแห่งอเมริกัน ในการชกตามกติกามวยชิงรางวัลแห่งกรุงลอนดอน 9 ยก ที่เมืองมิสซิสชิบบี้

            ในปี ค.ศ. 1887 แจ็ค คิลเร่น แห่งอเมริกา เสมอกับ เจมส์สมิธ แห่งอังกฤษ และในการแข่งขันคราวนี้เองได้เป็นที่ยอมรับกันว่า ทั้งคู่ได้เป็นผู้ครองเข็มขัดผู้ชนะเลิศแห่งโลกเป็นครั้งแรก

      ต่อมาในวันที่ 8 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1889 จอห์น แอล ซัลลิแวน ได้ชิงตำแหน่งชนะเลิศของโลก จากแจ๊ค คิลเร่น ที่เมืองริชเยอร์ก มลรัฐมิสซิสชิบบี้ ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบมือเปล่าครั้งสุดท้ายในอเมริกา เป็นจำนวนถึง 75 ยก ชิลล์แวนผู้เลิศประกาศว่าจะไม่ชกด้วยมือเปล่า อีกต่อไป

      ในปี ค.ศ. 1914 มี 5 รัฐ ในอเมริกา คือ นิวยอร์ค แคลิฟอร์เนีย หลุยส์เซียน่า เนวาด้า และฟอริดา ได้ตกลงแบ่งจำนวนออกเป็น 20 ยกเหมือนกัน ในปีนี้รัฐบาลกลางได้ตรากฎหมายควบคุมในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้แบ่งการชกเหลือเพียง 4 ยก ในปี 1915

      ระหว่างปี ค.ศ. 1915 – 1930 นับว่าเป็นระยะการชกมวยในสหรัฐอเมริการุ่งเรืองถึงขีดสุด มลรัฐนิวยอร์ค และมลรัฐวิสคอนซิล ได้ตรากฎหมายควบคุมในตอนนี้ มีกฎหมายควบคุมการชกมวยในมลรัฐต่างๆ เป็นจำนวนมากทั้งสิ้น 44 มลรัฐ

      ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการฝึกซ้อมมวยกันในกองทัพเพื่อฝึกให้ทหารมีจิตใจกล้าหาญเพื่อการสู้รบในยามสงคราม ฝึกให้มีสมรรถภาพทางกาย หูตาไว การทรงตัวดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตนเองในเวลาเข้าต่อสู้ และเหนือสิ่งอื่นใดก็ฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มวยสากลจึงเป็นกิจกรรมที่นิยมกันในกองทัพทหารตลอดมา

      มวยสากลเข้าสู่สถานศึกษาครั้งแรกในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาจูเสตด์ เริ่มศึกษากันอย่างจริงจังในระหว่างปี ค.ศ. 1886 – 1919 และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ถึงกับได้ตั้งสถาบันสำหรับฝึกหัดมวยขึ้นโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่ง ผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมากในปี ค.ศ.1920 ได้บรรจุวิชามวยสากลเข้าในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ทำให้กิจกรรมมวยสากลได้แพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมวยสากลซึ่งได้กำหนดไว้ในวิชาพลศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกได้ขยายตัวมากขึ้นเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ฝึกเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ป้องกันตัวและทำการแข่งขันระหว่างโรงเรียนประจำ อันเป็นทางหนึ่งที่ผลิตนักมวยสากลให้แก่สมาคมมวยสมัครเล่นและมวยสากลอาชีพต่อไป

ประวัติกีฬามวยไทย

ประวัติกีฬามวยไทย

  
     มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและป้องกันชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝนวิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธรบในสมัยโบราณเช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าสู้ติดพันประชิดตัวก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้น ผู้ใหญ่หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดาอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดขุนพล หรือนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
 
