วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเทศจีน


ประเทศจีน
สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนตัวเต็ม: 中華人民共和國; จีนตัวย่อ: 中华人民共和国; พินอิน: Zhōnghuá Rénmín Gònghéguó; อังกฤษ: People's Republic of China (PRC)) เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และมีประชากรมากที่สุดในโลกที่จำนวนกว่า 1.3 พันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในห้าของประชากรโลก โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮั่น และมีขนาดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงรัสเซียและแคนาดา
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีพรมแดนติดกับ 15 ประเทศ (นับเวียนตามเข็มนาฬิกา) คือ เวียดนาม ลาว พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลีย และ เกาหลีเหนื
ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2492 ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน เผิงหู เอ้หมึง (จีนกลาง: จินเหมิน) และหมาจู่แต่ไม่ได้ปกครอง โดยที่เกาะเหล่านี้ปกครองโดยสาธารณรัฐจีน ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงไทเป (จีนกลาง: ไถเป่ย) ฐานะทางการเมืองของสาธารณรัฐจีนนั้น ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่
คำว่า จีนแผ่นดินใหญ่ ใช้เรียกส่วนของจีน ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ส่วนใหญ่จะยกเว้นเขตบริหารพิเศษ 2 แห่ง คือ ฮ่องกง และมาเก๊า) บางคนนิยมเรียกสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า จีนแดง (Red China) โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจีน ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย มีเศรษฐกิจและกำลังทางทหารใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเมืองหลวงคือกรุงปักกิ่ง
ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน
สงครามกลางเมือง (Chinese Civil War) ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋ง สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2492 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจบลงด้วยการที่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งได้เข้าปกครองไต้หวัน และเกาะบางเกาะในมณฑลฝูเจี้ยน ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาเจ๋อตุง ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ การปกครองในสมัยของเหมานั้น เข้มงวดและกวดขัน แม้กระทั่งชีวิตประจำวันของประชาชน
หลังจากที่เหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรม เติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ขึ้นสู่อำนาจ โดยจีนยังคงอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นรัฐบาลจีนจึงได้ค่อยๆ ลดการควบคุมชีวิตส่วนตัวของประชาชน และพยายามที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนให้เป็นไปตามกลไกตลาด
การปฏิวัติ
เจียง ไคเช็ก เป็นผู้นำของจีนระหว่าง พ.ศ. 2471 ถึง พ.ศ. 2492
การปฏิวัติครั้งแรก (พ.ศ. 2454)
การปฏิวัติครั้งแรกของจีนเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิง โดยการนำของ ดร. ชุน ยัตเซน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นผลทำให้จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด สาเหตุที่ก่อให้เกิดการโค่นล้มอำนาจครั้งนี้น่าจะมาจากความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมจีน ผู้นำประเทศจักรพรรดิแมนจูไม่มีอำนาจกำลังพอที่จะปกครองประเทศได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาปกครอง 268 ปี (พ.ศ. 2187 – 2455) มีแต่การแย่งชิงอำนาจในหมู่ผู้นำราชวงศ์ ด้วยเหตุนี้ราษฎรส่วนมากจึงตกอยู่ในสภาพยากจน ชาวไร่ ชาวนาถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แผ่นดินจีนถูกคุกคามจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก และญี่ปุ่น ซึ่งจีนทำสงครามต่อต้านการรุกรานของกองกำลังต่างชาติเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด ทำให้คณะปฏิวัติไม่พอใจระบอบการปกครองของราชวงศ์แมนจู
เพื่อความสำเร็จในการแก้ปัญหาของของประเทศชาติ ดร. ซุน ยัตเซ็น ผู้นำฯ จึงได้ประกาศอุดมการณ์ของการปฏิวัติ 3 ประการ เรียกว่า ลัทธิไตรราษฎร์” มีหัวข้อดังนี้
1.ประชาธิปไตย มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
2.ชาตินิยม ต้องขับไล่อำนาจและอิทธิพลของต่างชาติออกไปจากจีน
3.สังคมนิยม มีการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร
การปฏิวัติครั้งที่สอง (พ.ศ. 2492)
การปฏิวัติของจีนครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เป็นการปฏิวัติภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง (ค.ศ. 1939 – 1945) ภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย เข้าสู่ระบอบสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ โดยนับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นวันสถาปนาประเทศจีนใหม่หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" โดยการปฏิวัติมีสาเหตุซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.ปัญหาความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจและความยากจนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดี เจียง ไคเช็ค ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
2.การเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประเทศจีน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร โดยให้ความสำคัญแก่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร และเป็นศัตรูกับชนชั้นนายทุน
การปฏิวัติครั้งที่สองของจีนมีความสำเร็จ สรุปได้ดังนี้
1.ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคของ เหมา เจ๋อตุง
รัฐบาลได้ยึดที่ดินทำกินของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล และใช้ระบบการผลิตแบบนารวม ชาวนามีฐานะเป็นแรงงานของรัฐ ทำให้ขาดความกระตือรือร้นเพราะทุกคนได้รับผลตอบแทนเท่ากัน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่มีสภาพลำบากยากจนเหมือนๆ กัน
2.ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง
เป็นยุคที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นระบบตลาด หรือทุนนิยม โดยอมรับแนวทางทุนนิยมของชาติตะวันตกมากขึ้น เช่น เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้คนจีนมีงานทำ และอนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจการค้าได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ระบอบการปกครองยังคงเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนเดิม
นโยบาย หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในสมัยของ เติ้ง เสี่ยวผิง” หมายถึง มีประเทศจีนเพียงประเทศเดียว แต่มีระบบเศรษฐกิจและการปกครอง 2 แบบ ได้แก่
1.ระบอบคอมมิวนิสต์ สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ (ไม่รวมไต้หวัน)
2.ระบอบประชาธิปไตยและระบอบทุนนิยมเสรี สำหรับฮ่องกงและมาเก๊า
ผลกระทบของการปฏิวัติจีนครั้งที่สอง คือ
1.การปฏิวัติของ เหมา เจ๋อตง เป็นแบบอย่างในการปฏิวัติของกระบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะการใช้ยุทธศาสตร์ ป่าล้อมเมือง” โดยเริ่มจากการปฏิวัติของเกษตรในชนบทและค่อยๆ ขยายเข้าไปสู่เมือง
2.การปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวของ เติ้ง เสี่ยวผิง โดยยอมรับระบบทุนนิยมของโลกตะวันตก เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการแยกระบบการปกครองออกจากระบบเศรษฐกิจ
ตารางแสดงช่วงเวลาของราชวงศ์และยุคในประวัติศาสตร์จีน