 
     มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวแต่แตกต่างไปจากมวยสากล คือนอกจากจะใช้หมัดชกคู่ต่อสู้แล้ว ยังสามารถใช้เท้าและศอกต่อสู้ได้อีก การใช้หมัดชกในแบบมวยไทย นอกจากจะมีการชกตรง ชกฮุก และอัปเปอร์คัท เหมือนกับแบบมวยสากลแล้ว มวยไทยยังมีการชกแบบหมุนตัว เหวี่ยงหมัดกลับถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้จ้องดูและไม่ก้มศีรษะลง มักจะถูกหมัดเหวี่ยงกลับของคู่ต่อสู้ถึงกลับน้อกเอ๊าท์ได้ หมัดเหวี่ยงกลับเป็นหมัดหนึ่งคล้ายกับหมุนตัวเหวี่ยงหมัดกลับ แต่ใช้ข้อมือหรือหลังมือทุบหรือต่อสู้ นักมวยไทยทั่ว ๆ ไปยังใช้วิธีการตามแบบชกตามแบบเหล่านี้อยู่และนอกจากนั้นยังใช้อวัยวะอย่างอื่นช่วยได้อีกหลายวิธี เช่น ใช้เท้า เตะต่ำ เตะสูง เตะตรง และถีบ ซึ่งจะใช้ทั้งปลายเท้าฝาเท้า หลังเท้าและส้นเท้า นักมวยไทยมีความชำนาญมากในการใช้เท้า ส่วนใหญ่เป็นการเตะและถีบ ส่วนการใช้เข่า นักมวยไทยก็ใช้ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น กระโดดตีเข่า นอกจากนั้นยังรู้จักใช้ศอกซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง วิธีตีศอกก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือ ศอกตี หมายถึงกดปลายศอกลง โดยแรง ศอกตัด คือเหวี่ยงศอกขนานกับพื้น ศอกงัด คือ งัดปลายศอกขึ้นหรือยกปลายศอกขึ้น ศอกพุ่ง คือ พุ่งศอกออก ไปยังคู่ต่อสู้ ศอกกลับ คือ การหมุนตัวกลับพร้อมกับตีศอกตามแบบต่าง ๆ ไปด้วย
     การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว ต่อสู้กันจริง ๆ และหวาดเสียวตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้ นักมวยสมัยเก่าต้องใช้ด้ายดิบชุบแป้งให้แข็ง มักเล่ากันว่าใช้น้ำมันชุบเศษแก้ว เพื่อให้มีพิษสงยิ่งขึ้น แต่ก็ได้มีผู้คัดค้านว่าไม่เป็นความจริงที่จริงนั้นคือไปเอาด้ายผูกศพพันมือ ซึ่งมีน้ำเหลืองติดเป็นเหมือน ๆ แป้งชุบเศษแก้ว ทั้งนี้เพราะต้องการความขลัง ชนะคู่ต่อสู้ได้ในทางจิตใจมากกว่า ด้ายสายสิญจน์เป็นเส้นขนาดดินสอดำ พันมือตั้งแต่สันมือถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อมือ ( สันหมัด ) เป็นรูปก้นหอยเรียกว่า “ คาดเชือก ” ซึ่งไม่มีการสวมนวมเหมือนๆ อย่างสมัยปัจจุบัน ฉะนั้นก็แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้เลือดซึมออกมาทันที ในสมัยก่อนเมื่อครั้งยังไม่มีกติกาข้อห้ามมากนักกับทั้งไม่รัดกุมเหมือนสมัยปัจจุบัน นักมวยทั้งสองฝ่ายจะต้องต่อสู้กันอย่างระมัดระวังศีรษะก็ใช้ชนคู่ต่อสู้เพียงแต่ห้ามกัดกันเท่านั้น ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงกติกาการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
     การแข่งขันมวยไทยในปัจจุบันนี้ นักมวยต้องสวมนวมขนาด 4 ออนซ์ และแต่งกายแบบนักกีฬามวย คือ สวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ ส่วนผู้ใดจะสวมปลอกรัดข้อเท้าและจะมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้ ในการแข่งขันมีผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวที 1 คน มีผู้ตัดสินให้คะแนนอยู่ข้างเวที 2 คน มีผู้จับเวลา 1 คน และมีแพทย์ประจำเวที 1 คน จำนวนยกในการแข่งขัน ทั้งหมดมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนักของนักมวยเหมือนกับหลักเกณฑ์ของนักมวยสากล ผู้ตัดสินมีอำนาจหน้าที่ตามกติกาการแข่งขัน อวัยวะที่ใช้ในการแข่งขันได้ คือ หมัด เท้า เข่า และศอก เข้าชก เตะ ถีบ ทุบ ถอง ตี ฯลฯ     ได้ทุกส่วนของร่างกายโดยไม่จำกัดที่ชก
     ก่อนการแข่งขันนักมวยทั้งสองจะทำการไหว้ครูและร่ายรำ คือ กราบสามครั้งเพื่อระลึกถึงบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอคุณพระศรีรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยคุ้มครองตน และขอให้ได้ชัยชนะด้วยความปลอดภัยในที่สุด แล้วจึงร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่ได้สอนไว้ให้โดยตลอด นักมวยทุกคนจะสวม “ มงคล ” ที่ศีรษะมงคลนี้ทำด้วยเส้นด้ายดิบหลายเส้นรวมกันแล้วพันหุ้มด้ายผ้าโตขนาดนิ้วมือ ทำเป็นรูปวงเพื่อสวมศีรษะ การสวมมงคลไว้ก่อนแข่งขันนี้เป็นขนบธรรมเนียมของประเพณีไทยถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งครูอาจารย์ได้ทำพิธีปลุกเสกและให้ความเป็นสิริมงคลไว้แก่ตน ฉะนั้น นักมวยจะสวมมงคลไว้ตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครูและร่ายรำ และจะถอดออกจากศีรษะได้ในเมื่อจะเริ่มการแข่งขัน ในระหว่างการไหว้ครูและร่ายรำนั้นจะมีดนตรีบรรเลงประกอบตามทำนองดนตรีไทยเป็นจังหวะช้า ๆ เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ ปี่ชวา 1 กลองแขก 2 และฉิ่ง 1 เมื่อถอดมงคลออกแล้ว กรรมการผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยทั้งสองมาจับมือกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพร้อมกันนั้นก็จะตัดเตือนกติกาสำคัญๆ อันเกี่ยวกับการแข่งขันให้นักมวยทั้งสองได้ทราบครั้นเมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ดนตรีก็บรรเลงในทำนองเร่งเร้าให้นักมวยทั้งสองเกิดความรู้สึกฮึกเหิมและมุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด การร่ายรำและต่อสู้โดยมีดนตรีประกอบนั้น นอกจากจะถือว่าเป็นศิลปะแล้วยังเป็นประเพณีอันดีงามของชาวไทยมาแต่โบราณกาลจนไม่อาจจะทิ้งให้สูญหายไปเสียได้
     ในปัจจุบัน การแข่งขันมวยไทยเป็นกีฬาอาชีพโดยสิ้นเชิง เฉพาะในกรุงเทพฯมีการแข่งขันเป็นประจำเกือบทุกวัน ๆ 2 รอบก็มี สำหรับการควบคุมมวยอาชีพขึ้นอยู่กับกฎข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยและไม่มีสมัครเล่นมวยสากลที่มิใช่อาชีพก็มีเพียงการฝึกสอนในสถาบันการพลศึกษา เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อมิให้ศิลปะมวยไทยสูญหายไปและเพื่อรักษาไว้ซึ่งการกีฬาประจำชาติอันเป็นศิลปะในการต่อสู้ชาวต่างประเทศที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มักจะไม่ยอมพลาดโอกาสที่ไปชมการแข่งขันมวยไทยจะต้องพยายามเข้าชม แข่งขันมวยไทยให้ได้ ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก เพราะมวยไทยมีวิธีการชกที่แปลกที่สุดในโลก และยิ่งกว่านั้นนักมวยไทยยังได้เคยเดินทางไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป

ประวัติกีฬาเทควันโด


ประวัติกีฬาเทควันโด

     เทควันโด กีฬาประจำชาติเกาหลี ที่มีคนเล่นถึง 70 ล้านคน ใน 123 ประเทศทั่วโลก โดยมี 3 ล้านคนที่เป็นนักกีฬาในระดับสายดำ ความหมายของคำว่า เท (Tae) คือ การปะทะหรือโจมตีด้วยเท้า ควัน (Kwon) คือ การปะทะหรือโจมตีด้วยมือ และ โด (Do) คือ หลักการหรือศิลปะ ดังนั้นโดยรวมแล้ว เทควันโด (Taekwondo) หมายถึง ศิลปะหรือหลักการของการปะทะหรือโจมตีด้วยเท้าและมือ เป็นกีฬาที่ผสมผสานระหว่างการต่อสู้ การป้องกันตัวเอง กีฬา การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิและปรัชญา
     กีฬาเทควันโด เป็นศิลปะการป้องกันตัวของประเทศเกาหลี ที่มีประวัติที่ยาวนาน โดยทั่วไปรูปแบบของการฝึกมี 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกเป็นแบบฝึกเพื่อการทหารดั้งเดิม ขณะที่แบบที่สอง เป็นรูปแบบที่เกี่ยวข้องหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ที่มีเรื่องของความเร็วและการแข่งขันมากกว่า 
     ความสำเร็จและความก้าวหน้าของเทควันโดมีอย่างมากโดยเฉพาะหลังจากการอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี ค.ศ. 1940-1945 เมื่ออาจารย์ ซอง คุก ดี แห่งสำนัก Teakyondo ได้สาธิตเทควันโดให้เห็นความแตกต่างจากกีฬาศิลปป้องกันตัวของจีนและญี่ปุ่น และมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนเทควันโด และสมาคม Korean Taekwondo Association (KTA) ได้ก่อตั้งขึ้น และต่อมามี 2 สมาคมเทควันโดในระดับนานาชาติเกิดขึ้น 2 สมาคมได้แก่ สหพันธ์เทควันโดนานาชาติ (International Taekwondo Federation: ITF) ได้ก่อตั้งขึ้น ในปี ค.ศ. 1966 ตามด้วย สหพันธ์เทควันโดโลก (World Taekwondo Federation: WTF) ในปี ค.ศ. 1973 และเทควันโดได้รับบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกม ในปี ค.ศ. 1974 และกีฬาโอลิมปิกเกมในปี ค.ศ. 2000 ปัจจุบันมีการแข่งขันตั้งแต่กีฬาโอลิมปิก เอเชียนเกม กีฬามหาวิทยาลัยโลก กีฬาในเครือจักรภพ กีฬาเอเชียใต้
     ในการแบ่งระดับความสามารถของนักกีฬาเทควันโด ใช้การแบ่งด้วยสายสี ที่มีความหมายและระดับความสามารถที่แตกต่างกัน ของแต่ละกลุ่มความสามารถ  โดยทั่วไปตั้งแต่สายดำ (สายที่มีความสามารถสูงสุด) จนถึงสายขาว (เป็นสายการแข่งขันที่มีระดับต่ำที่สุด) อย่างไรก็ตามระบบของการเลื่อนชั้นและเข็มขัดมีความแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนหรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดเกณฑ์ในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไม่ตายตัวหรือเหมือนกันทั้งหมด การแบ่งตามอายุโดยสหพันธ์เทควันโดโลกและโอลิมปิกก็เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาเทควันโด โดยกลุ่มแรกอายุระหว่าง 14-17 ขณะที่กลุ่มที่ 2 ระหว่างอายุ 18 ปีและสูงกว่า
     ประวัติของเทควันโดในประเทศไทยมีไม่นานนัก โดยช่วงแรกของการเข้ามาไม่ใช่เพื่อการแข่งขันเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นการเข้ามาเพื่อใช้ฝึกทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียตนาม ในช่วงปี พ.ศ. 2508 พร้อมๆกับกี่สอนให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ การสอนเทควันโดให้กับประชาชนไทยมีโดยตรงจากอาจารย์ซองคิยอง ในปี พ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2519 จึงได้ขยายการฝึกสอนไปยังโรงเรียนทหารและหน่วยทหารของไทย
     สมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยได้มีการสถาปนาในปี พ.ศ. 2525 โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า สมาคมส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวเทควันโด และเปลี่ยนเป็นสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2528 พร้อมกับการเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เทควันโดโลก และสหพันธ์เทควันโดเอเชีย และอื่นๆ อีกมากมาย มีการพัฒนาการฝึกซ้อมและการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง จนนักกีฬาเทควันโดของไทยได้รับเหรียญทองแดง เหรียญเงินจาการแข่งขันโอลิมปิก และเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชน
 ผลงานและการดำเนินการของสมาคมฯ ทำให้กีฬาเทควันโดได้รับความสนใจและฝึกซ้อมจากเยาวชนไทยอย่างมาก มีโรงเรียนฝึกสอนมากมายกระจายไปทั่วประเทศ เป็นอีกชนิดกีฬาที่ไม่มีการได้เปรียบ เสียเปรียบในการแข่งจากการที่เทควันโดใช้การแบ่งรุ่นน้ำหนักเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นเดียวกับมวยสากลหรือยูโด อย่างไรก็ตามการตัดสินโดยผู้ตัดสินก็ยังคงเป็นปัญหาที่คาใจนักกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬาหรือผู้ปกครองอยู่เป็นระยะๆ 
     การบริหารจัดการที่ดี มาตรฐานของการสอน และการจัดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน จะช่วยให้กีฬาเทควันโดยิ่งมีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้น 

ประวัติกีฬาเปตอง

ประวัติกีฬาเปตอง




เปตองเป็นกีฬากลางแจ้งประเภทหนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ประวัติที่แน่นอนไม่มีการบันทึกไว้ แต่มีหลักฐานจากการเล่าสืบต่อๆ กันมาว่า กำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศกรีซ เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยเก็บก้อนหินที่เป็นทรงกลมจากภูเขาและใต้ทะเลมาเล่นกัน ต่อมากีฬาประเภทนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในทวีปยุโรป เมื่ออาณาจักรโรมันครองอำนาจและเข้ายึดครองดินแดนของชนชาวกรีกได้สำเร็จ ชาวโรมันได้ใช้การกีฬาประเภทนี้เป็นเครื่องทดสอบกำลังข้อมือและกำลังกายของผู้ชายในสมัยนั้น
ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเข้ายึดครองดินแดนชาวโกลหรือประเทศฝรั่เศสในปัจจุบัน ชาวโรมันก็ได้นำเอาการเล่นลูกบูลประเภทนี้เข้าไปเผยแพร่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส การเล่นลูกบูลจึงได้พัฒนาขึ้นโดยเปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็งถากเป็นรูปทรงกลมแล้วใช้ตะปูตอกรอบๆ เพื่อเพิ่มน้ำหนักของลูกให้เหมาะกับมือ
ในยุคกลางประมาณ ค.ศ. 400-1000 การเล่นลูกบูลนี้จึงเป็นที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศษ ครั้นพอสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระองค์ได้ทรงประกาศสงวนกีฬาการเล่นลูกบูลนี้ไว้สำหรับผู้สูงเกียรติ และให้เล่นได้เฉพาะพระราชสำนักเท่านั้น
ต่อมาในสมัยพระเจ้านโปเลียนมหาราชขึ้นครองอำนาจพระองค์ได้ทรงประกาศใหม่ ให้การเล่นลูกบูลนี้เป็นกีฬาประจำชาติของฝรั่งเศสและเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วๆ ไป ได้เล่นกันอย่างเสมอภาคทุกคน การเล่นลูกบูลนี้จึงได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมา เช่น โดยการนำเอาลูกปืนใหญ่ที่ใช้แล้วมาเล่นกันบ้างอย่างสนุกสนามและเพลิดเพลิน จนมีการตั้งชื่อเกมกีฬาประเภทนี้ขึ้นมาเล่นอย่างมากมายต่างๆ กัน เช่น บูลเบร-รอตรองบูลลิโยเน่ส์บูลเจอร์ เดอร์ลอง และบลู-โปรวังซาล เป็นต้น