  • ก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3 ล้านปี – ปี 2100 ก่อน ค.ศ.
  • ราชวงศ์เซี่ย (夏) ราวปี 2100 – 1600 ก่อน ค.ศ. ราว 500 ปี
  • ราชวงศ์ซาง (商) ราวปี 1600 - 1028 ก่อน ค.ศ. ราว 550 ปีขึ้นไป


ราชวงศ์โจว (周) ราวปี 1027 – 256 ก่อน ค.ศ. ราว 770 ปี แยกได้เป็น

  • โจวตะวันตก (西周) ราวปี 1027 – 771 ก่อน ค.ศ. ราว 250 ปี
  • โจวตะวันออก (周) ปี 770 – 256 ก่อน ค.ศ. ราว 515 ปี
  • ราชวงศ์ฉิน (秦) ปี 221 – 207 ก่อน ค.ศ. รวม 15 ปี
 ราชวงศ์ฮั่น (漢) ปี 202 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220 รวม 422 ปี แยกได้เป็น

  • ฮั่นตะวันตก (西漢) ปี 202 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 8 รวม 210 ปี
  • ซิน (新) ค.ศ. 9 – 23 รวม 15 ปี
  • ฮั่นตะวันออก (東漢) ค.ศ. 25 - 220 รวม 196 ปี
 ยุคสามก๊ก (三國]) ค.ศ. 220 – 265 รวม 46 ปี แยกได้เป็น

  • ว่ย (魏) ค.ศ. 220 – 265
  • สู่ (蜀) ค.ศ. 221 – 263
  • อู๋ (吳) ค.ศ. 229 – 280


 ราชวงศ์จิ้น (晉) ค.ศ. 265 – 420 รวม 156 ปี แยกได้เป็น


  • จิ้นตะวันตก (西晉) ค.ศ. 265 – 316 รวม 52 ปี
  • จิ้นตะวันออก (東晉) ค.ศ. 317 – 420 รวม 103 ปี