 

ในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศฝรั่งเศสก็ได้เป็นประเทศแรกของโลกที่ได้ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับกติกาการเล่นกีฬาลูกบูลโปรวังซาลขึ้น โดยให้วิ่ง ก้าวก่อนโยนลูกบูล การเล่นกีฬาประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในประเทศฝรั่งเศส และมีการแข่งขันชิงแชมป์กันขึ้นโดยทั่วไป
จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ. 1910 ตำบลซิโอต้าท์ เมืองท่ามาร์แชรด์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส การเล่นกีฬาลูก บูล-โปรวังซาลได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเล่นขึ้นใหม่ โดยนายจูลร์-เลอนัวร์ ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือในการเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลเก่งกาจที่สุดในขณะนั้น และได้เป็นแชมป์โปรวังซาลในยุคนั้นด้วยแต่ได้ประสบอุบัติเหตุอย่างร้ายแรงจนขาทั้งสองข้างพิการเดินไม่ได้ไม่สามารถจะเล่นกีฬาโปรวังซาลเหมือนเดิมได้ ต้องนั่งรถเข็นดูเพื่อนๆ เล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยที่ตนเองไม่มีโอกาสได้ร่วมเล่นเลย
วันหนึ่งขณะที่นายจูลร์ เลอนัวร์ ได้นั่งรถเข็นมองดูเพื่อนๆ เล่นเกมโปรวังซาลอย่างสนุกสนานอยู่นั้น น้องชายเห็นว่าพี่ชายมีอาการหงอยเหงาเป็นอย่างมากน้องชายของเขาจึงได้คิดดัดแปลงแก้ไขกติกาการเล่นขึ้นใหม่ โดยการขัดวงกลมลงบนพื้น แล้วให้ผู้เล่นเข้าไปยืนในวงกลม ให้ขาทั้งสองยืนชิดติดกัน ไม่ต้องวิ่งเหมือนกีฬาโปรวังซาล ทั้งนี้โดยมีเพื่อนๆ และญาติของนาย จูลร์ เลอนัวร์ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นายจูลร์ เลอนัวร์ จึงได้มีโอกาสร่วมเล่นกีฬาบูล-โปรวังซาล ที่ดัดแปลงขึ้นใหม่นี้อย่างสนุกสนามและเพลิดเพลินเหมือนเดิม

 

เกมกีฬาบูล-โปรวังซาล ที่ดัดแปลงขึ้นใหม่นี้ได้กำหนดขึ้นโดยมีสมาชิกครั้งแรกประมาณ 50 คน พวกเขาพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่เกมใหม่เป็นเวลาถึง 30 ปี จึงได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หลังจากนั้นก็ได้แพร่หลายเข้าสู่นักกีฬา นักการเมือง และข้าราชการประจำในราชสำนัก จนในที่สุดก็ได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ เปตองและโปรวังซาล" ขึ้นในปี ค.ศ.- 1938 จากนั้นจำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นแสนๆ คน มีบุคคลทุกระดับชั้นทุกเพศ ทุกวัยเข้าเป็นสมาชิก ลูกบูลที่ใช้เล่นก็มีการคิดค้นทำเป็นลูกโลหะผสมเหล็กกล้า ข้างในกลวง การเล่นจึงมีความสนุกสนานเร้าใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 การเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลที่ได้ดัดแปลงแก้ไขใหม่นี้ได้รับความนิยมเล่นมากขึ้น และได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ อย่างรวดเร็วทั่วประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนถึงดินแดน อาณานิคมของฝรั่งเศสอีกด้วย การเล่นกีฬาลูกบูลนี้ได้แบ่งแยกการเล่นออกได้เป็น 3ประเภทคือ
1. 
ลิโยเน่ล์
2. 
โปรวังชาล (วิ่ง ก้าวแล้วโยน)
3. 
เปตอง (ที่นิยมเล่นในปัจจุบัน) 
กีฬาเปตองจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลกขึ้นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ.-1959 ที่เมืองสปา ประเทศเบลเยียม นักเปตองจากประเทศฝรั่งเศสได้ครองตำแหน่งชนะเลิศ 

 


ปัจจุบันกีฬาเปตองเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย สำหรับในประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากในปัจจุบัน

ประวัติว่ายน้ำ


ประวัติว่ายน้ำ

  

กีฬาว่ายน้ำ(Swimmimg) ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะมนุษย์สามารถว่ายน้ำได้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามชายทะเล แม่น้ำ ลำคลอง และที่ราบลุ่มต่าง ๆ 

เช่น พวกเอสซีเรีย อียิปต์ กรีก และโรมัน มีการฝึกหัดว่ายน้ำกันมาตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล เพราะมีผู้พบภาพวาดเกี่ยวกับการว่ายน้ำในถ้ำบนภูเขาแถบทะเลทรายลิบยาน การว่ายน้ำในสมัยนั้นเพียงเพื่อ

ให้สามารถว่ายน้ำข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ หรือเมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วมป่าและที่อยู่อาศัย ก็สามารถพาตัวไปในที่น้ำท่วมไม่ถึงได้อย่างปลอดภัย การว่ายน้ำได้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

 แต่มีหลักฐานบันทึกไว้ไม่นานนัก Ralph Thomas ให้ชื่อแบบว่ายน้ำที่มนุษย์ใช้ว่ายกันมาตั้งแต่เดิมว่า ฮิวแมน สโตร์ก(Human stroke) นอกจากนี้พวกชนชาติสลาพและพวกสแกนดิเนเวียรู้จัก

 การว่ายน้ำอีกแบบหนึ่ง โดยใช้เท้าเคลื่อนไหวในน้ำคล้ายกบว่ายน้ำ หรือที่เรียกว่าฟล็อคคิก(Flogkick) แต่วิธีการเคลื่อนไหวของท่าแบบนี้จะทำให้ว่ายน้ำได้ไม่เร็วนัก

การแข่งขันว่ายน้ำครั้งแรกได้จัดขึ้นที่ วูลวิช บาร์ท(Woolwich Baths) ใกล้กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2416 การแข่งขันครั้งนั้นมีการ แข่งขันเพียงแบบเดียวคือ แบบฟรีสไตล์(Free style)

 โดยผู้ว่ายน้ำแต่ละคนจะว่ายแบบใดก็ได้ ในการแข่งขันครั้งนี้ J. Arthur Trudgen เป็นผู้ได้รับชัยชนะ โดยเขาได้ว่ายแบบเดียวกับพวกอินเดียแดงในอเมริกาใต้ คือแบบยกแขนกลับเหนือน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการว่ายน้ำของเขา
ได้กลายเป็นแบบที่ได้รับความนิยม มากจนได้ชื่อว่า ท่าว่ายน้ำแบบทรัดเจน(Trudgen stroke)

ประชาชนชาวโลกได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการว่ายน้ำเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรือเอก Mathew Webb ได้ว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษจากเมืองโดเวอร์ คาเลียส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2418 โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 21 ชั่วโมง 45 นาที 
ด้วยการว่ายน้ำแบบกบ (Breast stroke) ข่าวความสำเร็จอันนี้ได้สร้างความพิศวงและตื่นเต้นไปทั่วโลก ต่อมาเด็กสาวชาวอเมิกันชื่อ Gertude Ederle ได้ว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2469 
ทำเวลาได้ 14 ชั่วโมง 31 นาที โดยว่ายน้ำแบบท่าวัดวา (Crawl stroke) จะเห็นได้ว่าในชั่วระยะเวลา 50 ปี การว่ายน้ำได้วิวัฒนาการ ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ถ้าหากได้พิจารณาถึงเวลาของคนทั้งสองที่ทำได้ 
แบบและวิธีว่ายน้ำได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเร็วขึ้นเสมอ ในบรรดานักว่ายน้ำทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวแลนเคเชียร์และออสเตรเลีย ได้ดัดแปลงวิธีว่ายน้ำแบบทรัดเจน ซึ่งก็ได้รับผลดีในเวลาต่อมา 
กล่าวคือ Barney Kieran ชาวออสเตรเลียและ T.S. Battersby ชาวอังกฤษ ได้ว่ายน้ำแบบที่ปรับปรุงมาจากทรัดเจน เป็นผู้ครองตำแหน่งชนะเลิศของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2449-2451

Alex Wickham ชาวเกาะโซโลมอนเป็นผู้ริเริ่มการว่ายน้ำแบบท่าวัดวา และเป็นผู้ครองตำแหน่งชนะเลิศของโลก ระยะทาง 50 หลา เขาได้กล่าวว่าเด็กโซโลมอน ทุกคนว่ายน้ำแบบนี้ทั้งนั้น ต่อมาท่าว่ายน้ำแบบวัดวาจึงเป็นที่นิยมฝึกหัดกันโดยทั่วไป

กีฬาว่ายน้ำได้จัดเข้าไว้ในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี พ.ศ.2436 และได้จัดการแข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าวกีฬาว่ายน้ำก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป และถื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีการพัฒนากีฒสว่ายน้ำ
ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ โดยมีผู้คิดแบบและประเภทของการว่ายน้ำเพื่อความสนุกสนาน และความตื่นเต้นในการแข่งขันมากขึ้น

สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้จะทะเบียนสมาคมต่อกรมตำรวจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมว่ายน้ำคนแรกคือ พลเรือโท สวัสดิ์ ภูติอนันต์ ร.น. ในปีเดียวกันนี้สมาคมว่ายน้ำ
ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์วายน้ำนานาชาติ

ในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสระว่ายน้ำมาตรฐานขนาดความยาว 50 เมตร กว้าง 25 เมตร พร้อมทั้งที่กระโดดน้ำ และอัฒจันทร์คนดูจำนวน 5,000 ที่นั่ง
 ณ บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ และเปิดใช้ในการแข่งขัน
มื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2506 เรียกว่า สระว่ายน้ำโอลิมปิก(ปัจจุบันได้เปลี่ยน ชื่อเป็นสระว่ายน้ำวิสุทธารมย์) และสมาคมว่ายน้ำได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ว่ายน้ำแห่งเอเซียในปี พ.ศ.2509