 ยุคราชวงศ์ใต้และเหนือ (南朝 - 北朝) ค.ศ. 420 – 589 รวม 170 ปี แยกได้เป็น


 ยุคราชวงศ์ใต้ แยกย่อยได้เป็น

  • ซ่ง (宋) ค.ศ. 420 – 479
  • ฉี (齊) ค.ศ. 479 – 502
  • เหลียง (梁) ค.ศ. 502 – 557
  • เฉิน (陳) ค.ศ. 557 – 589
ยุคราชวงศ์เหนือ แยกย่อยได้เป็น
  • เว่ยเหนือ (北魏)  ค.ศ. 386 – 534
  • เว่ยตะวันออก (東魏) ค.ศ. 534 – 550
  • เว่ยตะวันตก (西魏) ค.ศ. 535 – 556
  • ฉีเหนือ (北齊) ค.ศ. 550 – 557
  • โจวเหนือ (北周)  ค.ศ. 557 – 581
  • ราชวงศ์สุย (隋) ค.ศ. 581 – 618 รวม 38 ปี
  • ราชวงศ์ถัง (唐) ค.ศ. 618 – 907 รวม 290 ปี
ยุคห้าราชวงศ์ (五代) และยุคสิบแคว้น (十國) ค.ศ. 907 – 960 รวม 54 ปี แยกได้เป็น
ยุคห้าราชวงศ์
  • โฮ่วเหลียง (後梁) ค.ศ. 907 – 923
  • โฮ่วถัง (後唐) ค.ศ. 923 – 936
  • โฮ่วจิ้น (後晉) ค.ศ. 936 – 946
  • โฮ่วฮั่น (後漢) ค.ศ. 947 – 950
  • โฮ่วโจว (後周) ค.ศ. 951 – 960
ยุคสิบแคว้น
  • อู๋ (吳) ค.ศ. 902 – 937
  • ถังใต้ (南唐) ค.ศ. 937 – 975
  • เฉียนสู (前蜀) ค.ศ. 907 – 925
  • โฮ่วสู (後蜀) ค.ศ. 934 – 965
  • อู๋เยี่ยว์ (吳越) ค.ศ. 907 – 978
  • ฉู่ (楚) ค.ศ. 926 – 951
  • หมิ่น (閩) ค.ศ. 909 – 945
  • ฮั่นใต้ (南唐) ค.ศ. 937 – 975
  • ผิงใต้ (南平) หรือ จิงหนาน (荊南) ค.ศ. 924 – 963
  • ฮั่นเหนือ (北漢) ค.ศ. 951 – 979
ราชวงศ์ซ่ง (宋) ค.ศ. 960 – 1279 รวม 320 ปี แยกได้เป็น
  • ซ่งเหนือ (北宋)  ค.ศ. 960 – 1127 รวม 168 ปี
  • ซ่งใต้ (南宋)     ค.ศ. 1127 – 1279 รวม 153 ปี
  • ราชวงศ์หยวน (元) ค.ศ. 1271 – 1368 รวม 98 ปี
  • ราชวงศ์หมิง (明) ค.ศ. 1368 – 1644 รวม 277 ปี
  • ราชวงศ์ชิง (清)   ค.ศ. 1644 – 1912 รวม 267 ปี
การเมือง
ประเทศจีนมีการปกครองเป็นลัทธิสังคมนิยมในลักษณะของตนเอง มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ปัจจุบันมีนายหู จิ่นเทาเป็นประธานาธิบดี เลขาธิการพรรค และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง และมีนายเวิน เจียเป่าเป็นนายกรัฐมนตรี
เขตการปกครองของจีน
เขตการปกครองของจีนนั้น ตามรัฐธรรมนูญของจีน มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ มณฑล อำเภอ และ ตำบล แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มมาอีก 2 ระดับ คือ จังหวัด และ หมู่บ้าน ซึ่งถ้านำมาเรียงใหม่จะได้เป็น มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และ หมู่บ้าน 
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอำนาจการปกครองเหนือ 22 มณฑล (省) และรัฐบาลจีนยังถือไต้หวัน/ไถวาน (台湾) เป็นมณฑลที่ 23 รัฐบาลจีนยังอ้างสิทธิเหนือเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ด้วย นอกจากมณฑลแล้วยังมีเขตปกครองตนเอง (自治区) 5 แห่งซึ่งมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก เทศบาลนคร (直辖市) 4 แห่งสำหรับเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจีน และเขตบริหารพิเศษ (Special Administrative Regions, SARs) (特别行政区) ที่จีนเข้าไปปกครอง โดยการแบ่งพื้นที่การปกครองเป็นดังนี้

มณฑล


  • อันฮุย (安徽)
  • ฝูเจี้ยน (福建) (ฮกเกี้ยน)
  • กานซู (甘肃)
  • กว่างตง (กวางตุ้ง) (广东)
  • กุ้ยโจว (贵州)
  • ไห่หนาน (ไหหลำ) (海南)
  • เหอเป่ย์ (河北)
  • เฮย์หลงเจียง (黑龙江)
  • เหอหนัน (河南)
  • หูเป่ย์ (湖北)
  • หูหนาน (湖南)
  • เจียงซู (江苏)
  • เจียงซี (江西)
  • จี๋หลิน (吉林)
  • เหลียวหนิง (辽宁)
  • ชิงไห่ (青海)
  • ส่านซี (陕西)
  • ซานตง (山东)
  • ซานซี (山西)
  • ซื่อชวน (เสฉวน) (四川)
  • หยุนหนาน (ยูนนาน) (云南)
  • เจ๋อเจียง (浙江)
เขตปกครองตนเอง
  • กว่างซีจ้วง (กวางสี) (广西壮族)
  • มองโกเลียใน (内蒙古)
  • หนิงเซี่ยหุย (宁夏回族)
  • ซินเจียงอุยกูร์ (新疆维吾尔族)
  • ซีจ้าง (ทิเบต) (西藏)
เทศบาลนคร
  • เป่ย์จิง (ปักกิ่ง) (北京)
  • ฉงชิ่ง (จุงกิง) (重庆)
  • ซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) (上海)
  • เทียนจิน (เทียนสิน) (天津)
เขตบริหารพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • เซียงกั่ง (ฮ่องกง) (香港)
  • เอ้าเหมิน (มาเก๊า) (澳門)
ภูมิศาสตร์
ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ดินประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและแคนาดาประเทศจีนมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่างๆ ถึง 15 ประเทศ ด้วยมีความยาวถึง 22,800 กม. ข้ามทะเลไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มี เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
แผ่นดินใหญ่จีนถูกขนาบทางตะวันออกไปทางใต้ด้วยทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ โดยมีพื้นที่น้ำรวม 4.73 ล้านตาราง กิโลเมตร ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ เป็นส่วนประกอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีเกาะเล็กเกาะน้อยถึง 5,400 เกาะ จึงทำให้ประเทศจีนมีอาณาเขตทางทะเลที่ใหญ่มาก เกาะที่ใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่36,000 ตาราง กิโลเมตร คือ ไต้หวัน ตามด้วยเกาะไหหลำ 34,000 ตาราง กิโลเมตร เกาะ Diaoyu กับเกาะ Chiwei ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะไต้หวันเป็นเกาะตะวันออกสุดของจีนเกาะน้อยใหญ่ รวมถึงหินโสโครก และ ฝูงปลา ในทะเลจีนใต้ เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งแบ่งออกเป็นตงชา ซีชา จงชา และหนานชา รวม 4 กลุ่ม
พื้นที่ทางด้านตะวันตกของจีนเป็นแนวเทือกเขาสูงชันและที่ราบสูงทิเบต มีเทือกเขาที่สำคัญคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีจุดสูงสุดคือยอดเขาเอเวอเรสต์ ทางด้านเหนือของที่ราบสูงเป็นที่ราบแอ่งกระทะขนาดใหญ่คือแอ่งทาลิมซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งมาก เป็นที่ตั้งของทะเลทรายอาทากามา ส่วนแม่น้ำที่สำคัญในประเทศจีนและมีต้นกำเนิดในประเทศจีนได้แก่ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน
ภูมิอากาศ
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมภาคพื้นทวีปที่มีหลากหลายรูปแบบ ลมเหนือจะมีอิทธิพลสูงในฤดูหนาว ในขณะที่ลมใต้จะมีบทบาทในฤดูร้อน มีผลถึง ฤดู ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด มีฤดูฝนปนอยู่กับฤดูร้อน ภูมิอากาศที่ซับซ้อน และหลากหลายของจีน มีผลให้สามารถแบ่งแถบอิงอุณหภูมิ กับแถบอิงความชื้นของภาคพื้นของประเทศจีนได้ คือแบ่งแถบอิงอุณหภูมิจากภาคใต้ถึงภาคเหนือเป็น แถบเส้นศูนย์สูตร ร้อนชื้น กึ่งร้อนชื้น อบอุ่น และแถบหนาวเย็น และแบ่งแถบอิงความแห้ง - ชื้น จากตะวันออกเฉียงใต้ ถึงตะวันตกเฉียงเหนือเป็นแถบความชื้นสูง
ประชากรและชนเผ่า
ชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศจีนคือ ชนเผ่าฮั่น 92 % ของประชากรทั้งหมด อื่นๆอีก 55 ชนเผ่า 8 % ของประชากรทั้งหมด 

เศรษฐกิจ

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2492 จนถึงปลาย พ.ศ. 2521 สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางเหมือนโซเวียต ไม่มีภาคเอกชนหรือระบอบทุนนิยม เหมา เจ๋อตง เริ่มใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล เพื่อผลักดันประเทศให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยและก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แต่นโยบายนี้กลับถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวทั้งทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรม หลังจากที่เหมาเสียชีวิตและสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้ง เสี่ยวผิง และผู้นำจีนรุ่นใหม่ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและใช้ระบอบเศรษฐกิจแบบผสมที่ให้ความสำคัญกับทุนนิยมมากขึ้น
ตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 2521 เศรษฐกิจของจีนซึ่งนำโดยการลงทุนและการส่งออกเติบโตขึ้นถึง 70 เท่า และกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ปัจจุบัน จีนมีจีดีพี (nominal) สูงเป็นอันดับสามของโลกที่ 30 ล้านล้านหยวน (4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่รายได้ต่อหัวมีค่าเฉลี่ยเพียง 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ จึงยังคงตามหลังประเทศอื่นอีกนับร้อย อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ มีอัตราส่วนร้อยละ 11.348.6 และ 40.1 ตามลำดับ และหากวัดด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ จีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกและเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางการค้าสูงเป็นอันดับสามรองจาก สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 2.56 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าการส่งออก 1.43 ล้านล้านดอลลาร์ (อันดับสอง) และมูลค่าการนำเข้า 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ (อันดับสาม) จีนมีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก (มากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์) และเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมของการลงทุนจากต่างชาติ โดยสามารถดึงเงินลงทุนมากกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2550 เพียงปีเดียว
การพัฒนาอุตสาหกรรมจีน
เมื่อราวๆ กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการวิพากษ์ในหนังสือพิมพ์จีนว่าด้วย การทบทวนและประเมินการพัฒนาอุตสาหกรรมจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังเปิดประเทศปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งมีหลากหลายความเห็นที่น่าสนใจที่ไทยอาจต้องศึกษา เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศ
เนื่องจากประเทศจีนได้เริ่มพัฒนาตามแบบฉบับอุตสาหกรรมใหม่ (ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1) ประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และเกิดการชะงักงันเป็นเวลาหลายสิบปีจวบจนกลางศตวรรษที่ 20 และเกือบหยุดสนิทประมาณ 30 ปี เสร็จแล้วใช้เวลาอีก 20 ปี ในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนกระทั่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านของโลก
นักวิชาการจีนดังกล่าวมีความเห็นว่า ที่จีนสามารถพัฒนาจนเป็นเช่นนี้ เกิดจากกระแสความคิด 2 กระแส
1.กระแสแรก จีนได้วางพื้นฐานอุตสาหกรรมหนักไว้ตั้งแต่ต้นและไม่เคยละทิ้ง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล เคมี จึงกลายเป็นพื้นฐานรองรับและประกันการพัฒนา
2.กระแสที่สอง ในช่วงที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆ ว่าด้วยแนวทางที่จะนำเข้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีกลุ่มหนึ่งเห็นคล้อยตามคำแนะนำของประเทศที่พัฒนาแล้วสมัยนั้นว่า ควรที่จะพัฒนาตามขั้นตอน เนื่องจากเทคโนโลยีจีนขณะนั้นล้าหลังอยู่มาก จึงเลือกนำเข้าเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระดับก่อนหน้าสมัยนั้น 5-10 ปี
ถึงแม้เทคโนโลยีที่จีนใช้ในขณะนั้นจะล้าหลังในสากลโลก แต่ถือว่าทันสมัยมากสำหรับจีน ในการผลิตและจำหน่ายในตลาดของจีน ซึ่งรับความนิยมสูงมาก เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
ขณะเดียวกัน ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่า พื้นฐานทางวิชาการและเทคโนโลยีจีนพร้อมอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะก้าวกระโดดโดยซื้อเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ณ ขณะนั้น เช่น ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร เทคโนโลยีอวกาศ อุตสาหกรรมเหล็ก ปรากฏในภายหลังว่า ทั้งสองกลุ่มได้พบจุดบรรจบกันในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 20 และนำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอีกระลอกดังที่เห็นกันขณะนี้
ผลและสภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของจีนที่เราได้เห็นทุกวันนี้ นักวิชาการจีนส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลเกิดจากการปูพื้นฐานทางวิชาการและการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตั้งแต่สมัยแรก กลายเป็นหลักประกันสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมเบา เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ให้พัฒนาอยู่บนขาของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เช่น เหล็กและโลหะอื่นๆ พลาสติก และเคมี ที่เป็นพื้นฐานนำไปแปรรูปต่อจนจีนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับสูงดังที่เป็นอยู่ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีและสิทธิบัตรตราสินค้าของตนเอง
นโยบายทางชนชาติของจีน
จีนเป็นประเทศเอกภาพที่มีหลายชนชาติ รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายทางชนชาติที่ให้ ชนชาติต่าง ๆ มีความเสมอภาค สมานสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและขนบธรรมเนียมของชนชาติส่วนน้อยระบบปกครองตนเองในเขตชนชาติส่วนน้อยเป็นระบบการเมืองอันสำคัญอย่างหนึ่งของจีน คือ ให้ท้องที่ที่มีชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆ อยู่รวม ๆ กันใช้ระบบปกครองตนเอง ตั้งองค์กรปกครองตนเองและใช้สิทธิอำนาจปกครองตนเอง ภายใต้การนำที่เป็นเอกภาพ ของรัฐ รัฐประกันให้ท้องที่ที่ปกครองตนเองปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐตามสภาพที่เป็นจริงในท้องถิ่นของตน ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ บุคลากรทางวิชาการและ กรรมกรทางเทคนิคชนิดต่าง ๆ ของชนชาติส่วนน้อยเป็นจำนวนมาก ประชาชน ชนชาติต่าง ๆ ในท้องที่ที่ปกครองตนเองกับประชาชนทั่วประเทศรวมศูนย์กำลังดำเนิน การสร้างสรรค์สังคมนิยมที่ทันสมัย เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในท้องที่ที่ ปก ครองตนเองให้เร็วขึ้นและสร้างสรรค์ท้องที่ที่ปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อยที่สมานสามัคคีกันและเจริญรุ่งเรือง ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ระหว่างการปฏิบัติเป็นเวลาหลายสิบปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ของจีนได้ก่อรูปขึ้นซึ่งทรรศนะและนโยบายพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาทางชนชาติหลายประการที่สำคัญได้แก่
  • การกำเนิด การพัฒนาและการสูญสลายของชนชาตินั้นเป็นกระบวนการทาง ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปัญหาชนชาติจะดำรงอยู่เป็นเวลานาน
  • ระยะสังคมนิยมเป็นระยะที่ชนชาติต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง ปัจจัย ร่วมกันระหว่างชนชาติต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ลักษณะพิเศษและข้อ แตกต่างระหว่างชนชาติต่าง ๆ จะดำรงอยู่ต่อไป
  • ปัญหาชนชาติเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั่วสังคม มีแต่แก้ปัญหาทั่วสังคมให้ลุล่วง ไปเท่านั้น ปัญหาทางชนชาติจึงจะได้รับการแก้ไขอย่างมีขั้นตอน มีแต่ในภารกิจร่วมกัน ที่สร้างสรรค์สังคมนิยมเท่านั้น ปัญหาทางชนชาติของจีนในปัจจุบันจึงจะได้รับการ แก้ไขอย่างมีขั้นตอนได้
  • ชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่ามีประชากรมากหรือน้อย มีประวัติยาวหรือสั้นและมีระดับ การพัฒนาสูงหรือต่ำ ต่างก็เคยสร้างคุณูปการเพื่ออารยธรรมของปิตุภูมิ จึงควรมีความ เสมอภาคทั้งนั้น ควรเสริมสร้างความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ระหว่างประชาชนชนชาติต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและรักษาเอกภาพแห่งชาติ
  • การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่เป็นภาระหน้าที่มูลฐานแห่งสังคมนิยม และก็ เป็นภาระหน้าที่มูลฐานของงานชนชาติของจีนในขั้นตอนปัจจุบัน ชนชาติต่าง ๆ ต้องช่วย เหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุซึ่งความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
การปกครองตนเองในเขตชนชาติส่วนน้อยเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อทฤษฎีชนชาติของลัทธิมาร์กซ และเป็นระบอบมูลฐานในการแก้ปัญหาชนชาติของจีนการพยายามสร้างขบวนเจ้าหน้าที่ชนชาติส่วนน้อยขนาดใหญ่ขนาดหนึ่งที่มีทั้งคุณธรรม และขีดความสามารถเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในการทำงานทางชนชาติให้ดีและแก้ปัญหาทางชนชาติให้ลุล่วงไปปัญหาทางชนชาติกับปัญหาทางศาสนามักจะผสมผสานอยู่ด้วยกันในท้องที่บาง แห่ง ขณะจัดการกับปัญหาทางชนชาติ ยังต้องสังเกตปฏิบัติตามนโยบายทางศาสนา ของรัฐอย่างทั่วด้านและถูกต้องนอกจากนี้ ในขณะเดียวกันกับที่พยายามส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาตลอดจนภารกิจอื่นๆ ของเขตชนชาติส่วนน้อย ยกระดับชีวิตทาง วัตถุและวัฒนธรรมของประชาชนชนชาติส่วนน้อยอันไพศาลซึ่งรวมทั้งชาวศาสนาด้วยให้สูงขึ้น รัฐบาลจีนยังสนใจเคารพความเชื่อถือทางศาสนาของชนชาติส่วนน้อยและรักษา มรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติส่วนน้อยเป็นพิเศษ สำรวจ เก็บสะสม ศึกษา จัดให้เป็น ระเบียบและจัดพิมพ์จำหน่ายมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะพื้นเมืองของชนชาติต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมทางศาสนาด้วย รัฐบาลยังได้ลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อซ่อมแซม วัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอันสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเขตชนชาติส่วนน้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ด้านการเมือง
ทางการไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดำเนินมาด้วยความราบรื่นบนพื้นฐานของความเสมอภาค เคารพซึ่งกันและกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และอยู่ภายใต้หลักการของผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพของภูมิภาค ความร่วมมือกันของทั้ง 2 ได้ดำเนินมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อจีนสามารถได้สถาปนาความสัมพันธ์กับอาเซียนทุกประเทศแล้ว ความสำคัญของประเทศไทยต่อจีนในทางยุทธศาสตร์ได้ลดลงไปจากเดิม ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงได้เน้นด้านการค้าและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นหลัก
ไทยและจีนไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ ที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ การไปมาหาสู่ของผู้นำระดับสูงสุดก็ได้เป็นไปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2543 การเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของสองประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย - จีน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคี และเวทีภูมิภาค เช่น การประชุมอาเซียนและจีน อาเซียน + 3 ARF ASEM เป็นต้น ในการเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2544ทางไทยและจีนต่างเห็นพ้องที่จะมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์และขอบข่ายความร่วมมือระหว่างกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จหลายด้าน เช่น ความร่วมมือด้านยาเสพติด ด้านการเงิน การคลัง พาณิชย์นาวี รวมทั้งได้ลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย - จีน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย - จีน
เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างปไทยและจีน ทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันเป็นพิเศษระหว่างทั้งสองประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีไทย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเยือนจีน อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม2548 เพื่อร่วมฉลองในกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนร่วมกันจัดขึ้นที่ประเทศจีน การจัดกิจกรรมฉลองร่วม การจัดทำหนังสือที่ระลึก การจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน และการแลกเปลี่ยนเยาวชน เป็นต้น
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนนครหนานหนิง เมื่อวันที่ 30 - 31 ตุลาคม 2549 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนสมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นในโอกาสที่อาเซียนและจีนฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 15 ปี โดยได้พบหารือกับผู้นำระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นของจีน รวมถึงผู้นำอีก 9ประเทศของอาเซียน ซึ่งการเยือนประสบผลสำเร็จอย่างดี
ด้านเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ได้มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย -จีน ซึ่งช่วยลดอุปสรรคด้านภาษีในการค้าสินค้าผักและผลไม้ (สินค้าพิกัดภาษี 07 08) ทั้งประเทศไทย และ จีน มีความพร้อมในการลดภาษีอยู่แล้ว ซึ่งได้มีผลยกเว้นภาษีสำหรับสินค้า 116รายการ ในพิกัดภาษี 07 08 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546
  • การค้าไทย และ จีน ในปี 2548 มีมูลค่า 20,343.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.31 ประเทศไทยส่งออก 9,183.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้า 11,159.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การค้าไทย และ จีน ในปี 2549 มีมูลค่า 25,154.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 ประเทศไทยส่งออก 11,708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 13,445.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ทางการจีนนำเข้าจากไทยที่สำคัญมากที่สุดคือ สายอากาศและเครื่องสะท้อนสัญญาณทางอากาศ พลาสติก มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ที่เลื่อยแล้ว ส่วนสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กรีดร้อน เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เงิน ตะกั่ว
การลงทุนของไทยในจีนเมื่อปี 2548 ไทยลงทุนในจีนรวม 95.90ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ธัญพืช ฟาร์มสัตว์ มอเตอร์ไซค์ โรงแรม ร้านอาหาร การนวดแผนไทย ส่วนการลงทุนของจีนในไทยในปีเดีวกัน จีนลงทุนในไทยรวม 2,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานการลงทุนที่จีนได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยกิจการก่อสร้าง การค้า ธนาคาร การแปรรูปโลหะ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน เครื่องจักร ร้านอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
วัฒนธรรม
ประชาชนจีนมีทั้งสิ้น 56 ชนเผ่า ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา โดยนับถือนิกายมหายานและวัชระญาณโดยนับถือปนไปกับลัทธิขงจื้อและเต๋ากว่า 300 ล้านคน นอกนั้นนับถือนิกายเถรวาท มีนับถือศาสนาอิสลามกว่า 11 ล้านคน และนับถือศาสนาคริสต์ 9 ล้านคน

เทศกาลของประเทศจีน
-เทศกาลโคมไฟ (หยวนเซียวเจี๋ย)
วันเทศกาลนี้ตามปฏิทินจันทรคติคือ วันที่ 15 หลังจากวันตรุษจีน วันนี้เป็นวันประเพณีที่ชาวจีนเล่นโคมไฟ จึงเรียกว่าเทศกาลโคมไฟ
วันเทศกาลโคมไฟไม่เป็นวันหยุดราชการ แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจที่จะฉลอง เทศกาลนี้ โดยเฉพาะในชนบทจะอึกทึกเป็นพิเศษ ประชาชนนอกจากจะได้ดูการแสดง และการละเล่นหลายชนิดแล้วยังมีรายการฉองโคมไฟอีกมากมาย ที่ผู้คนดูกันมากที่สุดเห็นจะได้แก่ขบวนพาเหรดที่ที่มีการแต่งตัวด้วยอาภรณ์แบบโบราณ ขณะเดินเคลื่อนที่ไปก็จะมีการแสดงประกอบตามไปด้วย ประเพณีนี้ซึ่งมีการฉลองทุกภาค ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ ต่างมีการแสดงที่สำคัญคือการเชิดมังกร และสิงโต
ในการฉลองเทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องซึ่งอยู่ห่างกันได้กลับมาพบกัน ชาวภาคใต้มีประเพณีนำ หยวนเซียว ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกกลมสีขาวมีไส้ ต้มในน้ำขิง ( เหมือนบัวลอยน้ำขิง) ของกินนี้ออกเสียงเรียกกันว่า ถวนหยวน ซึ่งแปลว่า คืนสู่เหย้า ถือว่าเป็นโอกาสแห่งความเป็นสิริมงคล
-เทศกาลขนมบ๊ะจ่าง (ตวน อู่ เจี๋ย)
ตรงกับวันที่ 5 ของเดือน 5 ตามปฏิทินจีน บางครั้งจึงเรียกว่างานเทศกาลเดือน 5 เป็นวันที่ระลึกถึง ชวี หยวน นักกวีผู้มีชื่อเสียงของจีน ทำให้วันนี้มีผู้คนเรียกว่าเทศกาลกวี ด้วย
ท่าน ชวี หยวน เป็นคนประเทศฉู่ เมื่อ 2 พันปีก่อน ท่านทำงานอยู่ข้างกายฮ่องเต้ฉู่ แม้ว่าท่านได้ทำงานเพื่อประเทศฉู่ ด้วยความจงรักภักดีอย่างมาก แต่มิได้รับความเชื่อถือ ท่านจึงถอนตัวออกจากฮ่องเต้ กลับสู่บ้านเกิดในชนบท ท่านมีความจงรักภักดีต่อประเทศของท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ข่าวว่าประเทศฉู่ ถูกข้าศึกเข้ายึดครองเป็นเมืองขึ้น เกิดเสียใจอย่างรุนแรง ถึงกับกระโดดน้ำฆ่าตัวตายในวันที่ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5
ผู้คนร่วมหมู่บ้านของท่านมีความรักต่อท่านอย่างแท้จริง ต่างพากันพายเรือออกไป ตามหาอยู่หลายวัน แต่หาไม่พบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปลาในน้ำทำอันตรายต่อท่านชวีหยวน ชาวบ้านจึงพากันโยนบ๊ะจ่างลงในน้ำให้ปลากินแทน ต่อมาทุกๆ ปี ในวันที่ 5 เดือน 5 ผู้คนจะพายเรือออกไปโยนบ๊ะจ่างลงในน้ำเป็นประจำ แต่ประเพณีได้กลายมาเป็นการรับประทานบ๊ะจ่าง และเพิ่มเติมประเพณีการแข่งเรือมังกรเข้ามาด้วย
เรือมังกรคือเรือที่ประดับโขนเรือเป็นหัวมังกรซึ่งถูกนำมาพายแข่งขันกันในบรรยากาศ ที่สนุกสนาน มิใช่แต่ชาวจีนเท่านั้นที่ชอบการแข่งเรือมังกร นานาประเทศทั่วโลกต่างก็ชื่นชม ในประเทศจีนมีการแข่งขันเรือมังกรระดับนานาชาติหลายเมือง เช่นที่หูหนาน และฮ่องกง เป็นต้น
-เทศกาลไหว้พระจันทร์ (จง ชิว เจี๋ย)
เป็นวันที่ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจีน จึงเรียกว่าเทศกาลเดือน 8 มีประวัติความเป็นมาก่อนประวัติศาสตร์ถึง 2 พันปี วันนี้คนจีนจะรับประทานขนมไหว้พระจันทร์กับเฝ้ามองดวงจันทร์ที่มีประกายแสงงดงาม
ชาวจีนมักพูดกันว่า ดวงจันทร์ในวันเพ็ญกลางเดือน 8 สว่างสดใสเป็นพิเศษ ซึ่งความจริงแล้วมาจากการที่ในฤดูหนาวอากาศหนาวมาก ในฤดูร้อนฟ้ามักจะครึ้มและมีฝนตก ฤดูใบไม้ผลิก็มักจะมีลมพายุ ล้วนไม่เหมาะที่จะออกมาอยู่นอกบ้านเพื่อชมดวงจันทร์ คงมีแต่ในฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศดี ดวงจันทร์กลางเดือน 8 ดูแล้ว ทั้งใหญ่ ทั้งกลม ทั้งแสงสดใส คนในบ้านมักจะออกมานั่งที่ลานหน้าบ้าน เพื่อคุยกันไปพลาง รับประทานขนมไหว้พระจันทร์และผลไม้ไปพลาง จึงเป็นเรื่องแห่งความสุขสนุกสนานเบิกบานใจอย่างยิ่ง
ผู้คนทั้งหลายล้วนชอบความสดใสของดวงจันทร์กลมๆ ซึ่งภาษาจีนออกเสียงว่า หยวนเยว่ และเหมือนความงดงามแห่งการที่คนสนิทคุ้นเคยได้คืนสู่เหย้า กับความงดงามของความเป็นอยู่ของชีวิต
วันเทศกาลของจีนยังมีอีกหลายวัน ซึ่งต่างมีที่มาที่ไป และล้วนแต่เป็นประเพณีเก่าๆ หากท่านอยากทราบต้องไปถามผู้อาวุโส ท่านย่อมจะได้รับฟังเรื่องที่มีความหมายเก่าๆ อย่างมากมายแน่นอน

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น