ปัจจุบันกีฬาว่ายน้ำได้รับความสนใจจากประชาชนโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุกีฬาว่ายน้ำไว้ในหลักสูตรเกือบทุก ระดับ โดยในปัจจุบันมีจำนวนสโมสร
ที่เป็นสมาชิกของสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทยถึง 56 สโมสร

ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย


ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย

ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก takraw.or.th/th/

          ในการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค หรือทวีปเอเชียอย่างซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์ นับได้ว่า เซปักตะกร้อ หรือ ตะกร้อ เป็นกีฬาความหวังเหรียญทองของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และวันนี้เราจะมารู้จักกับกฎกติกาการเล่นตะกร้อคร่าว ๆ กัน

ประวัติเซปักตะกร้อ

          กีฬาเซปักตะกร้อ หรือ ตะกร้อ ยังไม่มีหลักฐานระบุที่แน่ชัดว่ามีจุดกำเนิดจากประเทศใด เพราะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ต่างคนต่างบอกว่าตนเองเป็นต้นกำเนิดขึ้นมาทั้งนั้น แต่สำหรับของไทย มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมเล่นกันบนลานกว้าง ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น และลูกตะกร้อทำมาจากหวาย หรือบางทีก็มีเตะตะกร้อลอดห่วง

          สำหรับตะกร้อแบบข้ามตาข่ายในปัจจุบัน ที่มีการเล่นฝั่งละ 3 คน นำมาจากประเทศมาเลเซีย คือ เซปัก รากา จาริง หรือ เซปักตะกร้อ ซึ่งดัดแปลงมาจากวอลเลย์บอล และย่อสนามให้เล็กลง โดยที่เริ่มเผยแพร่ในประเทศไทยประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2508 ในงานกีฬาไท


กติกาการเล่นตะกร้อ

ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย

สนามตะกร้อ

          สนามเซปักตะกร้อ เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 13.4 เมตร กว้าง 6.1 เมตร เป็นพื้นพลาสติก โดยจะแบ่งเขตแดนออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน และในแต่ละเขตแดนจะกำหนดจุดยืนสำหรับการเริ่มต้นเสิร์ฟ 3 จุดด้วยกัน คือ จุดที่อยู่ตรงมุมที่ติดกับตาข่าย 2 จุด ขีดเส้นโค้งวงกลมเอาไว้ และจุดที่อยู่กลางแดน เยื้องไปทางด้านหลัง 1 จุด ขีดเส้นวงกลม โดยทั้ง 3 จุดนี้จะจัดเป็นรูปสามเหลี่ยมสมมาตรพอดี

          สำหรับมุมที่ติดกับตาข่าย 2 จุด เรียกว่า หน้าซ้าย หน้าขวา และวงกลมที่อยู่กลางเขตแดน คือ จุดเสิร์ฟ

ตาข่าย

          ตาข่ายสำหรับเซปักตะกร้อ มีไว้กั้นเขตแดนระหว่างสองฝั่ง กว้าง 70 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 6.1 เมตร โดยสำหรับการแข่งขันของผู้ชายสูง 1.52 เมตร และหญิง สูง 1.42 เมตร

 ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย

ลูกเซปักตะกร้อ

          ลูกเซปักตะกร้อปัจจุบันทำมาจากพลาสติก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42-45 เซนติเมตร มีรูอยู่ตรงลูกตะกร้อรวม 12 รูด้วยกัน มีจุดตัดไขว้ 20 จุด

 ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย
ผู้เล่น

          การเล่นตะกร้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ตะกร้อปกติที่มี 3 คน และตะกร้อคู่ 2 คน กล่าวคือ เมื่อก่อนมีแต่การแข่งขันตะกร้อปกติ ทว่าเพิ่มตะกร้อแบบคู่ขึ้นมา เพราะต้องการกระจายเหรียญทองของกีฬาชนิดนี้ได้มากขึ้น

ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย

วิธีการเล่น

          จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มเสิร์ฟ เตะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยที่ฝ่ายที่ได้ลูกตะกร้อต้องพยายามเตะตะกร้อให้ตกลงพื้นของอีกฝั่งให้ได้ ขณะที่ฝ่ายตั้งรับก็ต้องป้องกัน ไม่ให้ลูกตะกร้อตกลงบนแดนตัวเอง และเปลี่ยนสภาพเป็นฝ่ายบุกเพื่อทำให้ลูกตะกร้อตกลงบนแดนของอีกฝั่งให้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แต่ละฝ่ายจะมีโอกาสเตะลูกตะกร้อให้อยู่ในแดนตัวเองไม่เกิน 3 ครั้ง นับตั้งแต่ฝ่ายตรงข้ามเตะตะกร้อข้ามมา

          ส่วนการเสิร์ฟ ผลัดกันเสิร์ฟ ทีมละ 3 ครั้ง สลับกันไปเรื่อย ๆ

การคิดคะแนน

          1. สามารถเตะลูกตะกร้อลงบนแดนฝั่งตรงข้ามได้ ได้ 1 คะแนน (รวมการเสิร์ฟ)

          2. ฝ่ายตรงข้ามเตะลูกตะกร้อไม่ข้ามเน็ต ได้ 1 คะแนน (รวมการเสิร์ฟ)

          3. ฝ่ายตรงข้ามเตะข้ามแดนมาแล้ว แต่บอลไม่ตกในเขตแดนที่ระบุ ได้ 1 คะแนน

          การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ใน 5 เซต แต่ละเซต ใครทำได้ถึง 15 คะแนนก่อน ได้เซตนั้น ยกเว้น เสมอกัน 14-14  จะมีผู้ได้เซตก็ต่อเมื่อทำแต้มทิ้งขาด 2 คะแนน แต่แต้มสูงสุดทั้งหมดจะไม่เกิน 17 คะแนน

          

แชร์บอล


แชร์บอล

แชร์บอล 

ประวัติกีฬา แชร์บอล 

 ตั้งแต่อดีตนั้น กีฬาแชร์บอลเป็นเกม กีฬาที่มุ่งเน้นการปลูกฝังหรือเป็นการปูพื้นฐานการเล่นกีฬาจำพวก บาสเกตบอล แฮนด์บอล หรือกีฬาประเภท อื่นๆ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการเคลื่อนไหว รวมถึงทักษะการฝึกฝนเบื้องต้น ด้านต่างๆเพื่อเป็นการฝึกความพร้อมของร่างกายและจิตใจ
                ส่วนระเบียบการเล่นหรือกติกาในตอนแรกยังไม่มีระบุขึ้นมาตายตัว เพียงแต่ยึดถือกติกาบาสเกตบอลในบางส่วนมาใช้ โดยการอนุโลมให้เหมาะสมเท่านั้น จากหลักฐานที่ปรากฏผู้ที่คิดค้นกีฬาแชร์บอลขึ้น มาเล่นคือ พันเอก มงคล  พรหมสาขา ณ สกลนคร และได้มีการพัฒนาอย่างแพร่หลาย ตลอดจนมีการแข่งขันในหลายระดับ ทั้งในหมู่นักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือส่วนราชการต่างๆ
               แชร์บอลเป็นกีฬาที่ เล่นง่าย เพราะไม่จำกัดเพศของผู้เล่น คืออาจจะเล่นรวมทั้งชายและหญิงผสมกัน และสถานที่ สามารถเล่นได้กับทุกสนามไม่ว่าจะเป็น สนามหญ้า พื้นดิน พื้นซีเมนต์ พื้นไม้ ฯลฯ
               ลูกบอลที่ใช้จะใช้ลูกเนตบอล หรือลูกวอลเลย์บอล ถ้าไม่มีก็ใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น ม้วนผ้าเป็นลักษณะกลมๆ ก็สามารถเล่นได้ ส่วนภาชนะที่ใช่รับลูกบอลนอกจากตะกร้ายังสามารถใช้อย่างอื่นที่ใส่ลูกได้
                จุดประสงค์ของกีฬาแชร์บอลคือ ผู้เล่นแต่ละฝ่ายช่วยกันรับส่งลูกบอลให้ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันนำลูกบอลผ่าน ฝ่ายตรงข้ามโยนลงไปในตะกร้าของฝ่ายตนเองที่ยืนรอรับอยู่ข้างหน้า(ด้านหลัง ของฝ่ายตรงข้าม)
โดยโยนให้เข้าตะกร้าให้มากที่สุดและในทางตรงกันข้ามอีกฝ่ายก็จะต้องป้องกันไม่ให้ลูกบอลส่งข้ามไปเข้าตะกร้าเช่นกัน

ประวัติจังหวัดภูเก็ต

ประวัติจังหวัดภูเก็ต


"ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้"
                                                   "หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม"

Image

     จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พื้นที่บริเวณเกาะภููเก็ตได้มีการเรียกขานกันมาหลายชื่อ ได้แก่ แหลมตะโกลา มณีคราม จังซีลอน ภูเก็จ (ซึ่งหมายถึงภูเขาแก้ว) จนกลายเป็นคำว่า ?ภูเก็ต? เป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่
  ต่อมาถึงรัชกาลที่ 1 พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.2328 โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้

     ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น 2 ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา

     เกาะถลางหรือเมืองถลางได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
    
     มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร

    เก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้

ภูมิอากาศ     ภูเก็ตมีอากาศแบบฝนเมืองร้อน มีลมพัดผ่านตลอดเวลา อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดปี มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ฤดูร้อนเริ่มเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดไม่มีฝน ท้องฟ้าแจ่มใส

อาณาเขต
   ทิศเหนือ จดช่องปากพระ จังหวัดพังงา เชื่อมโดยสะพานสารสินและสะพานท้าวเทพกษัตรี 
   ทิศใต้ จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย 
   ทิศตะวันออก จดทะเลเขตจังหวัดพังงา 
   ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย